xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ Facebook = Internet

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

ภาพเอเอฟพี
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ในห้วงเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย คือ เราเห็นความเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นและการดับสูญไปของ สื่ออย่างรวดเร็ว ปี 2555 (ค.ศ.2012) จากหนังสือพิมพ์ที่มีเพียง 3 ฉบับ และอัตราส่วนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือน้อยกว่าร้อยละ 4 พอมาปี 2556 (ค.ศ.2013) หนังสือพิมพ์ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 7 ฉบับ เพราะรัฐบาลทหารให้ใบอนุญาตเปิดหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก 12 หัว ... ปีนั้นผมเดินไปตามท้องถนนที่ย่างกุ้ง สังเกตเห็นทุกมุมตึก ถนนทุกสาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมากางอ่าน”

ผมพบกับ แบงค์ส เบเกอร์ Head of Global Partnerships, Product Solutions & Innovation - Asia Pacific ของกูเกิลที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นระหว่างการประชุม Google News Lab Asia เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 แบงค์ส บอกว่าก่อนเข้าร่วมงานกับกูเกิลเขามีพื้นเพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ หลายสิบปี ก่อนเล่าต่อถึงสิ่งที่เขาพบเห็นในพม่า

“ต่อมาในปี 2557 (ค.ศ.2014) ราคาซิมการ์ด โทรศัพท์มือถือในพม่าก็ลดฮวบจากราคาพันกว่าเหรียญฯ เหลือเพียง 1.50 เหรียญสหรัฐฯ นั่นเองทำให้เกิดการตื่นตัวและเติบโตอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในพม่า เพียงแค่หนึ่งปีหลังจากนั้น อัตราส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพม่าก็กระโดดขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 หรือเกินครึ่งของประชากร 50 ล้านคน เปรียบเทียบกับร้อยละ 4 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“ ... ครั้งล่าสุดที่ผมไปพม่ากับครอบครัว น่าเสียดายว่าแทบไม่เห็นคนอ่านหนังสือพิมพ์แล้ว แต่กลับเห็นก้มหน้าใช้สมาร์ทโฟน อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในพม่าดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นและดับสูญไปในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี เทียบกับประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ในโลกตะวันตก และอีกหลายประเทศที่มีมายาวนานนับร้อยปี”
แบงค์สบอก
แบงค์ส เบเกอร์ กับสิ่งที่เขาเจอในพม่า
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับ สื่อสารมวลชนทั่วโลกในช่วง 3-4 ปีมานี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึง สื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่โตที่สุดในโลกอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook)

หลายปีก่อนผมเคยเจอเพื่อนนักข่าวชาวอินโดนีเซีย เขาเล่าเรื่องแปลกๆ ให้ฟังว่า ถ้าถามแม่ค้าบนท้องถนนในกรุงจาการ์ตาว่ามือถือของเธอสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ไหม เธอจะตอบว่า “ไม่” แต่เธอจะหยิบโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ขึ้นมาพร้อมกับกดเล่นเฟซบุ๊กอย่างหน้าตาเฉย

ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เฟซบุ๊กมีความหมายเท่ากับอินเทอร์เน็ต แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA และ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ระบุว่าปลายปี 2559 ประเทศไทยมีประชากร 68.1 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 38 ล้านคน แต่มีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากถึง 41 ล้านคน!

ที่น่าสนใจคือ เหตุใดจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เสียอีก?

ปี 2559 มีการเผยแพร่สถิติระบุว่า จำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยแตะ 40 ล้านบัญชีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเฟซบุ๊กสามารถเข้าถึงประชากรของประเทศไทยได้เกือบ 2 ใน 3

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เฟซบุ๊กยังรุกคืบไปอีก ด้วยการจับมือกับค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยสองค่ายคือ ทรู และ ดีแทค นำเสนอบริการ Free Basics by Facebook เพื่อดึงดูดคนเข้าสู่เฟซบุ๊ก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เฟซบุ๊กมีเงื่อนไขว่าบริการนี้มิใช่เป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบสมบูรณ์ เพราะเฟซบุ๊กจะเป็นคนกำหนดเองว่า ผู้ใช้บริการนี้จะสามารถเข้าใช้เว็บไซต์ใดต่อไปอีกได้บ้าง

ในประเทศไทยเฟซบุ๊กมาบูมเอาจริงๆ ก็ในช่วงหลังการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100MHz หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าประมูล 3จี ที่เสร็จสิ้นไปในช่วงปลายปี 2555 โดยมาเติบโตแบบสุดๆ ในช่วงปลายปี 2556 ต่อปี 2557 ช่วงการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งนำมาสู่จุดเปลี่ยนคือ การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ความแพร่หลายของการใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ และผู้คนที่เพิ่งเข้าสู่อินเทอร์เน็ต โดยในแวดวงสื่อสารมวลชน พวกเราเห็นการอุบัติขึ้นของเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fanpage) ที่ทรงอิทธิพลทางข้อมูลข่าวสารยุบยับไปหมด ไม่ว่าจะเป็น แฟนเพจ ตัน ภาสกรนที (มากกว่า 13 ล้านไลค์), YouLike (คลิปเด็ด) (มากกว่า 11 ล้านไลค์), บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ (มากกว่า 7.3 ล้านไลค์), Woody (มากกว่า 5.7 ล้านไลค์), อีเจี๊ยบ เลียบด่วน (มากกว่า 1.9 ล้านไลค์), Drama-addict (เกือบ 1.2 ล้านไลค์) ... แม้กระทั่งเฟซบุ๊กแฟนเพจของร้านขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้ามาบุญครองยังกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านข้อมูลข่าวสารได้ เพราะไม่ว่าจะแชร์เรื่อง ภาพ คลิป หรือ ลิงก์ใดก็มีคนในเฟซบุ๊กคอยให้ความสนใจ

ในแวดวงสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร ต่างๆ จากเดิมที่เคยเป็น ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร (Gatekeeper) ตามทฤษฎีสื่อสารมวลชนเดิม กลับต้องแบ่งบทบาทมาเป็นสุนัขไล่ล่าข้อมูลตามโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาสื่อต่อ-ยืนยันข้อมูล-ติดตามความคืบหน้าเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้บริโภคอีกที

สื่ออาชีพเมื่อเห็นช่องทางก็ใช้วิธีปั่นผู้ชมจาก Facebook ผ่านกลยุทธ์ทั้งบนดินและใต้ดิน

กลยุทธ์บนดิน เช่น เพิ่มปริมาณการผลิตและนำเสนอข่าวที่คาดว่าจะมีคนสนใจ, ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ พาดหัวข่าว เขียนข่าวและผลิตสื่อที่เข้าถึงคนยุคใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อ Like จากเฟซบุ๊ก โดยว่ากันว่าสื่อบางค่ายมีงบประมาณหลักล้านบาทต่อเดือนเพื่อซื้อ Like ผ่านเฟซบุ๊ก และซื้อโฆษณาในอินเทอร์เน็ตเพื่อโปรโมตเว็บไซต์ตัวเอง

กลยุทธ์ใต้ดิน เช่น นำเสนอเรื่อง ภาพและวิดีโอที่สุ่มเสี่ยง ล่อแหลม หรือถึงขั้นละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ เพียงเพื่อต้องการดึงดูดคนดู อันจะนำมาสู่เรตติงที่สูงขึ้น, คัดลอกเนื้อหาของสื่ออื่นเพื่อนำไปเสนอบนสื่อตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ติดต่อแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ทรงอิทธิพลต่างๆ ในประเทศไทยให้นำเนื้อหาของตนไปแชร์ในเพจ ฯลฯ

สมรภูมิข่าวสารบนเฟซบุ๊กอันดุเดือดนี้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยสื่อมืออาชีพต่างๆ แทบจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ กลับคืนมาเลย นอกจากตัวเลข Like ที่เพิ่มขึ้น และรายได้ทางอ้อมจากโฆษณาเพียงเล็กๆ น้อยๆ

ในทางกลับกันผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ว่ากันว่าแต่ละปีแต่ละปีจ่ายภาษีกลับคืนให้กับประเทศไทยเพียงน้อยนิด

หมายเหตุ :
- รายงานสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558 (Thailand Internet User Profile 2015) โดย ETDA (https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-profile-2015-th.html)
- DAAT เผยข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทย ไตรมาส 1 ประจำปี 2559 (http://www.daat.in.th/index.php/daat-internet/)

กำลังโหลดความคิดเห็น