xs
xsm
sm
md
lg

โรคระบาด ”สมัครใจลาออก” ในวงการสื่อ

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

กระแสข่าว สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลหลายแห่งมีผลประกอบการขาดทุน ต้องปลดคนออกจากงาน มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นข่าวใหญ่บ้างเล็กบ้าง ปลดกันเงียบๆบ้าง

เดือน ตค. 2558 มีข่าวสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ปลดนักข่าว ช่างภาพ 48 คนจากพนักงานกว่า 400 คน ด้วยเหตุผลต้องการลดภาระของบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน และต้องการปรับโครงสร้างการบิหารให้กระทัดรัดคล่องตัวมากขึ้น ตัวเลขใน ปี2557 บริษัทขาดทุน 407 ล้านบาท

ถัดมาสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ออกแถลงการณ์นโยบายปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้มีขนาดเหมาะสมต่อการทำงาน ในภาวะมีการแข่งขันสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิตอล ด้วยการปรับลดพนักงาน 57 อัตรา ปี 2557 ช่องนี้ ขาดทุน 310ล้านบาท

เดือนธค.ปลายปี 2558 สถานีโทรทัศน์ทีนิวส์ปลดพนักงานกว่า 40 คนเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนบริษัทต้องแบกหนี้กว่า 100 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางปี 2558 กรณีช่องTHV และช่อง LOCO ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล แจ้งยกเลิกกิจการทั้งสองช่อง เพราะขาดทุนปีเดียวกว่า 300 ล้านบาท

รวมทั้งข่าวผลประกอบการอีกหลายช่อง ในปี2557 GMM ขาดทุน 265 ล้านบาท , MONO ขาดทุน 296ล้านบาท , AMARIN ขาดทุน339 ล้านบาท ฯลฯ

คนทำงานสื่อมวลชน กำลังต้องเจอกับปัญหามากมายสืบเนื่องจากการขาดทุนของดิจิตอลทีวี เม็ดเงินที่มาลงทุน จ่ายค่าสัมปทาน ค่าประมูล การตั้งสตูดิโอ ค่าคน ค่าคอนเทนต์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ รายได้หลักมาจากค่าโฆษณาซึ่งน้อยมาก การเปลี่ยนแปลงจากทีวีที่มีไม่กี่ช่อง กลายเป็น 20 กว่าช่อง จะเอาเม็ดเงินโฆษณามาจากไหนไปหล่อเลี้ยง รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เม็ดเงินที่ลงทุนไปมหาศาลในภาวะการแข่งขัน ช่องที่เป็นทุนใหญ่สายป่านยาวเท่านั้นที่จะยืนอยู่ได้ ช่องเงินทุนน้อยกว่าสู้การแข่งขันไม่ได้ก็ล้มระนาว

ย้อนกลับไปหากดูจากการจัดเรทติ้ง ช่องที่เรทติ้งดีก็ยังคงเป็นช่อง 3 และ ช่อง 7 ซึ่งมีฐานคนดูจำนวนมากเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ตามมาจะเป็นช่องเวิร์คพ้อยต์และช่องโมโน29 ซึ่งสองช่องหลังนั้นมาใหม่ ส่วนช่องข่าวและช่องอื่นๆดูจะเรทติ้งไม่ค่อยขยับกันสักเท่าไร อาการบางช่องนี่เข้าขั้นโคม่า ไม่รู้จะยืนระยะได้อีกนานขนาดไหน

เม็ดเงินโฆษณาที่กระจายไปใน 24 ช่อง ยังกระจุกอยู่ในช่องแอนะล็อกเก่า เช่น ช่อง 7 ช่อง 3 ส่วนช่อง 5 ช่อง 9 ถึงแม้เรตติ้งจะลดลง แต่เม็ดเงินโฆษณาก็ยังพอมี ส่วนทีวีดิจิตอลใหม่ทั้งหลายไม่ว่าจะเวิร์คพอยท์, อาร์เอส, วัน, แกรมมี่, โมโน ถึงจะมีเรตติ้ง แต่ส่วนใหญ่เม็ดเงินที่ได้ไม่คุ้มทุน

เรตติ้งของเดือนเมษายน ปี 2558 ช่อง7และช่อง3 2 ช่องนี้ยังครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เท่ากับ 65% ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 68% อีก 24 ช่องได้ส่วนที่เหลือ 35% ได้ส่วนแบ่งกันไปเล็กน้อย

ในฐานะคนดู วงการทีวีบ้านเรา ช่องเยอะจริง แต่เนื้อหานั้นถือได้ว่าแย่มากครับ เอาง่ายๆเลย ตอนนี้ทีวีบ้านเราแทบทุกช่องจะมีการประกวดร้องเพลง ไม่ว่าจะเดอะ ว้อยซ์ ช่อง 3 ชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ ช่องเวิร์คพ้อยต์ เดอะสตาร์ที่ช่องวัน ของแกรมมี่ แถมบางช่องไม่ได้มีรายการเดียว คือกะเป็นนักร้องกันทั้งประเทศกันเลยทีเดียว

รายการประกวดร้องเพลงมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ช่วยกันสร้างสรรค์รายการมีสาระหลากหลายหน่อยสิครับ แข่งประกวดชาวสวนตัวอย่างกันบ้างดีไหมครับ ใครทำสวนเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตดีสุดชนะ หรือว่าวงการบันเทิงประกวดหานางเอกไปเลยครับ ประกวดนางเอกคิวบู๊ มาเลยครับสาวสวยนักแม่นปืน เก่งเทควันโดก็ว่ากันไป มันควรมีอะไรแตกต่างกันบ้าง อย่างน้อยก็ดึงดูดคนดู ไม่ใช่ดูกันแต่ประกวดร้องเพลงทั้งสัปดาห์

ละครน้ำเน่าตบจูบใช้ความรุนแรงไม่มีสาระ เลิกกันได้แล้ว ละครไทยสร้างสรรค์สะท้อนสังคมเดี๋ยวนี้ก็มีมากขึ้น แต่ก็เยอะกว่านี้ได้อีก และควรออกในเวลาไพรม์ไทม์ให้พ่อแม่ดูไปสอนลูกไปได้ด้วย สังคมจะได้ประโยชน์กันมากขึ้นกว่านี้

รายการข่าวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรจะปรับ รายการสัมภาษณ์เจาะลึก รายการที่มานั่งถกเถียงกันด้วยเหตุและผลมากขึ้น รายการข่าวที่เป็นการทำข่าวสืบสวนสอบสวน สิ่งเหล่านี้หายไปจากวงการข่าวนานแล้วครับน่าจะฟื้นฟูกันกลับมา

มองมุมกลับ โลกดิจิตอล เดี๋ยวนี้คนดูทีวีไม่จำเป็นต้องดูสด อยากดูตอนไหนมีให้ดู ไม่ต้องนั่งรอสถานีเอาเทปมารีรัน แค่เข้ายูทูปก็ดูได้ ทำให้คนดูทีวีกันน้อยลง

ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ก่อน เกิดอะไรขึ้นที่ไหนยังไง รับรองเฟซบุ๊คไลฟ์ต้องมา มีคนรายงานสดให้เลยไม่ต้องรอนั่งข่าว บางคนมีพูดบรรยายสถานการณ์สดๆ ราวกับตาเห็น เรียกได้ว่าทุกคนทำข่าวกันได้หมดด้วยมือถือสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว งานนี้นักข่าวอาชีพเตรียมตกงานยาวไปเลย

ด้วยเทคโนโลยี ด้วยเหตุผล และสถานการณ์ต่างๆที่ยกมา ตอนนี้ สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์หลายช่องหาทางออกลดต้นทุนเพื่ออยู่รอด ด้วยการเปิดโอกาสให้คนทำงานสมัครใจลาออก ถ้าเป็นคนทำงานที่อยู่มานานๆรุ่นเก๋าหน่อยก็ให้เออลี่ รีไทร์

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ต่างกับเมื่อสองปีก่อน หลายคนมุ่งหน้าสู่ทีวีดิจิตอล พิธีกร ผู้ประกาศย้ายช่องกันให้วุ่น บางคนไปรับเงินเดือนงามๆกับที่ใหม่ บางคนจากไม่เด่นดัง ผลงานไม่มาก แต่ทำงานมาหลายปีก็ได้เป็นระดับหัวหน้ากันแล้ว

บรรยากาศแบบนี้หายไปอย่างรวดเร็วภายในสองปีเท่านั้น ตอนนี้บางช่องเอาคนออกไปแล้วหลายสิบคน บางช่องก็ลดขนาดทีมข่าวลง บางช่องก็ปรับหาทางรอดใหม่ หาวิธีให้ขาดทุนน้อยลง หรือมีกำไรบ้างพออยู่รอดปลอดภัย

แรงกดดันแบบนี้ ทุนใหญ่เท่านั้นที่อยู่รอด ทุนเล็กทุนน้อยสะบักสะบอมกันเป็นแถว ต้องแข่งขันเชิงคุณภาพให้ได้ คนทำงานสื่อต้องยกระดับคุณภาพ และเตรียมรับมือกับการตกงานที่ระบาดหนักขึ้นทุกวัน จนสุดท้ายก้ตายกันหมดทั้งวงการ

บางครั้งวิกฤติก็อาจเปลี่ยนเป็นโอกาสได้หากมีการจับมือร่วมกันสู้ ร่วมกันปฏิรูปวงการโทรทัศน์ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ครับ องค์กรวิชาชีพควรรีบหาจังหวะเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อปฏิรูปสื่อไปในทางที่ดีขึ้นเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น