xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกธุรกิจเลี้ยงกวาง “ภักดีฟาร์ม” ต้นแบบทำเงินครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การทำ “ฟาร์มเลี้ยงกวาง” ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจุดเด่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจเลี้ยงง่าย ขายได้ทั้งตัว และมูลค่าสูง หนึ่งในเกษตรกรยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จคือ “ภักดีฟาร์ม” จาก จ.พิษณุโลก สามารถต่อยอดให้ธุรกิจครบวงจร ทั้งต้น กลาง และปลายน้ำ สร้างรายได้หลากหลาย และเสริมให้ธุรกิจเกิดความแข็งแรง และปูทางยั่งยืน
ภักดี พานุรัตน์  เจ้าของ “ภักดีฟาร์ม”
ภักดี พานุรัตน์ เจ้าของ “ภักดีฟาร์ม” บุกเบิกธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกวางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพราะสนใจด้านการเกษตร และศึกษาข้อมูลตลาดว่ากวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีอนาคต ตลาดต้องการมาก มีมูลค่าสูงขายได้ทั้งตัว และสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์ถูกต้องตามกฎหมาย
“ภักดีฟาร์ม”ฟาร์มเลี้ยงกวางแห่งเดียวใน จ.พิษณุโลก และเป็นธุรกิจกวางครบวงจรเพียงไม่กี่แห่งของเมืองไทย
“ผมเริ่มจากนำเข้ากวางพันธุ์ “รูซ่า” (Rusa Deer) จากประเทศออสเตรเลีย จำนวน 17 ตัว และซื้อที่ดิน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก จำนวน 40 ไร่ ทำเป็นฟาร์มเลี้ยงเพื่อจะขยายพันธุ์ หลังจากเลี้ยงไปสักระยะ ได้แรงบันดาลใจว่าเราควรจะสร้างรายได้เพิ่มจากฟาร์มกวาง ด้วยการเปิดรีสอร์ตให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการเลี้ยงกวาง ตามด้วยเปิดร้านอาหาร และร้านกาแฟ โดยมีเมนูเนื้อกวางเป็นอาหารแนะนำ นอกจากนั้นยังเปิดร้านขายสินค้าที่ระลึกจากหนังกวาง และเขากวางด้วย” ภักดีระบุ

เขาเสริมว่า ข้อดีของการเลี้ยงกวาง คือ ทำเงินได้หลากหลาย ตั้งแต่เลี้ยงขยายพันธุ์ “ลูกกวาง” อายุ 1 เดือน ขายได้ราคาตัวละประมาณ 10,000 บาท ส่วน “เขากวางอ่อน” ตัดขายได้ทุกปี ปีละครั้ง ตลอดอายุเฉลี่ย 15 ปีของกวาง ราคาขายกิโลกรัมละ 6,000 บาท ถ้านำไปบดเป็น “แคปซูล” ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 12,000 บาท หรือจะขาย “เนื้อกวางสด” เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 230 บาท ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและไขมันต่ำ ขณะที่ “หนังกวาง” กับ “เขากวาง” ยังแปรรูปเป็นเครื่องหนัง และเครื่องประดับต่างๆ ได้ ซึ่งขายได้ราคาสูงมาก
รีสอร์ตของ ภักดีฟาร์ม
“ผมเริ่มแปรรูปเขากวาง หนังกวาง เมื่อปี 2554 เพราะอยากจะยกระดับอาชีพนี้ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งผมเริ่มจากนำเขากวางที่หลุดมาแปรรูปทำเครื่องประดับ แล้วแนะนำลูกค้าว่าสินค้าเหล่านี้ช่วยหยุดการล่ากวางป่าธรรมชาติเพราะมาจากฟาร์มที่เลี้ยงถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งใช้ทดแทนงาช้าง มีความหมายทางมงคลเช่นกัน ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ ตามด้วยทำเครื่องหนังกวาง เช่น กระเป๋า เสื้อ รองเท้า ฯลฯ ซึ่งมีข้อดี หนังนุ่น เหนียว และใส่สบาย ซึ่งลูกค้าให้ความนิยมอย่างยิ่ง” ภักดีเผย
ร้านขายสินค้าที่ระลึกทำจากเขากวาง และหนังกวาง
แม้การเลี้ยงกวางจะมีโอกาสทางการตลาดสูง ทว่า ในความเป็นจริงธุรกิจนี้อยู่ในวงจำกัด มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย ซึ่งเลี้ยงเป็นอาชีพจริงจังและอยู่ในระบบแค่ประมาณ 45 ราย ปริมาณเลี้ยงกวางรวมแค่ 3,000 ตัว และหากเจาะจงเป็นฟาร์มที่ทำครบวงจรสมบูรณ์แบบ ทั้งเมืองไทยมีเพียง 2-3 รายเท่านั้น โดย “ภักดีฟาร์ม” เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนที่เหลือเลี้ยงตามกระแสแฟชั่นธุรกิจ จากคำบอกเล่าว่าเลี้ยงง่ายได้กำไรดี โดยขาดความรู้ จึงไม่สามารถเลี้ยงได้คุณภาพดี ต้นทุนเลี้ยงบานปลาย ไม่คุ้มค่าการลงทุน และไร้การแปรรูปต่อยอดธุรกิจ

เจ้าของภักดีฟาร์มอธิบายเสริมว่า แม้ว่ากวางจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย แต่จะเลี้ยงให้ได้คุณภาพดี และคุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นเรื่องยากมาก เพราะธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง อย่างน้อยหลักแสนบาทขึ้นไป เพื่อซื้อพ่อแม่พันธุ์ สร้างโรงเรือน และวางระบบเลี้ยง ยิ่งกรณีต้องซื้อที่ดินด้วยแล้วต้นทุนจะสูงขึ้นไปอีก นอกจากนั้น คืนทุนช้า เพราะกว่าจะตัดเขาอ่อน หรือขายเนื้อสดได้ต้องเข้าสู่ปีที่ 3 ของการเลี้ยงไปแล้ว
เขากวางอ่อน ขายกิโลกรัมละ 6,000 บาท
ดังนั้น หน้าใหม่ที่สนใจเข้าสู่วงการ ข้อแนะนำ อันดับแรก ต้องพร้อมเรื่องเงินทุน กับมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชสำหรับเป็นอาหารและแหล่งน้ำ อันดับต่อมา การเลี้ยงควรเริ่มจากซื้อกวางเพศผู้ อายุ 3 ปีขึ้นไป จำนวนมากกว่า 20 ตัว (ราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อตัว) เพื่อจะมีรายได้ทันทีในปีแรกจากการตัดเขากวางอ่อนขาย ช่วยให้มีทุนหมุนเวียนจะดำเนินธุรกิจในปีต่อๆ ไป


นอกจากนั้น ควรเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย เพราะจะมีแหล่งรับซื้อผลผลิตแน่นอน ลดความเสี่ยง อีกทั้งทางสหกรณ์ฯ ยังร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ช่วยพัฒนาระบบเลี้ยงกวางให้เกิดมูลค่าสูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้เริ่มธุรกิจ และที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรลงมือลงแรงดูแลฟาร์มเอง

“ผมไม่เห็นด้วยที่คนมีเงินแต่ไม่มีเวลาจะทำฟาร์มเลี้ยงกวาง คิดว่าเลี้ยงง่ายได้กำไรดี ซื้อกวางมาแล้วจ้างแรงงานเลี้ยงแทน รอแค่เก็บเกี่ยวผลผลิต วิธีนี้จะเป็นการทำฟาร์มขาดคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ธุรกิจเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง” เขาระบุ
“ผมไม่เห็นด้วยที่คนมีเงินแต่ไม่มีเวลาจะทำฟาร์มเลี้ยงกวาง  - ภักดี พานุรัตน์   กล่าว

รีสอร์ต
ปัจจุบัน “ภักดีฟาร์ม” ถือเป็นฟาร์มเลี้ยงกวางแห่งเดียวใน จ.พิษณุโลก และเป็นธุรกิจกวางครบวงจรเพียงไม่กี่แห่งของเมืองไทย ที่มีตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยง และต่อยอดไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านขายสินค้าที่ระลึก มูลค่าธุรกิจรวมกว่า 10 ล้านบาท มีจำนวนเลี้ยงกวางทั้งหมด 140 ตัว โดย 120 ตัวเป็นพันธุ์รูซ่า เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ และไว้ตัดเขากวางอ่อน กับขายเนื้อสด ส่วนที่เหลือเป็นพันธุ์ “กวางดาว” เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม รองรับนักท่องเที่ยวที่พักรีสอร์ตกับมาร้านอาหาร
พันธุ์ “กวางดาว” เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม รองรับนักท่องเที่ยวที่พักรีสอร์ตกับมาร้านอาหาร

ด้านสัดส่วนรายได้ จากการทำฟาร์มประมาณ 50% ส่วนอีก 50% มาจากส่วนที่ต่อยอดอื่นๆ นอกจากนั้น ในปลายปีนี้ (2559) จะต่อยอดทำฟาร์มเลี้ยงกวางให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เก็บค่าเข้าชม มีกิจกรรมเช่น ให้อาหารกวาง และปั่นจักรยานรอบฟาร์ม เป็นต้น

เมนูจากเนื้อกวาง
จะเห็นได้ว่า “ภักดีฟาร์ม” เชื่อมโยงการเลี้ยงกวางต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ครบถ้วน นับเป็นต้นแบบของเกษตรกรยุคใหม่อย่างแท้จริง

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้า 2

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


“อภิชาติ วัฒนกุล” ประธานสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย
@@@ ชี้ตลาดความต้องการยังอีกมหาศาล @@@

ด้าน “อภิชาติ วัฒนกุล” ประธานสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิก 45 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ที่พื้นที่ภาคตะวันออก และใต้ จำนวนเลี้ยงกวางรวม 3,000 ตัว ส่วนที่อยู่นอกสหกรณ์ฯ ปริมาณการเลี้ยงทั่วประเทศประมาณ 7,000 ตัว รวมแล้วในประเทศไทยมีการเลี้ยงกวางอยู่ประมาณ 10,000 ตัว ในขณะที่ความต้องการของตลาดมีอีกมาก ที่ผ่านมาวงการค้าขายกวางยังอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เพราะด้วยปริมาณที่น้อย ไม่สามารถขยายไปสู่ตลาดส่งออกได้ ทั้งๆ ที่ชาวจีนและรัสเซียมีความต้องการกวางมาก ทั้งเนื้อเพื่อบริโภค และส่วนเขากวางอ่อนที่ใช้เป็นส่วนผสมของยาจีนหลายชนิด
อีกเมนูจากเนื้อกวาง
สำหรับราคารับซื้อผลผลิตจากสมาชิกนั้น ในส่วน “เขากวางอ่อน” ราคา 6,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน “เนื้อกวางสด” ราคาต่างกันไปแต่ละส่วน เฉลี่ย 230 บาทต่อกิโลกรัม โดยสหกรณ์ฯ จะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก 100% แล้วนำไปขายภายใต้แบรนด์ “สหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย” ผ่านช่องทางขายต่างๆ เช่น หน้าร้านสหกรณ์ฯ สำนักงานอยู่ จ.นครปฐม รวมถึงมีผู้ค้าเข้ามารับซื้อที่สหกรณ์ฯ
ร้านกาแฟ อีกธุรกิจต่อยอดจากฟาร์มเลี้ยงกวาง
สินค้าจากหนังกวาง
โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ มีปริมาณรับซื้อส่วนเขากวางอ่อนจากสมาชิก รวม 350 กิโลกรัม ส่วนเนื้อกวางปริมาณรับซื้อรวม 167 ตัว (น้ำหนักกวางเฉลี่ยตัวละ 90-120 กิโลกรัม) ขณะที่เงินทุนหมุนเวียนในสหกรณ์ฯ เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสำหรับไว้รับซื้อผลผลิตจากสมาชิกประมาณ 5 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการและเป็นทุนกองกลาง

อภิชาติเผยด้วยว่า สำหรับเกษตรกรที่ต้องการมาเป็นสมาชิกฯ มีเงื่อนไขหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. ต้องเลี้ยงกวางตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไป เพื่อจะการันตีว่าทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง 2. ต้องทำธุรกรรมซื้อขาย แลกเปลี่ยนผลผลิตกับสหกรณ์ และ 3. ต้องเข้าประชุมใหญ่สามัญประจำปี ร่วมออกความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับการบริหารสหกรณ์
กวางพันธุ์รูซ่า เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ และไว้ตัดเขากวางอ่อน กับขายเนื้อสด
เขาเผยว่า ทุกวันนี้ทั้งเขากวางอ่อนและเนื้อกวางเป็นที่ต้องการของตลาดสูง และแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อกวางเป็นที่ยอมรับในคุณประโยชน์ ส่วนเขากวางอ่อน ก็นิยมนำไปแปรรูปเป็นยาบำรุง และหนังกวางก็แปรรูปได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงยังจำกัด เพราะปัญหาคนเลี้ยงกวางส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ เลี้ยงเป็นแฟชั่นธุรกิจ ตามคำบอกเล่าว่าได้ราคาดี เลี้ยงง่าย โดยขาดการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงกวางได้คุณภาพ การขยายปริมาณทำได้ยาก ต้นทุนการเลี้ยงสูงเกินจริง จากเฉลี่ยตัวละ 2,000-2,500 บาทต่อปี ถ้าเลี้ยงขาดความรู้ ต้นทุนจะบานปลายเป็นปีละกว่า 3,500-4,000 บาทต่อปี นอกจากนั้น ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าน้อยมาก ทั้งประเทศมีฟาร์มที่เลี้ยงครบวงจรแค่ 2-3 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อจะเผยแพร่ความรู้การเลี้ยงกวางที่ถูกต้องให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทางสหกรณ์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ช่วยพัฒนากระบวนการเลี้ยงกวางให้ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ และยังเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมด้วย
คุณภักดี  เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้บุกเบิกธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกวางครบวงจร
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้า 3
พนักงานต้อนรับของร้านอาหารประจำ ภักดีฟาร์ม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO
@@@ BEDO ปลุกสร้างเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพ@@@

ด้าน ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เสริมว่า BEDO มีหน้าที่พัฒนาทรัพยากรชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “ไบโอ อีโคโนมี”
ร้านขายสินค้าที่ระลึกทำจากเขากวาง และหนังกวาง

ทั้งนี้ การทำธุรกิจจาก “กวาง” หากไม่เข้าใจจะคิดว่าเป็นการเบียดเบียนทำลายสัตว์ป่าหรือธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงสามารถจัดระบบให้มาอยู่ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมให้เลี้ยงอย่างถูกต้อง ซึ่งกวางมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อกวางที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และให้ไขมันต่ำ ส่วนเขากวางอ่อนยังนำทำเป็นยา มีสรรพคุณเพื่อบำรุงสุขภาพ มูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างยิ่ง
สินค้าแปรรูปจากหนังกวาง

ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มความต้องการเนื้อกวางยังเพิ่มต่อเนื่อง และยิ่งเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โอกาสของตลาดจะสูงขึ้นไปอีก ในขณะที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีความพร้อมในการเลี้ยงกวาง หากสามารถจัดการความรู้และระบบการเลี้ยงกวางให้เหมาะสมจะนับเป็นการใช้ทรัพยากรชีวภาพให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์
โรงเลี้ยง
เขากวางอ่อน ขายกิโลกรัมละ 6,000 บาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น