เป็นที่ทราบกันดีว่าพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ของปวงชนชาวไทยนั้น ถือว่าไม่ธรรมดาทั้งในเรื่องของการทรงเครื่องดนตรีและประพันธ์บทเพลง
ยืนยันได้จากการที่พระองค์ท่านทรงมีรายชื่อเป็นหนึ่งในนักดนตรีในหนังสือไดเร็คทอรี่ของ “สหพันธ์นักดนตรีอเมริกัน” แห่งสหรัฐอเมริกา (American Federation of Musicians) และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ จากสถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยมีพระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ซึ่งถือเป็นเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียแต่เพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้
ทั้งนี้ ในบรรดาเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่ทรงเล่นได้ ทั้ง แซกโซโฟน, เปียโน, ทรัมเป็ต, กีตาร์, ไวโอลิน, ขลุ่ย, คลาริเนต, แตร ที่ทรงโปรดที่สุด ก็คือ แซกโซโฟนเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นมาตั้งแต่อายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) นั่นเอง
โดยแซกโซโฟนที่ทรงเล่นตัวแรกนั้น ก็หาได้เป็นของใหม่ราคาแพงมีความหรูหราแต่อย่างใด หากแต่เป็นของเก่า หรือที่เรียกกันว่า ของมือสองราคา ๓๐๐ ฟรังค์สวิส ซึ่งสมเด็จพระศรีฯ พระราชทานเงินสนับสนุน ๑๕๐ ฟรังค์ ส่วนอีก ๑๕๐ ฟรังค์ เอาเงินสโมสรออก (เป็นเงินที่พระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ทรงเข้าหุ้นกัน)
ในส่วนของแนวดนตรีที่โปรดมากก็อย่างที่ทราบ คือ Dixieland Jazz โดยเมื่อสมัยทรงพระเยาว์บางทีทรงซื้อแผ่นเสียงมาฟัง ถ้าเป็นแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก “รัฐบาล” ให้ แต่ถ้าเป็นเพลงแจ๊สต้องออกเงินส่วนพระองค์ซื้อเอง
ความเชี่ยวชาญในการทรงดนตรีของพระองค์นั้น เป็นที่ประจักษ์กับสายตาคนทั่วไปหลายต่อหลายครั้ง ดังเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ในปี 2503 ระหว่างงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่วอชิงตันเพลส ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้ร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีที่จัดแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับ “เบนนี่ กู๊ดแมน” นักดนตรีแจ๊สระดับโลก ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งทรงสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครง จนได้รับการถวายคำยกย่องในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริยภาพสูง
ความโปรดปรานในเครื่องดนตรีแซกโซโฟน บวกกับสถานะของพระองค์นี้เอง ครั้งหนึ่งองค์พระบาทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เคยถูกหนังสือพิมพ์ที่อเมริกาตีพิมพ์ซุบซิบนินทาในทำนองว่าพระองค์ทรงมีแซกโซโฟนที่ทำมาจากทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์อยู่
นั่นเองที่ทำให้เมื่อครั้งที่นิตยสาร Look ได้ส่งนาย GEREON ZIMMERMAN บินจากอเมริกามาสัมภาษณ์พระองค์ท่าน (ก่อนนำไปตีพิมพ์ในฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๖๗) ในตอนนั้นบรรณาธิการจึงมีคำสั่งแก่นายซิมเมอร์แมน ว่า “เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด อย่าลืมกราบทูลถามเรื่องแซกโซโฟนทองคำด้วยนะว่ามันอย่างไรกันแน่ ราคาโดยประมาณสักเท่าใด ทำที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือที่ไหน”
เมื่อได้มานั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ในวังสวนจิตรฯแล้ว นายซิมเมอร์แมน พยายามเลียบเคียงอยู่นาน ก็ยังไม่ได้จังหวะเหมาะที่จะทูลถามเรื่องที่บรรณาธิการอยากให้ถาม ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับสั่งขึ้นมาเองว่า “หนังสือพิมพ์ที่อเมริกาพากันลงว่า เป็นกษัตริย์ที่คลั่งดนตรี...ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร”
“แต่ที่ไปลงจนเลยเถิดกันไปว่าแซกโซโฟนที่เป่าอยู่เป็นประจำนี้เป็นแซกโซโฟน ที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก บางฉบับก็เขียนว่าชอบขับรถซิ่ง ก็เอาเถอะ ยอมให้ไม่ถือสาหรอก แต่ไม่เชื่อว่าเรื่องพวกนี้จะเป็นการสร้างสรรค์ หรือเป็นประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา”
ด้วยทรงเล็งเห็นความสำคัญของดนตรี ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ได้เสด็จฯกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้ทรงรวบรวมพระประยูรญาติบางองค์และคนสนิทมาเล่นดนตรีกันและพระราชทานชื่อวงนี้ว่า “วงลายคราม” อันถือเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์วงแรก
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ซึ่งมีทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้ง “สถานีวิทยุ อ.ส.” ขึ้น ซึ่งตัวอักษรย่อ อ.ส. นั้น พระองค์ท่านทรงนำมาจากคำว่า “(พระที่นั่ง) อัมพรสถาน” ซึ่งเป็นที่ประทับในตอนนั้น เนื่องจากตอนนั้นเนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติม
โดยการจัดตั้ง “สถานีวิทยุ อ.ส.” ขึ้นมาก็เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชนนั่นเอง (ปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต)
ในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงวงดนตรีลายคราม เนื่องจากนักดนตรีกิตติมศักดิ์เหล่านั้น เริ่มทรงพระชรามากขึ้น ไม่สามารถมาร่วมเล่นดนตรีได้อย่างเต็มที่ จนเหลือแค่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เท่านั้น
นายแมนรัตน์ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหานักดนตรีเข้ามาถวายงานเพิ่มเติมจนครบวงให้สามารถเล่นต่อไปได้ ต่อมาจึงได้รับพระราชทานชื่อวงใหม่นี้ว่า “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์” พร้อมทรงดนตรีร่วมกับ วง อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. เป็นประจำทุกวันศุกร์ รวมถึงทรงจัดรายการเพลง และทรงเลือกแผ่นเสียงเอง บางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังโทรศัพท์ขอเพลงจากวงดนตรีที่กำลังบรรเลงได้ด้วย
นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลง รวมถึงเสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นประจำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่แพทย์ ราชองครักษ์ และข้าราชบริพารใกล้ชิดซึ่งเล่นดนตรีไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น สามารถบรรเลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ได้ ต่อมา จึงได้เกิด “วงสหายพัฒนา” มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์หัวหน้าวงอีกด้วย...
(เรียบเรียงจาก “พระราชอารมณ์ขัน” - วิลาศ มณีวัต, เผยความลับเรื่องแซกโซโฟนของในหลวง,ในหลวงกับการดนตรี, ในหลวงทรงดนตรี)