ในบรรดาพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมได้ยินได้ฟังเสียงเพลงเสียงดนตรี พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านมาแต่เด็ก
ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความผูกพันกับเพลงและดนตรีเป็นพิเศษ เพราะพ่อชอบเพลงเป็นชีวิต ตอนผมเกิดพ่อตั้งชื่อเล่นของผมว่าโน้ตมาจากตัวโน้ตดนตรี เพราะตอนวัยรุ่นพ่อเคยเป็นนักดนตรีมือกลองและเล่นกีตาร์และร้องเพลง ก่อนจะมาเป็นนักเคลื่อนไหว และทำงานศิลปะเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์หนังสือ นั่นเป็นที่มาของชื่อเล่นของผม
บ้านเรามีเสียงร้องเพลงเสียงดีดกีตาร์ของพ่อ หรือเสียงเพลงจากวิทยุหรือเครื่องเสียงอยู่ในบ้านเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะ เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายเพลงผมได้ยินมาแต่เด็กทั้งเวลาอยู่บ้าน หรือนั่งรถไปไหนๆกับพ่อ หน้าหนาวใกล้วันเฉลิมพระชนม์พรรษา พ่อกับผมมักไปฟังเพลงพระราชนิพนธ์และดนตรีแจ๊สในสวนเกือบทุกปี ทั้งที่จัดในกทม.และหัวหิน
คลิ๊กฟัง ใกล้รุ่ง - สวีทนุช / mini piano by Bun
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเพลงพระราชนิพน์ถึง48 เพลง มีทั้งเพลงเพราะๆสะท้อนความงามของธรรมชาติ ความรัก และชีวิต เพลงมาร์ช เพลงปลุกใจ เพลงประจำสถาบัน ฯลฯ เพลงพระราชนิพนธ์ ส่วนใหญ่พระองค์ท่านทรงแต่งทำนอง เนื่องด้วยพระองค์เป็นนักดนตรี ทรงเป่าแซ็กโซโฟน ทรัมเป็ต อีกทั้งยังทรงเล่นเปียโน ในส่วนของเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษนั้นก็บุคคลอื่นแต่ง หรือร่วมแต่งกับพระองค์ท่าน
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกทรงแต่งขณะมีพระชนมายุ 19 พรรษา เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ คือเพลงแสงเทียน ทรงแต่งในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และในปี พ.ศ. 2496 คุณสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย
คลิ๊กฟัง เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น / แนน (สาธิดา พรหมพิริยะ)
ยามเย็นคือเพลงที่สองที่พระองค์พระราชนิพนธ์ในปี 2489 เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงต่อมาที่มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจคือเพลง H.M. Blues ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 ข้าราชการ นักเรียนและคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองและตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนาโดยมีพระองค์ท่านทรงดนตรีด้วย ในงานมีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย จะต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน โดยวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก
ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า "คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว" ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty 's Blues ซึ่งแปลว่าเพลงแนวบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men's Blues
เพลงนี้มีการทำเนื้อเป็นภาษาไทยด้วยครับโดยใช้ชื่อเพลงว่า ชะตาชีวิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคนละแบบ นอกจากนี้ยังมีการทำเนื้อร้องเป็นภาษาฝรั่งเศส โดย พระบรมราชานุญาต ให้น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. 2552 โดยใช้ชื่อเพลงว่า Pauvre Destin
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงต่อมาหลายคนคงคุ้นหูเนื่องจากเป็นเพลงที่ใช้เป็นไตเติ้ลของข่าวในพระราชสำนักมาอย่างยาวนาน เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ "ราชวัลลภ" และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต เป็นผุ้แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย โดยที่มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงต้องมีการขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า "มาร์ชราชวัลลภ" (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2495
คลิ๊กฟัง คำหวาน Sweet Words
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงต่อมาเป็นที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดีครับนั้นคือเพลง ความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยจุดเริ่มต้นของเพลงนี้เกิดจากท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี
คลิ๊กฟัง พระราชนิพนธ์เพลง สายฝน - โอ๋ ชุติมา แก้วเนียม
ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เพลงความฝันอันสูงสุดจึงเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลงก่อนแล้วพระองค์ท่านได้แต่งทำนองใส่เข้าไปทีหลัง
เพลงสุดท้ายที่พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ คือเพลงเมนูไข่ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ "เมนูไข่" ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2518ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วง อ.ส. วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบทเพลงบางส่วนจาก 48 เพลง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้สะท้อนถึงพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่านในด้านดนตรี เป็นสื่อสายสัมพันธ์ของพระองค์ท่านกับประชาชน พระองค์ท่านยังทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น (อัมพรสถาน) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สารประโยชน์ และข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่ม ๆ มาเล่นปนกับรุ่นลายคราม ซึ่งเล่นดนตรีไม่ค่อยไหวตามอายุ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" ขึ้น ต่อมาสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณ สวนจิตรลดา
คลิ๊กฟัง Blue Day : Cover By SydneyUke
ลักษณะพิเศษของ "วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์" นี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น ทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงเอกในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง
เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวาตภัย แหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ ฯลฯ ช่วยผู้ประสบภัย ท้ายสุดจึงกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดนตรียังเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิต นักศึกษา โดยเสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส พระราชธิดา ไปทรงดนตรีร่วมกับอาจารย์นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆต่อเนื่องอยู่หลายปี วันทรงดนตรีนับเป็นวันพิเศษที่รอคอย นักศึกษาแน่นขนัดหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย ตื้นตันเปี่ยมสุขได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านอย่างที่สุด
นอกจากนี้ ดนตรีของพระองค์ท่านยังเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญ และคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
วงดุริยางค์ซิมโฟนี ออเคสตร้า แห่งกรุงเวียนนา ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด มโนราห์ สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และ มาร์ชราชวัลลภ ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลง และเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก ๒ วัน คือ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
คลิ๊กฟัง เพลงพระราชนิพนธ์แสงเดือน - Koh Mr,Saxman
สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา(ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง)ได้ถวายพระเกียรติ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลขที่ ๒๓ ดังปรากฏพระปรมาภิไธย "ภูมิพลอดุลยเดช" จารึกบนแผ่นหินอ่อนของสถาบันอันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้ โดยประธานสถาบันได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างดนตรีตะวันออกกับดนตรีตะวันตก และทรง พระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระปรีชาสามารถ นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชีย ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป
เพื่อให้บทความนี้สวยงามยิ่งขึ้น ผมต้องขอขอบคุณมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครครับ ที่เอื้อเฟื้อพระบรมฉายาลักษณ์ และขอบคุณศิลปินทุกๆท่านที่ทำคลิปเพลงพระราชนิพนธ์ออกมาได้อย่างไพเราะจริงๆครับ ขอบคุณน้องโฟม คิตา วงศ์กิตติพัฒน์ ขอบคุณน้องชิดนี่ย์ ด.ญ. เวธกา วสุรัตต์ และคุณแนน สาธิดา พรหมพิริยะแห่ง Classy records ขอบคุณพี่โก้ มิสเตอร์แซ็กแมนแห่งค่าย Chillin' Groove Records คุณป้าสวีทนุช คุณโอ๋ ชุติมา แก้วเนียมจากBaicha song ที่เอื้อเฟื้อคลิปเพลงประกอบบทความ ทำให้บทความชิ้นนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ