xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติรัฐธรรมนูญ เงียบสงบเกินไปใช่จะดี

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ท่าทีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่งว่า เฉพาะตัวอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์นั้นไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาได้ไปกล่าวไว้อย่างชัดเจนเนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 35 จัดงานถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้

โดยอภิสิทธิ์ได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนไม่ต้องแปลความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพาประเทศถอยหลังกลับไปก่อนปี 2535 (ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) รวมถึงยังวิจารณ์ไปถึงกระบวนการประชามติว่าไม่ควรทำประชามติ หากประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้

นี่คือ “ท่าที” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

แต่ไม่ใช่ “ท่าที” ของพรรคประชาธิปัตย์

และถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีท่าทีของลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

นั่นก็ยังไม่ใช่ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพนันกัน 1 ต่อ 5,000 เท่าอัตราแทงเลสเตอร์ตอนเปิดฤดูกาลก็ได้ ว่าไม่น่าจะมีท่าทีชัดเจนอะไรจากพรรคนี้ อาจจะไม่มีเลย หรือมีออกมาแบบคลุมๆ เครือๆ ไม่ชี้ชัด

เป็นธรรมดาของพรรคที่ “เล่นเป็น” ว่าจะต้องแทงไฮโลแบบเปิดถ้วยอย่างไรก็ได้กิน

ส่วนทางท่าทีของฝ่ายพรรคแดงนั้นก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากจะแสดงความไม่เห็นด้วยแล้ว เขาไปไกลถึงขนาดบอกว่าอาจจะไม่มีการประชามติกระนั้นเชียว

และก็สามารถจะเปิดแทงอัตราเดียวกันได้ว่า ทางฝ่ายเครือข่ายแดงเพื่อไทย ก็คงมาได้แค่นี้ คงไม่มีการส่งสัญญาณชัดเจนอะไรมากกว่านี้ เพราะรู้ตัวว่าเป็นฝ่าย “มีแผล” ซึ่งถ้า “แหลม” ออกมา กลไกทางกฎหมายที่เข้มงวดอย่างที่รู้กัน ไม่ให้อภัยแน่นอน

ถ้าจะมีการเคลื่อนไหว ก็คงจะแสดงผ่านเครือข่าย “แดงอิสระ” หรือไม่ก็กลุ่มนักศึกษาหน้าเก่าหน้าเดิม (ซึ่งน่าจะเสียศูนย์สิ้นพลังไปพอสมควร เมื่อ “จ่านิว” เจ้าเก่า เกิดจะมี “ชนัก” ปักกลางกล่องดวงใจ คือคดีของแม่ตัวเองที่อยู่ในเงื้อมมือเขตอำนาจของศาลทหาร ด้วยคดีร้ายแรงแห่งยุค

ส่วนถ้าจะให้ “ออกราคา” ว่าตกลงร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่านนั้น เห็นว่ายากที่ใครจะตอบได้ทีเดียว

เพราะตอนนี้ถ้าไม่ผ่านแล้ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ รัฐบาลของ คสช.คงจะอยู่ยาวต่อไป โดยดำเนินกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรอบนี้อาจจะสั้นลงด้วยการหยิบเอาฉบับของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือ อ.บวรศักดิ์ สุวรรณโณ มาขยำรวมกันก็ได้ หรืออาจจะดัดแปลงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ผสมบางส่วนของปี 2540 ก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน

การที่กฎหมายประชามติค่อนข้างเคร่งครัด จนทำให้ผู้คนแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะหนุนหรือค้านไม่กล้า “ออกตัว” กันเท่าไร แม้ว่าเผินๆ เหมือนกับว่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า ทำให้ไม่มีใครออกมาตีปี๊บสร้างประเด็นบิดเบือนรัฐธรรมนูญ แต่แง่เสียเปรียบของมันก็มีเหมือนกัน คือต้องยอมรับว่า บรรยากาศที่เหมือนจะเงียบสงบ ไม่มี “พวกป่วน” มาตีความกวนเนื้อหารัฐธรรมนูญ ในอีกทางหนึ่ง ความเงียบนี้ก็ทำให้คนไม่สนใจต่อการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่จะมาถึงในอีกไม่ถึง 3 เดือนข้างหน้า เพราะว่าขาดบรรยากาศของ “ความคึกคักทางการเมือง” ซึ่งแม้ว่าการเปิดโอกาสให้ผู้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น ตลอดจนแม้แต่การรณณรงค์ว่าจะ “Vote Yes” หรือ “Vote No” นั้นก็ล้วนแต่เป็นการสร้าง “ความคึกคัก” ทางการเมือง เพื่อให้คนออกมามีส่วนร่วม

เช่นในสมัยการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ท่ามกลางกระแสทั้ง “Vote No” และกระแส “รับๆ ไปก่อน ค่อยไปแก้ทีหลัง” ก็ทำให้มีผู้มาออกเสียงประชามติถึง 45 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 57% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ

ในตอนนั้น การประกาศสนับสนุนให้ Vote Yes หรือ Vote No นั้นทำได้ง่ายดายสบายใจ ไปซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือในเว็บไซต์เพื่อแสดงออกโฆษณาให้คนลงประชามติรับหรือไม่รับก็ทำได้สะดวก ซึ่งถ้าเอามาทำในสมัยนี้ ตามกฎหมายประชามติฉบับนี้ มีหวังเจอคุก 10 ปี ไปตามๆ กัน

ส่วนจะคาดหวังให้ทาง กรธ.และฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ ก็บอกตรงๆ ว่า กลไกรัฐต่างๆ เหล่านั้นจะหวังสร้างความ “คึกคักทางการเมือง” นั้นก็คงยาก

ทางไหนก็ไม่ทำให้คนคึกคักเท่าเปิดโอกาสให้ได้วิพากษ์วิจารณ์ โต้เถียง เกทับ หรือคัดง้างต่อกัน ยิ่งถ้ามีการ Debate กันออกโทรทัศน์เหมือนตอนที่ท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล กับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มาขึ้นเวทีร่วมกันตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้นั้น ยิ่งเป็นการสร้างความคึกคักทางการเมืองเข้าไปใหญ่

ทำไมผมจึงต้องชี้ให้เห็นว่าความคึกคักทางการเมืองนี้เป็นเรื่องจำเป็น นั่นก็เพราะว่า หากขาดความคึกคักทางการเมืองเสียแล้ว ประชาชนคนกลางๆ ก็อาจจะไม่ออกไปลงประชามติก็ได้ เพราะอาจจะไม่เห็นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง หรือไม่รู้ว่าจะออกเสียงไปทางไหนอย่างไรดี ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ “เสียงจัดตั้งทางการเมือง” ซึ่งมีฝ่ายการเมืองสั่ง “กาซ้าย กาขวา” ให้ลงมติอย่างไรก็ได้

อย่าลืมว่าฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ “ฝ่ายนั้น” เขามีเสียงการันตีของตัวเองไว้ราวๆ 15 ล้านเสียง วัดจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ซึ่งถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อยกว่า 30 ล้านคนก็เท่ากับรับประกันว่า การที่รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขึ้นกับว่าทางฝ่ายนั้น “ขยิบตา” ให้ “กากันช่องไหน” เลยทีเดียว

ในขณะที่ “อีกขั้วการเมือง” หนึ่งเสียงแตกแทงกั๊ก และหากบรรยากาศประชามติรัฐธรรมนูญยังคงเงียบเหงาเช่นนี้

เอาเข้าจริง ผู้ที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศไทยว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไร จะมีรัฐธรรมนูญนี้หรือรัฐธรรมนูญไหน อาจจะไม่ใช่ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันอย่างที่คาด

แต่กลับเป็นเครือข่ายการเมืองเจ้าเก่าอำนาจหน้าเดิมนั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น