เงินเดือนเกือบแสน อยู่ในองค์กรชั้นนำ แต่ “บัณฑิต เกิดมณี” หนุ่มวิศวกรไฟฟ้า เลือกจะละทิ้ง เพื่อคืนเหย้าพลิกฟื้นสวนผลไม้ของครอบครัว จากที่ปลูกด้วยสารเคมี กลับกลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ 100% มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสูง สร้างรายได้ไม่แพ้ตอนทำงานประจำ และที่สำคัญ ได้ใกล้ชิดพ่อแม่ เติมเต็มความสุขให้ชีวิตอย่างสมบูรณ์
บัณฑิต หรือ “เก่ง” เล่าว่า ครอบครัวทำสวนผลไม้อยู่ใน ต.คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ในท้องถิ่นจะรู้จักในชื่อ “สวนลุงประกฤติ” ตามชื่อของพ่อ(ประกฤติ เกิดมณี) ตั้งแต่เด็กเติบโตและช่วยงานในสวน หลังเรียนจบวิศวะไฟฟ้าออกไปทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนเมื่อ พ.ศ. 2547 ตัดสินใจลาออกกลับมาช่วยทำสวนที่บ้านเกิด ด้วยเหตุผลสำคัญคือ พ่อเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เริ่มทำสวนไม่ไหว เพราะร่างกายคลุกคลีกับการใช้สารเคมีทำเกษตรมาตลอดชีวิต
“ผมตั้งใจจะปรับเปลี่ยนสวนให้เป็นอินทรีย์ เพราะเรื่องสุขภาพมีความสำคัญมาก ถึงมีเงินมากแต่สุขภาพไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ และการทำเกษตรเคมี รายได้จะไปจมเป็นค่าปุ๋ยกับค่ายาฆ่าแมลงเสียหมด ส่วนเกษตรอินทรีย์นับวันตลาดจะนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงเชื่อว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางที่ถูกต้องเพื่ออนาคต” เจ้าของชื่อเล่นเก่งเผยแนวคิดเบื้องต้น
ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำมาลุยทำสวนผลไม้อินทรีย์เต็มตัว สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ หาตลาดรองรับซื้อที่แน่นอนให้เสียก่อน ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกขจัดไป เมื่อได้พบ “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ซึ่งบุกเบิกโครงการ “สามพรานโมเดล” ที่จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรที่ปลูกด้วยอินทรีย์เพื่อไปใช้ในโรงแรม โดยให้ราคารับประกัน ทำให้มั่นใจได้ว่าผลไม้จากสวนเกษตรอินทรีย์ที่ลงมือลงแรงปลูกขึ้นมาจะมีแหล่งรับซื้อแน่นอน ในระดับราคาน่าพึงพอใจ
“เดิมผลไม้ของสวนจะขายส่งในตลาดผลไม้แถวบ้าน ราคาไม่สูงนัก เน้นขายปริมาณมากๆ ก่อนที่ผมจะมาทำแบบอินทรีย์ ก็ต้องคิดก่อนว่า ถ้าทำมาแล้วจะขายได้ไหม จนได้พูดคุยกับคุณโอ (ชื่อเล่นของคุณอรุษ นวราช) ที่ทำโครงการสามพรานโมเดล รับซื้อโดยให้ราคาประกันแน่นอน ผมก็เลยคำนวณดูถึงความคุ้มค่าและรายได้ที่จะเข้ามา ประกอบกับเชื่อในเทรนด์สุขภาพที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเมินแล้วว่ารายได้เพียงพอแน่นอน เลยกล้าตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรอินทรีย์” บัณฑิตระบุ
วิธีการจะปรับสวนที่เคยใช้สารเคมีต่อเนื่องให้เป็นเกษตรอินทรีย์ บัณฑิตระบุว่า จะทำทันทีไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้นไม้คุ้นชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนาน หากหยุดใช้กะทันหันจะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นต้องค่อยๆ ลดปริมาณใช้เคมี ให้พืชปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเบื้องต้นในเวลากว่า 2 ปีพัฒนากว่าจะได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP (Good Agriculture Practices) พอถึงปี พ.ศ. 2553 หยุดการใช้สารเคมี 100% และเร็วๆ นี้กำลังได้มาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) รับรองเป็นสวนเกษตรอินทรีย์สมบูรณ์แบบ
ปัจจุบันเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ของสวนลุงประกฤติ โดยฝีมือลูกชาย ปลูกพืชผลไม้ผสมผสานหลายสิบชนิด โดยมีดาวเด่น เช่น ชมพู่ มะเฟือง และฝรั่ง เป็นต้น เขาเผยว่า เทียบปริมาณผลผลิตที่ออกมาให้เก็บจะน้อยกว่าตอนปลูกโดยสารเคมีเกือบ 50% แต่เทียบด้านรายรับแล้วแทบไม่แตกต่างกันเลย เนื่องจากผลไม้อินทรีย์แม้จะมีปริมาณน้อยกว่า แต่ขายได้ราคาสูง ตัวอย่างเช่น ชมพู่ที่ปลูกด้วยสารเคมี ขายกิโลกรัมละประมาณ 10-20 บาท แต่เมื่อปลูกโดยอินทรีย์ ขายที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท
และที่สำคัญกว่านั้น การทำเกษตรอินทรีย์ ยิ่งทำนานต้นทุนจะยิ่งลดลง เพราะธรรมชาติจะดูแลเกื้อหนุนกันเอง ไม่ต้องซื้อยามาฆ่าแมลง ส่วนปุ๋ยที่ใช้คือ “น้ำหมักชีวภาพ” ทำขึ้นเองตามภูมิปัญญาชาวบ้านโดยวัตถุดิบในสวน จึงแทบไม่มีรายจ่ายใดๆ เลย ส่งผลให้ผู้ปลูกมีเงินเหลือมากกว่าการปลูกโดยใช้สารเคมีมาก
“ตอนนี้รายได้ผมใกล้เคียงกับตอนทำงานประจำ แต่มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้นมาก เพื่อนผมหลายคนมาปรึกษาอยากจะทำเกษตรอินทรีย์บ้าง ผมก็จะแนะนำว่า ต้องดู “ต้นทุนความพร้อมของตัวเองเสียก่อน” อย่างตัวผมเองที่ทำได้เพราะมีที่ดินของพ่ออยู่แล้ว หากคุณจะเช่าที่ดินก็ยากจะคุ้มค่า นอกจากนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ ในระยะแรกต้องอดทนมากๆ เพราะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ อีกทั้งช่วงแรกผลผลิตจะน้อย รายได้ก็ไม่มาก ถ้าคุณไม่มีต้นทุนพร้อมที่จะอดทนรอได้ ก็ยากจะก้าวข้ามช่วงนี้” เกษตรกรหนุ่มระบุ
เขาเสริมถึงวิธีบริหารสวนผลไม้เกษตรอินทรีย์ให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำสวนผสมผสาน ปลูกพืชผลไม้หลากหลายชนิด มีทั้งเก็บเกี่ยวได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และเฉพาะหน้าฤดูกาล โดยวางแผนล่วงหน้ายาวเป็นปี เพื่อจะจัดสรรเวลาเก็บผลผลิตได้เหมาะสมและเพียงพอ สร้างรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับช่องทางการตลาดนั้น ส่งเข้าในโรงแรมที่สามพราน ริเวอร์ไซด์ กับขายปลีกที่ “ตลาดนัดสุขใจ” ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม อีกทั้งออกบูท “ตลาดนัดสุขใจสัญจร” ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สำนักงานขนาดใหญ่ โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
เก่งยอมรับว่า ทุกวันนี้ผลไม้จากสวนของเขาเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก ถึงขั้นปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า อีกทั้งห้างสรรพสินค้าหลายแห่งติดต่อขอให้นำผลไม้ไปวางขาย ทว่ายังไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัญหาไม่มีพื้นที่ขยายการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม แผนในอนาคตอยากจะสร้างแบรนด์สวนลุงประกฤติให้เป็นที่รู้จักในฐานะผลไม้จากสวนเกษตรอินทรีย์แท้ๆ
การคืนเหย้า กลับมาพลิกสวนผลไม้เคมีกลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ นอกจากสร้างรายได้สูงจนน่าพึงพอใจแล้ว หนุ่มเก่งบอกว่า ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองรักและผูกพัน รวมถึงได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ นี่เป็นความสุขอันสมบูรณ์สำหรับเขาแล้ว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *