xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึก “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” พระราชทานสัมภาษณ์เป็นภาษาฝรั่งเศส (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถานีวิทยุโทรทัศน์ RTS ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่วิดีโอคลิป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานสัมภาษณ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1960 หรือเมื่อ 56 ปีก่อน



สถานีวิทยุโทรทัศน์ RTS ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่วิดีโอคลิป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานสัมภาษณ์เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยพระองค์เจริญพระชนมพรรษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งพระองค์ทรงประทับตั้งแต่พระชนมายุ 5 ถึง 23 พรรษา ในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดาอีก 4 พระองค์ ได้ประทับอยู่ที่แคว้นโว (Vaud) เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสไปในเมืองต่าง ๆ ของยุโรป และได้ประทับที่ Villa du Flonzaley à Puidoux-Chexbres.

สำหรับการพระราชทานสัมภาษณ์ดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ตรัสแนะนำพระราชธิดาทั้งสองพระองค์แก่ผู้สนทนา ได้แก่ “จุฬาภรณ์” (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี) และ “สิรินธร” (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จะพระราชทานสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวต่าง ๆ อาทิ ชีวประวัติ ความกังวลสำหรับประเทศไทย เกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุข, การที่พระองค์ทรงดนตรีแซกโซโฟนมาตั้งแต่พระชนมายุ 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตรัสว่า การประกอบพระราชกรณียกิจไม่มีกำหนดตายตัว การทรงงานในฐานะพระมหากษัตริย์นั้นมากกว่า 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นอาชีพที่พิเศษเล็กน้อย เพราะแนวทางในการเป็นพระมหากษัตริย์ไม่มีตำราในการศึกษา ในระยะสั้น ก็เป็นอาชีพที่หนึ่งในนั้นจะต้องมีความเชี่ยวชาญ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่ง คือ ต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทีละเล็กน้อย ที่จะเข้าใจในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่

สำหรับเรื่องการศึกษาของพระราชโอรส และพระราชธิดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตรัสว่า ทรงคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะว่าทุกพระองค์ก็เหมือนกับเด็กทั่วไป เรียกได้ว่า มีความสุข หัวเราะ ร่าเริง เล่นสนุก และ เรียนหนังสือ แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องหน้าที่ของเจ้าฟ้า (Prince) ทั้งการศึกษาด้านการเมืองการปกครองแบบสวิตเซอร์แลนด์

“คำว่า Prince กับคำว่า King ต่างมีความหมายที่พิเศษ นับว่าเป็นเรื่องพิเศษที่เราไม่ได้มองพวกเขาต่างจากเด็กทั่วไป แต่ที่ยากเพราะพระราชธิดาองค์เล็ก มองว่า การเป็นเจ้าฟ้าเหมือนในเทพนิยาย ยกตัวอย่างเช่น เด็กทุกคนในโลกชื่นชอบนิทานและสิ่งมหัศจรรย์ เราเล่าได้ว่าเราร่ำรวย มีความสุขดุจเป็นพระราชา และเจ้าฟ้า นั่นไม่ใช่ความเป็นจริงเสียทีเดียว” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตรัส

นอกจากนี้ ในตอนท้ายทรงตรัสว่า ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่จะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร คนธรรมดามีกฎหมายและต้องกลัวกฎหมาย กล่าวคือ ถ้ามีใครทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับกฎหมาย ก็มีตำรวจและศาลเหมือนกันทุกคน ในขณะที่พระมหากษัตริย์ เราอยู่เหนือคำสั่งของศาล นี่คือ สิ่งที่ฉันจะบอกพระราชโอรสอยู่เสมอว่า การเป็นพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควรด้วยพระองค์เอง





กำลังโหลดความคิดเห็น