เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นการจำกัดเสรีภาพแสดงความเห็นเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ ซึ่งรัฐธรรมนูญในอดีตก็มีบัญญัติให้ทำได้ ระบุ “รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่” เป็นถ้อยคำชัดเจน ไม่คลุมเครือ แม้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตีความบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม ผู้เสียหายก็มีสิทธิฟ้องร้องได้ ซ้ำยกตัวอย่าง “หยาบคาย” ใช้กับเพื่อนสนิทได้ แต่หากใช้กับคนไม่รู้ใจ อาจเข้าข่ายดูหมิ่น เหยียดหยาม
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2559 อย่างไม่เป็นทางการ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้นรวม 7 หน้า ระบุเหตุผลในการวินิจฉัยว่า แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 จะคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล แต่ก็อาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดไว้ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน ระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ เป็นต้น การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านั้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้ ทั้งต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาบัญญัติ
ส่วนการออกเสียงประชามติ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองโดยตรงของประชาชนด้วยการออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอในเรื่องเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ อธิปไตยของรัฐ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ มาตรการกฎหมาย หรือนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป โดยทั่วไปต้องมีการเปิดให้ฝ่ายสนับสนุน และคัดค้าน ได้มีโอกาสรณรงค์แข่งขันโน้มน้าวสาธารณชนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกอย่างแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และการออกเสียงต้องเป็นไปโดยอิสระและลับ แต่ปรากฏจากการปฏิบัติชองนานาชาติในเรื่องการจัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันมี 2 ลักษณะ คือ 1. การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 165 เทียบได้กับลักษณะนี้ 2. การออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นกลไกการออกเสียงในกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญเดิมที่บังคับใช้มาสิ้นสุดลง การออกเสียงลักษณะนี้ปรากฏในกรณีประสบวิกฤตทางการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้ระบบการเมืองล้มเหลว ประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งการออกเสี่ยงประชามติลักษณะนี้จัดขึ้น ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือเทียบเท่า องค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงฯ ตั้งแต่การกำหนดสาระสำคัญของประเด็นคำถาม การรณรงค์เผยแพร่ กติกาการจัดการออกเสียง ซึ่งการออกเสียงประชามติภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2559 เทียบเคียงได้กับลักษณะนี้
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หลักทั่วไปการกระทำที่เป็นความผิดและมีโทษทางอาญากฎหมายจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน แน่นอนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการกระทำที่ต้องห้ามและการลงโทษบุคคลทางอาญาผู้นั้นต้องละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งเท่านั้น แต่ในบางกรณีกฎหมายอาญาอาจใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายพิจารณาพฤติการณ์ของการกระทำประกอบกับถ้อยคำตามองค์ประกอบความผิดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนั้นๆ ได้ ถ้อยคำในมาตรา 61 วรรคสองที่ว่า รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ เป็นถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เจาะจง เช่น การใช้คำว่า “หยาบคาย” หากใช้ในวงจำกัดระหว่างเพื่อนสนิท คนใกล้ชิดย่อมทำได้ แต่หากเผยแพร่ไปยังคนไม่รู้จัก ไม่รู้ใจ หรือสถานการณ์ต่างกัน อาจกลายเป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น ดูแคลน ทำให้เกิดบาดหมางขัดเคืองใจเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ ถ้อยคำเหล่านี้จึงเป็นถ้อยคำที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือความเป็นอยู่ของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน ป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจจึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติความผิดและโทษทางอาญาโดยใช้ถ้อยคำคลุมเครือหรือไม่ชัดเจน ในส่วนของโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 61 วรรคสาม แม้มีอัตราโทษสูงไม่เกิน 10 ปี แต่ก็ไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ เพื่อให้ศาลจะได้ใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษให้ความเหมาะสมตามสภาพจิตใจและการกระทำประกอบสภาพแวดล้อมขณะกระทำ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการะทำ ทั้งนี้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอาจตีความขยายขอบเขตของถ้อยคำดังกล่าวจนเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ย่อมสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยยังระบุอีกว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะมีผลกระทบในวงกว้าง ผู้เผยแพร่ย่อมต้องคิดทบทวนที่จะกระทำลงไป การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย แสดงความเป็นสุภาพชนในพื้นที่สาธารณะย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปทำให้มีทัศนคติเป็นมิตรต่อกัน ไม่ขุ่นข้องหมองใจเพราะถ้อยคำเหล่านั้น รวมทั้งยังแสดงถึงบรรยากาศแห่งการปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน อันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวมตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้จึงเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่กระทำโดยสุจริตภายใต้กรอบกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสองเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจงจึงไม่ขัดหรือมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557