xs
xsm
sm
md
lg

โลกยุคใหม่ที่ล้ำเทคโนโลยีและวัฒนธรรมเสวนาวงกาแฟ

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น


ช่วงนี้มีอันได้คุยบ่อยเรื่องสถานการณ์การล้มหายตายจากของสื่อ มีเพื่อนถามผมว่ามันน่ากลัวมั้ย ผมบอกว่า น่ากลัวสิ ..สำหรับทุกคนด้วยนะ ไม่ใช่แค่สำหรับเรื่องที่กลัวจะตกงานของคนแวดวงสื่อสารมวลชนแต่เพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนอื่น ผมอยากสรุปบางเรื่องที่อาจจะพูดไม่ตรงกัน หรือเข้าใจไปคนละเรื่องก่อน

นั่นคือ ไม่ได้ว่าถึงสื่อนิตยสาร หรือสื่อกระดาษเท่านั้น แต่พูดถึงโดยรวมถึง "องค์กรสื่อที่ทำคอนเทนท์ขายในทุกรูปแบบ" ส่วนจะแปรรูปสู่ดิจิตอล หรืออะไรตามกระแสความต้องการของสังคมยุคใหม่ก็ว่าไป ทั้งนี้ ขอข้ามประเด็นยอดฮิตที่ชอบถกกันเรื่องสื่อต้องปรับยังไงไปก่อนนะครับ

เรื่องที่ผมจะพูดถึงก็คือ ตอนนี้ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีของความทันสมัยเกิดขึ้นเต็มไปหมดในทุกแวดวง รวมทั้งสื่อ บวกกับการเชื่อมโยงกันระหว่างมนุษย์นั้นพัฒนาเข้าสู่ความเข้มแข็งของระบบเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ จนทรงอิทธิพลมากขึ้นกว่ายุคไหนสมัยไหน โลกสมัยใหม่กลายเป็นโลกแห่งเครือข่าย และก็กลายเป็นว่า กระแสการบริโภคข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่นั้น ในส่วนของการบริโภคสื่อที่เป็นหน่วยงานที่ทำกันเป็นอาชีพนั้นมีอัตราส่วนที่น้อยลง แต่กลับไปบริโภคข่าวสารจากเครือข่าย หรือจากที่แต่ละคนบอกเล่ากันเองมากขึ้น คนยุคนี้สมัยนี้ชอบอ่านข่าวที่เล่ากันเองในนิวส์ฟีดของโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรืออ่านที่ส่งกันในกรุปไลน์ และอื่นๆ

ซึ่งถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับคุณอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี ฟังวิทยุ เพื่อทราบข่าวสารบ้านเมืองน้อยลง แล้วหันไปแลกเปลี่ยนทัศนะกันในวงกาแฟมากขึ้นนั่นแหละ

รูปแบบการเปลี่ยนแปลงการบริโภคข่าวของสังคมแบบนี้ ผมไม่บอกว่าถูกหรือผิดหล่ะนะ แต่ผมแค่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ผมวิตก

ถามว่าทำไม?

นั่นก็เพราะ ผมมองถึงปัญหาที่เห็นอยู่จากทั้งสองฝั่ง ทั้งส่วนสื่อและส่วนผู้บริโภค นั่นคือ เวลาสื่อทำข่าวมันมีกระบวนการรองรับ มีระบบกองบรรณาธิการ มีการค้นคว้าความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบที่มาและข้อมูล หาผู้รู้มายืนยันประเด็นและให้ความเห็นเพิ่มเติม กลั่นกรอง ไปจนถึงมีฝ่ายตรวจปรูฟตัวสะกด ฯลฯ ต่อให้สื่อมันห่วยขนาดไหนมันก็ยังมีทีมงานและกระบวนการที่ว่ามานี่

และสิ่งที่ผมกำลังจะบอกต่อไปก็คือ ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่ามาข้างต้นนั้น มันต้องใช้ทั้งสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- จำนวนคนทำงานที่เยอะ
- กระบวนการทำงานที่พยายามไม่ซับซ้อนแล้วแต่ยังมีความเยอะอยู่พอควร
- เงินมหาศาล
- ใช้เวลาที่พยายามให้เร็วแล้วแต่มันก็มีเพดาน เพราะเหตุผลในข้อต่อมา
- ความรับผิดชอบต่อข่าวแต่ละชิ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือสื่อองค์กรกำลังสูญเสียความนิยมให้กับวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนข่าวสารกันเองในนิวส์ฟีดโซเชียล หรือกรุปไลน์ และอื่นๆ

ถ้าจะมองซ้ายมองขวา แหวกข้างหน้า ควานไปหาเหตุที่ข้างหลัง ก็อาจจะพอทำความเข้าใจอย่างที่หยิบมาคุยกันง่ายๆ ว่า การที่สื่อสถาบันสู้สื่อเดี่ยวไม่ได้ก็เพราะเหตุต่างๆ ดังนี้
- สื่อเดี่ยวเร็วแค่ไหนก็ได้ ดราม่าเร้าใจแค่ไหนก็ได้ เพราะสื่อเดี่ยวไม่มีกระบวนการซับซ้อน รู้อะไรเคาะแป้นแล้วโพสต์เลย (อาจจะมีตรวจสอบบ้าง แต่กระบวนการยังมีไม่มากนัก)
- ไม่ต้องใช้เงินเพื่อการลงทุนเหมือนสื่อสถาบัน แถมถ้าสื่อเดี่ยวที่ดราม่าจนฮิตแล้ว ก็จะมีเม็ดเงินไหลเข้าอีกต่างหาก
- การรับผิดชอบของสื่อเดี่ยวตอนนี้เท่าที่เห็นคือ โพสต์ขอโทษ กับผิดแล้วลบให้ ซึ่งคนบางส่วนที่อ่านอันที่ผิดไปแล้วก็อาจจะไม่เห็นการแก้ไขก็เป็นได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นกรณีฟอร์เวิร์ดมาอีกที บางทีก็ไม่ใช่แค่ผิด อาจจะหยิบเรื่องเก่ามาฟอร์เวิร์ด หรือหยิบรูปมาอธิบายผิดเรื่องเหมือนเอาคนตายเพราะแผ่นดินไหวในประเทศหนึ่งมาบอกว่าตายเพราะโรคระบาดในอีกประเทศก็เจอมาแล้ว การเข้าใจผิดทั้งในส่วนของกาละหรือเทศะนั้นเกิดขึ้นง่ายมาก

นี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ เป็นความวิตกเรื่องวัฒนธรรมการอ่านข่าวของพวกเรา ข้อแนะนำคือ แต่ละคนก็โปรดให้ความสำคัญกับการอ่านข่าวหน่อย อยู่กับการอ่านข่าวดูข่าวฟังข่าวแบบไม่ต้องเร่งมาก และใส่ใจเพิ่มอีกนิด

ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถึงขนาดเหมือนสมัยก่อนที่ต้องตื่นแต่เช้าไปหาซื้อจากแผงมาอ่าน คนรุ่นก่อนนั้นอ่านข่าวเป็นชั่วโมง แต่สมัยนี้จะเอาทั้งเร็ว ทั้งสั้น(เขียนยาวหน่อยก็ด่าแล้ว) ทั้งเข้าถึงง่าย ...แต่จริงๆแล้ว มันไม่มีอะไรที่ "รู้ได้ในพริบตา" อย่างสะดวกง่ายๆ หรอกครับ เชื่อเถอะ

อีกเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมเรื่องความแตกต่างของการบริโภคข่าวของคนรุ่นก่อนกับรุ่นปัจจุบันที่สังเกตเห็นได้ก็คือ คนสมัยก่อนนั้นจะบริโภคข่าวในแต่ละครั้งใช้เวลานาน แต่ไม่ได้บริโภคตลอดเวลา อ่านข่าวหรือดูข่าวฟังข่าวจากหนังสือพิมพ์-ทีวี-วิทยุ ในตอนเช้า แล้วก็มาอีกทีตอนเย็น แต่คนสมัยนี้บริโภคข่าวแบบใช้เวลาแป๊บเดียว แต่ชอบที่จะอยากรู้นู่นนี่ตลอดทั้งวัน จะเห็นได้ว่าสื่อเดี๋ยวนี้ก็ต้องปรับตามความต้องการในจุดนี้ รายการข่าวทีวีสมัยนี้มีกันทั้งวัน เปิดวิทยุก็มีข่าวทุกประเภทให้ฟังกันทั้งวัน แค่ข่าวบันเทิงอย่างเดียวก็มีร่วมร้อยกันแล้ว ซึ่งผมไม่อยากจะสรุปว่าแบบไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หากท่านพิจารณากันเองก็คงเข้าใจได้เอง

สำหรับคนทำคอนเทนท์ข่าวในส่วนของสื่อสถาบันนั้น ผมคิดว่าก็ต้องปรับตัว แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเสมอว่า การปรับตัวนั้นจะต้องปรับตัวอย่างมีสติ ไม่ใช่ไหลไปตามกระแส และแม้จะหมดยุคที่คนไปซื้อหนังสือตามแผงมาอ่าน ให้เวลากับการดูทีวีฟังวิทยุนานๆ แต่เรื่องการที่จะต้องพยายามหาช่องทางอื่นที่ส่งข่าวถึงมือผู้คนนั้นก็ใช่ แต่จะไปทำเหมือนสื่อเดี่ยวไม่ได้
- อย่าแข่งเร็ว เพราะบางครั้งความเร็วนั้นทำให้ช้า
- อย่าแข่งดราม่าเพราะข่าวไม่ใช่ละคร
- อย่าตามใจและเอาใจตลาดมากเกินไป เอาแค่ยึดหลักให้มั่นและอำนวยความสะดวกให้อย่างเหมาะสม

อยากให้ทั้งฝั่งคนทำคอนเทนท์ข่าวและผู้บริโภคเดินมาเจอกันครึ่งทางเถอะครับ...

ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ เชื่อเถอะนะ ไม่ใช่ว่าแค่เป็นห่วงวิกฤตของวงการสื่อ แต่ไม่งั้นอนาคตจะฉิบหายกันหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น