นายกฯ ปลื้ม คนไทยตื่นตัวรักการอ่านมากขึ้น 66 นาทีต่อวัน ชี้ การอ่านทำให้คนรอบรู้และฉลาดขึ้น แต่ต้องมีวิจารณญาณ พร้อมปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ในครรภ์ อุดช่องว่างการรู้หนังสือ และเพิ่มพื้นที่สาระดีผ่านโทรทัศน์
วันนี้ (9 เม.ย.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบสถิติการอ่านของคนไทย จากการแถลงข่าวนำเสนอผลสำรวจการอ่านของประชากรคนไทย พ.ศ. 2558 โดย สนง.สถิติแห่งชาติ และ สนง.อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) และรู้สึกยินดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น โดยมีเวลาการอ่านเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 56 ที่อ่านเพียง 37 นาทีต่อวัน
“ท่านนายกฯ ปรารภว่า การอ่านทำให้คนรอบรู้และฉลาดขึ้น หลายคนรู้จักใช้ประโยชน์จากการอ่านในการสร้างอาชีพจนมีฐานะร่ำรวย แม้จะไม่ได้รับการศึกษาที่สูงนัก โดยในปัจจุบันนี้การอ่านไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในหนังสืออย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีสื่อประเภทอื่น เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อีเมล ฯลฯ ที่คนนิยมใช้มากขึ้น เพื่ออ่านข้อมูลที่มีสาระ ไม่นับรวมข้อความการสนทนา หรือติดต่อสื่อสาร และต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักสืบค้นข้อมูลจากรอบด้าน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือถูกชักจูง”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า โดยปกตินายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่รักการอ่านมาก ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ทุกวันนี้ท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลายฉบับ รวมถึงหนังสือที่ส่วนราชการต่าง ๆ เสนอขึ้นมา รวมทั้งยังติดตามข่าวสารและสาระที่มีประโยชน์จากเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายประเภท
ดังนั้น จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ว่า การอ่านของคนไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี มีเวลาการอ่านนานขึ้น เป็น 34 นาทีต่อวัน จากเมื่อก่อน 27 นาที ขณะที่วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ชอบอ่านมากที่สุดถึง 94 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ วัยเด็กและวัยทำงานที่ชอบอ่าน 60 นาทีต่อวัน
“ท่านนายกฯ ฝากขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยตื่นตัวรักการอ่านมากขึ้น แต่ได้ขอให้ สธ. พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 6 - 7 เดือน ถึงปฐมวัย ซึ่งจะทำให้เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีนิสัยรักการอ่าน
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ หรือยังเป็นจุดอ่อนการอ่านของคนไทย คือ การนิยมดูโทรทัศน์ และบางส่วนยังอ่านหนังสือไม่ออก ท่านนายกฯ จึงได้เน้นย้ำให้ ศธ. เร่งส่งเสริมให้ผู้ที่ขาดโอกาสได้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ และควรเพิ่มพื้นที่สาระดีทางโทรทัศน์ให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยให้มากขึ้น”