xs
xsm
sm
md
lg

SOFT LANDING “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ล้มยังไง ก็มีฟูกรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทีวีพูลไม่มีปิดค่ะ หนังสือของเราราคาถูกแค่ 25 บาทเอง อันนี้เป็นข้อดี มันอาจจะถูกกว่าน้ำแก้วนึง จึงตัดสินใจที่จะซื้อง่ายหน่อย อย่างน้อยมันก็ยังมีฟีลลิ่งของการได้สัมผัสอยู่ ทีวีพูลจะผลิตและอยู่ต่อไป ไม่มีคำว่าจะปิดค่ะ ยืนยันว่าทีวีพูลจะยังอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงแน่นอน ไม่มีวันปิด ตอนนี้จะบอกว่าแบรนด์ทีวีพูลของเราจะแข็งแรงและเติบโตต่อไป เพราะลูกๆ ถูกปลูกฝังให้รักในทีวีพูล เค้าจะต้องทุ่มเทให้ทีวีพูลเป็นอันดับ 1 และทุกคนก็เข้ามาช่วย ตอนนี้ขอเวลาให้ลูกๆ ได้ศึกษาเรียนรู้งาน คงไม่น่าจะเกิน 2 ปี ทีวีพูลจะเปลี่ยนไป จะทันสมัยมากขึ้น จะไม่ใช่คนแก่ๆ 60 ปีอย่างเราดูแล เพราะเตรียมจะวางมือแล้ว คนจะสานต่อคือลูกๆ ขอเวลาให้เค้า 2 ปี ทีวีพูลยังเป็นหัวใจของเรา ยังไงก็ยอมให้ล่มสลาย”

นั่นคือคำสัมภาษณ์หนล่าสุดที่เจ้าแม่สื่อบันเทิง “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือที่เรียกขานกันในนาม “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยทีวี ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ www.thairath.co.th ภายหลังจากที่มีข่าวสะพัดออกมาว่าจะถูกฟ้องล้มละลาย ทรัพย์สินทุกอย่างจะต้องถูกยึด เนื่องจากไม่ยอมจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอลงวดใหม่ให้กับ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) มูลค่า 285 ล้านบาท และยังส่งผลให้จะต้องถูก กสทช. ยึดแบงค์ การันตีจากธนาคารกรุงเทพฯ ผู้ออกหนังสือค้ำประกันชำระเงินตามหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หากเมื่อครานั้นเจ๊ติ๋มก็พยายามดิ้นหนีตาย ด้วยการยื่นเรื่องขอความคุ้มครองกับศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการจ่ายแบงค์การันตีของธนาคารกรุงเทพฯ รวม 16 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,976 ล้านบาท จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยอ้างเหตุที่ทาง กสทช. ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บท และคำมั่นสัญญาที่ได้บอกไว้ทั้งก่อน และหลังการประมูล

ทว่าสุดท้าย ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่ได้เป็นดั่งที่เจ๊ติ๋มหวัง เมื่อล่าสุดศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งให้ยกคำร้องของบริษัท ไทย ทีวี จำกัด โดยชี้แจงเหตุผลว่า

ทาง กสทช.ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ไทยทีวี นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลรายปีรวม 3 ครั้ง ระยะเวลารวม 90 วัน แต่ทางไทยทีวีกลับไม่ได้นำเงินมาชำระตามกำหนด กสทช.จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องรายการนับแต่วันที่ 4 ก.พ. 59 พร้อมแจ้งกลับไปว่าให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปีประจำปี 2557-2559 มาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากไม่ชำระจะใช้สิทธิเรียกให้ธนาคารกรุงเทพฯ ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน

โดยหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้อง จึงมีผลให้ทาง กสทช. เตรียมทำหนังสือถึงธนาคารกรุงเทพฯ ในฐานะ ผู้ออกหนังสือค้ำประกัน เพื่อแจ้งยึดแบงค์การันตี และหลังจากนั้นทางผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิ์จะยึดหลักทรัพย์ที่ผู้ขอให้ออกหนังสือค้ำประกันไว้ชดใช้หนี้ได้
เท่ากับว่าทางธนาคารกรุงเทพฯ จะต้องติดตามยึดทรัพย์จากเจ๊ติ๋ม ที่ได้วางค้ำประกันไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่ 1 ที่ดินย่านลาดพร้าวซอย 101 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานประกอบกิจการผลิตรายการบันเทิงออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องทีวีพูล และธุรกิจสื่อนิตยสารบันเทิงอีก 3 ฉบับ ได้แก่ นิตยสารทีวีพูล สไปซี่ และสตาร์นิวส์ ซึ่งมีราคาประเมินรวมทั้งสิ้น 14,674,000 บาท
กลุ่มที่ 2 ที่ดินย่านลาดพร้าวซอย 101 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ 177/3 และบ้านเลขที่ 301 ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ฟ้องคดีพร้อมบริวาร และใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ(สตูดิโอ) และประกอบกิจการโรงพิมพ์ ราคาประเมินรวมทั้งสิ้น 33,560,000 บาท
กลุ่มที่ 3 ที่ดินย่านเขาใหญ่ ที่ตั้งของโรงแรม เดอะบลูม บาย ทีวีพูล ซึ่งมีทั้งอาคารและสิ่งก่อสร้าง คือ อาคารสัมมนา อาคารต้อนรับ บ้านพัก ร้านอาหาร และบ้านพักคนงาน
สังเกตมั้ยว่าทรัพย์สินของเจ๊ติ๋มที่มีแนวโน้มว่าจะถูกยึดทรัพย์นั้น มีเพียงอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในความเป็นจริง ก็อาจจะมีมากกว่านี้อีกมาก เพียงแต่อาจจะทำการถ่ายโอนเป็นชื่อของลูกชายทั้ง 3 คน และ/หรือบุคคลอื่นไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะผู้บริหารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมของการทำธุรกิจมาครึ่งค่อนชีวิตอย่างเจ๊ติ๋ม ย่อมจะต้องมองหาทางออกไว้ล่วงหน้าแล้วหากเกิดกรณีที่ธุรกิจไปไม่รอด เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะยอมให้ถูกยึดทรัพย์จนสิ้นเนื้อประดาตัวถึงขนาดไม่มีที่ซุกหัวนอนแน่นอน
แม้กระทั่งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในมือ ไม่ว่าจะเป็นทีวีพูล สไปซี่ และสตาร์นิวส์ ก็ถูกโอนชื่อไปเป็นของบริษัทไทย อินเตอร์ มีเดีย 2515 จำกัด ซึ่งดูเหมือนจะเพิ่งถูกจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับวิกฤตครั้งนี้โดยเฉพาะ เพราะจากแหล่งข้อมูล พบว่าบริษัทนี้เพิ่งทำการจดทะเบียน ณ วันที่ 30 มีนาคม 2558 ด้วยทุนจดทะเบียนเพียงแค่ 1,000,000 บาทถ้วน สำนักงานตั้งอยู่ที่ 71/42 หมู่ที่3 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ สื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา และสื่อออนไลน์ ภาพยนตร์ และยิ่งเมื่อพิจารณาจากรายนามกรรมการบริษัท ไม่ว่าจะเป็นนางมาลัย ศิลารัตน์ , นายสมบูรณ์ ยากัด , นางลำปาง เสี้ยวทอง ก็ดูจะไม่ใช่คนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ หรือลูกหลานไฮโซตระกูลดัง ที่จะมีเงินมากพอที่จะมาเทคโอเวอร์นิตยสารหัวใหญ่ทั้ง 3 หัวจากเจ๊ติ๋มได้เลย
นั่นจึงหมายถึงว่าเจ๊ติ๋มได้ขยับขยาย และหาทางหนีทีไล่ให้กับธุรกิจหลักของตัวเองไว้รอท่าเรียบร้อยแล้ว

ต่อให้ทางธนาคารกรุงเทพฯ ในฐานะผู้ค้ำประกัน มาตามไล่บี้ ก็สามารถยึดไปได้เพียงทรัพย์สินส่วนที่วางค้ำไว้ แต่ไม่มีสิทธิ์แตะต้องธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ และเป็นหน้าเป็นตาของเจ๊ติ๋ม ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ที่ประกาศชัดว่า
“ทีวีพูลไม่ปิดค่ะ”

พูดง่ายๆ ว่างานนี้คนที่ตกที่ลำบาก ก็คือผู้ค้ำประกัน ที่ต้องรับผิดชอบหนี้ไปเต็มๆ ขณะที่เจ๊ติ๋มถึงจะล้มยังไง ก็ยังมีฟูกหนาๆ ไว้รองรับ และก็อาจจะเป็นการดีด้วยซ้ำ เพราะเมื่อถูกฟ้องล้มละลาย นั่นก็หมายถึงไม่ต้องแบกรับภาวะหนี้สินทั้งหลายทั้งปวงอีกต่อไป แล้วก็อดทนรอเพียงแค่ 3 ปี ก็พ้นจากภาวการณ์เป็นบุคคลล้มละลาย ทีนี้ก็จะสามารถกลับมาผงาดในยุทธจักรบันเทิงได้อีกครั้ง หากยังไม่เหนื่อยจนถอดใจไปเสียก่อน

ที่มานิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 333 2-8 เมษายน 2559





เจ๊ติ๋มกับลูกชายทั้งสอง
โชกุนลูกชายคนโต
ฮ่องเต้ลูกชายคนเล็ก





กำลังโหลดความคิดเห็น