MGR Online - “สำนักงานอุทยานการเรียนรู้” จับมือ “เทศบาลยะลา” เปิด “อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง” ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ครอบคลุมทั่วถึง จุดประกายการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สู่เยาวชนท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างพื้นที่ของความสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ พร้อมจัดนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” เสนอเรื่องราวสังคม ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลา และพิธีเปิด “อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง” ณ โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) จ.ยะลา ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับเทศบาลนครยะลา โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างคับคั่ง
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า โครงการอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง ซึ่งจัดตั้งที่โรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิธี) เป็นแห่งแรกนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการต่อยอดขยายผลจากการดำเนินงานอุทยานการเรียนรู้ยะลา และมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างยิ่ง ในช่วงที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ว่าจะฉบับที่ 11 ซึ่งกำลังจะผ่านไป หรือฉบับที่ 12 ที่จะตามมา ล้วนให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคน โดยเฉพาะแผนที่ 12 ที่กำลังจะเริ่มในปี 2560 ได้มีแนวทางในการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาคน หรือทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างให้คนไทยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา ทักษะการทำงาน และการดำเนินชีวิตอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมืองจะสร้างโอกาสการเรียนรู้ ให้คนทุกกลุ่มทุกวัย ในพื้นที่จังหวัดยะลาได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และจะเป็นหนึ่งในโครงการที่สะท้อนถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งของภาคส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
“ในส่วนของการจัดนิทรรศการ ‘มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน’ ของอุทยานการเรียนรู้ยะลาในครั้งนี้ นำเสนอเรื่องราวสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เข้าใจในวิถีที่หลากหลาย และเรียนรู้ที่จะผสานการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และผมขอชื่นชมการดำเนินงานของอุทยานการเรียนรู้ในการสร้างนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้น และหยั่งรากลึกในประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย”
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เทศบาลนครยะลา ร่วมมือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) จัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ยะลาและดำเนินการมากว่า 9 ปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านมามีผู้เข้ามาใช้บริการอุทยานการเรียนรู้ยะลากว่า 200,000 คนต่อปี มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และขยายผลไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมือง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในระดับหน่วยงาน องค์กรกลุ่มบุคคล ในการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนซึ่งมีพื้นที่ตั้งกระจายอยู่ในสี่มุมเมืองของเทศบาลนครยะลา
“อุทยานการเรียนรู้สี่มุมเมืองในโรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในแหล่งเรียนรู้มีชีวิต พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยจะมีแผนเปิดบริการเพิ่มเติมคือ ศูนย์จริยธรรมบ้านจารูตลาดเก่า และพื้นที่ชุมชนบ้านร่ม (สะเตง) ในระยะต่อไป”
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรอง ผอ.สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า สำนักงานอุทยานการเรียนรู้มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ แบ่งปันและกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความสนใจให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ จึงมีแผนงานขยายผลการดำเนินงานไปยังแหล่งเรียนรู้ภูมิภาค โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้หรือห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ชุมชนกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้แล้วจำนวน 33 แห่ง ใน 24 จังหวัด
ทั้งนี้ เทศบาลนครยะลา ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของเทศบาลนครยะลามาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เพราะตระหนักถึงความสำคัญในการขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ที่ทันสมัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ ซึ่งการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจ เชื่อมโยงผสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ ความสมานฉันท์และความรักสามัคคีได้อย่างยั่งยืน
“สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้ร่วมกับเทศบาลนครยะลา จัดตั้งขึ้นตามแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” โดยผสมผสานระหว่างความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะส่งเสริม การอ่าน การเรียนรู้ที่เชื่อมผสานผู้คนในชุมชนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนเป็นอุทยานการเรียนรู้แม่ข่ายในการขยายแนวคิดและขยายผลการสร้างสรรค์อุทยานการเรียนรู้ไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้อุทยานการเรียนรู้ยะลาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ให้แก่ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และแหล่งเรียนรู้ชุมชนกว่า 30 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส”
ในส่วนของกิจกรรมนิทรรศการ “มนต์มลายู วัฒนธรรมปลายด้ามขวาน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 15 กันยายน ณ อุทยานการเรียนรู้ยะลานั้น เป็นความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ปราชญ์ท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมและบูรณาการองค์ความรู้ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอเรื่องราวสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีการแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปใน 3 จังหวัดภาคใต้ เกิดความภาคภูมิใจและเสริมสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในพื้นที่ โดยนิทรรศการดังกล่าวจะนำมาจัดแสดงที่อุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23 - 25 กันยายนนี้ต่อไป