xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) ยะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ จับมือเทศบาลนครยะลา เปิด “อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง” มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง จุดประกายการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สู่เยาวชนท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างพื้นที่ของความสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชิญชมนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” เสนอเรื่องราวสังคม ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา และพิธีเปิด “อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง” ณ โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) จ.ยะลา ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับเทศบาลนครยะลา โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างคับคั่ง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง ซึ่งจัดตั้งที่โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิธี) เป็นแห่งแรกนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดขยายผลจากการดำเนินงานอุทยานการเรียนรู้ยะลา และมีความสอดคล้องต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างยิ่ง

“ในช่วงที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ว่าจะฉบับที่ 11 ซึ่งกำลังจะผ่านไป หรือฉบับที่ 12 ที่จะตามมา ล้วนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพคน

โดยเฉพาะแผนที่ 12 ที่กำลังจะเริ่มในปี 2560 ได้มีแนวทางในการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างให้คนไทยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา ทักษะการทำงาน และการดำเนินชีวิต

อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมืองจะสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้คนทุกกลุ่มทุกวัยในพื้นที่จังหวัดยะลาได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และจะเป็นหนึ่งในโครงการที่สะท้อนถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งของภาคส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของการจัดนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” ของอุทยานการเรียนรู้ยะลาในครั้งนี้ นำเสนอเรื่องราวสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เด็ก และเยาวชนได้เข้าใจในวิถีที่หลากหลาย และเรียนรู้ที่จะผสานการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และผมขอชื่นชมการดำเนินงานของอุทยานการเรียนรู้ในการสร้างนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้น และหยั่งรากลึกในประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย”

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เทศบาลนครยะลา ร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) จัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ยะลา และดำเนินการมากว่า 9 ปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาใช้บริการอุทยานการเรียนรู้ยะลากว่า 200,000 คนต่อปี มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และขยายผลไปสู่หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น

โดยมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งในระดับหน่วยงาน องค์กรกลุ่มบุคคล ในการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนซึ่งมีพื้นที่ตั้งกระจายอยู่ในสี่มุมเมืองของเทศบาลนครยะลา

“อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมืองในโรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในแหล่งเรียนรู้มีชีวิต พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยจะมีแผนเปิดบริการเพิ่มเติมคือ ศูนย์จริยธรรมบ้านจารูตลาดเก่า และพื้นที่ชุมชนบ้านร่ม (สะเตง) ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ เทศบาลนครยะลา ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเมือง โดยนำทุนทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเมือง จึงมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ 94 ไร่ บริเวณถนนกรุงแสง ให้เป็น Learning and Creative Complex ซึ่งจะประกอบด้วยแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์เมือง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์โครงการในพระราชดำริ คอนเสิร์ตฮอลล์ หอศิลป์ เป็นต้น เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดความคิด เพื่อพัฒนาคน และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในจังหวัดยะลา”

นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า สำนักงานอุทยานการเรียนรู้มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ แบ่งปัน และกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย และสอดคล้องต่อความสนใจให้แก่เด็ก และเยาวชนทั่วประเทศ จึงมีแผนงานขยายผลการดำเนินงานไปยังแหล่งเรียนรู้ภูมิภาค

โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ หรือห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้แล้ว จำนวน 33 แห่ง ใน 24 จังหวัด

ในส่วนของเทศบาลนครยะลานั้น TK park ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของเทศบาลนครยะลามาตั้งแต่ พ.ศ.2548 เพราะตระหนักถึงความสำคัญในการขยายโอกาส และสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่ทันสมัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา และชาติพันธุ์

การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจ เชื่อมโยงผสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความสมานฉันท์ และความรักสามัคคีได้อย่างยั่งยืน

อุทยานการเรียนรู้ยะลาจึงเป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคต้นแบบแห่งแรก ซึ่งสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้ร่วมกับเทศบาลนครยะลา จัดตั้งขึ้นตามแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” โดยผสมผสานระหว่างความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สอดคล้องต่อบริบท และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ที่เชื่อมผสานผู้คนในชุมชนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนเป็นอุทยานการเรียนรู้แม่ข่ายในการขยายแนวคิด และขยายผลการสร้างสรรค์อุทยานการเรียนรู้ไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง

ขณะนี้อุทยานการเรียนรู้ยะลา ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ให้แก่โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และแหล่งเรียนรู้ชุมชนกว่า 30 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส

“การจัดโครงการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมืองจึงเกิดขึ้นเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรากฐานในการสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน

ในส่วนของกิจกรรมนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลานั้น เป็นความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจากทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมและบูรณาการองค์ความรู้ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอเรื่องราวสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีการแสดงดนตรี และศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปใน 3 จังหวัดภาคใต้ เกิดความภาคภูมิใจ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ และสันติสุขในพื้นที่ โดยนิทรรศการดังกล่าวจะนำมาจัดแสดงที่อุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23-25 กันยายนนี้ต่อไป” นายราเมศ กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น