xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งหลังประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

หากเปรียบเทียบกับเกมฟุตบอล นี่ก็ถือว่าเป็น “ครึ่งหลัง” แล้วสำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นวาระสำคัญวาระแห่งชาติ ที่เรายังต้องพูดถึงและให้ความสนใจอยู่

เพราะนับจากวันนี้ เหลือเวลาอีกแค่ 30 วัน แล้วครับ

ล่าสุดก็คลายล็อกไปได้ เรื่องกฎหมายประชามติจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแบบไม่มีที่ติ เสียงเอกฉันท์

เหตุผลสำคัญๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผ่านฉลุยนั้น เพราะท่านยกว่า ประชามตินั้นมี 2 ลักษณะ คือ การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (Constitution - Changing) ซึ่งจะออกทำการรณรงค์อะไรกันก็ได้โดยเสรีโดยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ยังมีอยู่ในขณะนั้นรับรองไว้ ทำกันไปได้เต็มที่

กับการออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (Constitution - Framing) ที่กระทำได้ในวาระอันจำกัด กล่าวคือ เป็นการออกเสียงประชามติหลังจากที่ประเทศนั้นประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้ระบบการเมืองล้มเหลวและประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งการออกเสียงประชามติในลักษณะนี้จัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือกฎหมายที่เทียบเท่าการประชามติในลักษณะนี้เป็นประชามติในสถานการณ์พิเศษ ที่จะต้องอาศัยบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน อันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวม เช่นนี้จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมเรื่องการแสดงออกหรือการรณรงค์มิให้รุนแรง ก้าวร้าว หรือหยาบคาย

ดังนั้น กฎหมายประชามติดังกล่าว จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ครับ ก็ชัดเจนกันไป สรุปว่าทุกอย่างเดินหน้าไปตามแนวทางเดิมที่รัฐบาลและ กกต.ดำเนินการมา

ส่วนกลุ่มพลังนักศึกษาและชาว Vote No หรือ No Vote ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ หากมาดำเนินการโฉ่งฉ่างเกินไป ก็จะโดน “ไม้แข็ง” จากทางการ ดำเนินคดีไปตามกฎหมายประชามตินี้ อย่างที่ล่าสุดกลุ่มนักศึกษา “หน้าใหม่แต่หน้าเดิม” ที่ออกมารณณงค์ Vote No ก็โดนดำเนินคดีกันไป แต่ศาลท่านก็ไม่ใจร้าย ให้ตำรวจควบคุมตัวเท่าที่สมควร แล้วก็ปล่อยตัวออกมา

เชื่อแน่ว่ากลุ่มนี้ไม่น่าจะยอมหยุดง่ายๆ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป แต่หวังว่าการดำเนินการแบบเด็ดขาดเช่นนี้ จะปรามพวกป่วนประชามติได้ไม่มากก็น้อย

การ “ป่วนประชามติ” เป็นคนละเรื่องกับการ “แสดงความคิดเห็นต่าง” ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ หากการแสดงความเห็นต่างนั้นจำกัดแวดวงอยู่อย่างจำกัด ไม่ออกมาทำอะไรโวยวายโฉ่งฉ่าง เช่น จัดการสัมมนาประชามติกันในห้องประชุมหรือที่สัมมนา จะไม่เห็นด้วยจะอะไรก็ทำได้เต็มที่ ขออย่าบิดเบือนเนื้อหาหรือตีความใหม่ก็พอ เช่นนี้รัฐบาลก็ไม่เห็นจะว่าอะไร อย่างที่จัดกันที่ธรรมศาสตร์หลายครั้ง ครั้งล่าสุดก็มีการเปิดหอประชุมจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง Vote No เป็นสิทธิ นั่นก็ไม่มีการจับกุมคุมขังอะไรกัน

หรือแม้แต่พวกนักวิชาการที่แสดงความเห็นกันเต็ม Facebook ทั้งที่เห็นด้วยเห็นต่าง แต่ก็ไม่มีใครจับไปทำอะไร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งเดียวที่จะผิดกฎหมายและโดนดำเนินคดี คือการออกมารณรงค์ในลักษณะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ออกมาแจกใบปลิวกันกลางถนน ทำให้เป็นเรื่องโฉ่งฉ่างขัดต่อความสงบเรียบร้อยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อเป็นห่วงอยู่ อย่างที่ได้เคยแสดงทัศนะไว้แล้วหลายครั้งว่า การทำประชามติรัฐธรรมนูญรอบนี้นั้น ออกจะเงียบเหงาเกินไปจริงๆ

อาจจะเพราะทุกฝ่ายเกร็งกัน หรือการรณรงค์ก็ใช้วิธีการ “เคาะประตู” โดยครู ก. ถึง ครู ค. และอาสาสมัครรักษาดินแดน แต่การเคาะประตูก็จะทำได้ครอบคลุมทุกที่หรือ ซึ่งจากโพลที่มีการสำรวจกัน ก็ได้ข้อมูลที่น่าตกใจ ล่าสุดก็มีโพลออกมาว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะมีการทำประชามติกันวันไหนถึง 70% หรือคำถามพ่วงคืออะไร หมายความว่าอะไรก็มีผู้ไม่รู้ถึง 90%

ถ้ายังเป็นแบบนี้ ก็อาจจะตอบได้เลยว่า ตัวชี้ขาดประชามตินั้น จะมาจากการจัดตั้งของฝ่ายการเมืองแน่ๆ ที่อาจจะรับเงินรับงานไปกาตามที่แกนนำหรือนายใหญ่ (ของทั้งสองสีสองฝ่าย) ฟันธงไว้ ซึ่งก็จะส่งผลให้พูดยากว่า รัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาจากเสียงของประชาชน

ก็ยังคงอยากจะขายไอเดียอยู่ว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ อีกเพียง 30 วันก็จะลงประชามติกันแล้ว ฝ่ายรัฐบาล หรือ กกต.ควรจะยอมใจกว้างจัด Event ใหญ่ๆ ให้เป็น Talk of the Town กันสักทีเถิด

อาจจะต้องยอมให้มีการ “ถกเถียง” ต่อสู้กันบ้าง เพื่อเรียกความตื่นตัวและความรับรู้จากประชาชน เพื่อจูงใจให้ประชาชนไปลงประชามติกัน

เรื่องครู ก ข ค และ รด. จิตอาสา อะไรก็ทำไปเถอะครับ ถือว่าเป็นการรณรงค์ในระดับ Micro ลงสู่รายย่อยถึงเนื้อถึงตัว

แต่กิจกรรมระดับ Macro หรือ Mass ก็ต้องมีน่าจะดีถ้าจะจัดรายการดีเบตประชามติกันให้ “สะเด็ดน้ำ” สักวันหนึ่ง

ยอมให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประชามติ เช่นฝ่ายนักวิชาการนิติราษฎร์ หรือกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และกลุ่ม Vote No เลือกตั้งแทนมากลุ่มหนึ่ง

คณะผู้ร่างฯ ส่งตัวแทนกันมาเท่าๆ กัน

แล้วจัดเถียงกันให้รู้เรื่อง เป็นวาระแห่งชาติ ออกทีวี ฟรีทีวีสักช่องในเวลา Prime Time เอากันให้จบไป อาจจะติดต่อกันวันสองวันเลยก็ได้

นอกจากจะเป็นการสร้างความคึกคัก ประชาสัมพันธ์เรื่องการทำประชามติรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็น “หลักฐาน” อันแข็งแรง ในการแสดงต่อนานาอารยประเทศว่า รัฐบาลนี้ หรือ คสช.ไม่ได้มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างที่กล่าวหากัน

เพราะยังยอมให้มีการจัดใหญ่ จัดหนัก โต้เถียงกันได้ขนาดนี้ ใครไม่เข้าร่วม หรือยังอาศัยเวทีอื่นในการป่วน ก็เท่ากับว่าขาดความชอบธรรมไป

และรัฐบาลเองจะได้ความชอบธรรมเต็มที่ในผลของประชามติ ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม และความชอบธรรมในการลงประชามติ ก็จะส่งผลเป็นความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ ให้สถิตถาวรมั่นคงต่อไป ด้วยมาจากเสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริงของอาณาประชาราษฎร์ชาวไทย

ก็ยังขอขายไอเดียอย่างนี้ไว้ครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น