xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกร ส่องแนวโน้มธุรกิจดาวเด่น - พึงระวัง ปี 59

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยบทวิเคราะห์แนวโน้ม ศก.ไทยปี 59 คาดดีขึ้นเล็กน้อย จีดีพีขยาย ร้อยละ2.5-3.5 พร้อมระบุธุรกิจที่มีแนวโน้มดี และน่าเป็นห่วงประจำปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยบทความแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจของไทย ในปี 2559 โดยประเมินว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย โดยอาจขยายตัวร้อยละ2.5-3.5 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.0) เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในปี 2558 ที่ร้อยละ 2.8 โดยมีการลงทุนเป็นแกนหลักที่นำการเติบโต ทั้งนี้ การลงทุนของภาครัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนตามมา

ด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศและเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2558ที่ผ่านมานั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอาจเติบโตในอัตราที่น้อยลงจากปีก่อน เนื่องจากไทยต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากนานาประเทศที่พยายามดึงดูด
นักท่องเที่ยวจีนเช่นกัน อีกทั้ง นอกจากผลของฐานสูงในปีก่อนแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง
ประเทศที่เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม หากเกิดขึ้นก็อาจกระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นและการท่องเที่ยว
ของโลก รวมทั้งไทยด้วย

ขณะที่ ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้ง มีปัจจัยความไม่แน่นอนอีกหลายประการที่รอท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจ ไทยในปี 2559 ที่สำคัญคือปัจจัยลบต่างๆ ที่อาจจะทำให้กำลังซื้อหรือการบริโภคของครัวเรือนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางลงล่าง ยังมีแนวโน้มอ่อนแอหรือประสบกับความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้งที่อาจยาวนานและรุนแรงกว่าคาด เหตุการณ์การเมือง และปัจจัยภายนอกประเทศ

จากภาพเศรษฐกิจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจไทยในปี 2559 สามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้ใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน
ภาพโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเด่นที่คาดว่าจะรักษาการเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และน่าจะมีการขยายการลงทุน ได้แก่

- ก่อสร้าง ขนส่ง และโลจิสติกส์ จะได้รับผลบวกจากการลงทุนและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ รวมทั้งความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนหลังการเปิดเสรี AEC โดยคาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างในปี 2559 อาจเติบโตในกรอบร้อยละ 5.5-7.5 เทียบกับในปี 2558 ที่อาจขยายตัวราวร้อยละ 10

- ไอที การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการมาถึงของ 4G ซึ่งจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคลื่นความถี่ เมื่อผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านข้อมูลและสื่อออนไลน์ โดยประเมินว่า มูลค่าตลาดการให้บริการด้านข้อมูลในปี 2559 อาจขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 ต่อเนื่องจากในปี 2558 ที่เติบโตร้อยละ 25

- สุขภาพ กระแสการใส่ใจดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย และการให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ออแกนิกส์) จะสนับสนุนความต้องการสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ ทั้งบริการด้านสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น รวมไปถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงอย่างผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งบริการด้านการแพทย์ที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Medical Tourism) หรือนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย (Expatiation) คาดว่า รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2559 จะยังคงขยายตัวกว่าร้อยละ 10
ภาพโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ธุรกิจพึงระวังที่จะยังเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

- อาหารแปรรูป โดยเฉพาะกลุ่มประมง โดยผลผลิตโลกและในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (หลังปัญหาโรคระบาดของกุ้งในไทยคลี่คลาย) อาจเป็นแรงฉุดราคา อีกทั้งไทยยังประสบกับปัญหาความสามารถทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลังจากสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ของสหภาพยุโรป (EU) ไปตั้งแต่ปี 2557-2558 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านภาพลักษณ์สินค้าจากกรณีใบเหลืองใน IUU Fishing (EU จะเข้ามาตรวจสอบในไทยอีกครั้งในช่วงต้นปี 2559 ก่อนที่จะประกาศผล) และ Tier 3 ในประเด็นการค้ามนุษย์ (จะมีการประกาศผลอีกครั้งในช่วงกลางปี) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในกรณีที่ EU คงสถานะใบเหลืองต่อไป หรือไม่ได้ระงับการนำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดโลกในปี 2559 อาจจะหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แต่ในอัตราที่น้อยลงจากในปี 2558 กระนั้น การแก้ไขปัญหาการทำประมงภายใต้กฎหมายของภาครัฐ อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและการดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตสินค้าประมงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

- ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) โดยเฉพาะโมเดลที่เน้นจับตลาดกลางลงล่างอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) ยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ หากผ่านฤดูแล้งและฝนตกได้ตามฤดูปกติ รวมทั้งมาตรการของภาครัฐเริ่มเห็นผล สภาวะอ่อนแอของกำลังซื้อเกษตรกรอาจจะทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ในปี 2559 คาดว่า ยอดขายค้าปลีก Hypermarket อาจเติบโตเพียงร้อยละ 1.5-2.0 แม้ใกล้เคียงกับราวร้อยละ 1.8 ในปี 2558 แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

- ยอดขายรถยนต์ในประเทศ คาดว่าแม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่โดยรวมแล้วก็จะยังคงอ่อนแออยู่พอสมควรจากกำลังซื้อที่ไม่เอื้อนักและผลจากการเร่งซื้อของผู้บริโภคก่อนการปรับภาษีสรรพสามิต ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ จำเป็นต้องทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจจะปรับตัวอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 1 ถึงขยายตัวร้อยละ 3 เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 13 ในปี 2558

นอกจากนี้ ธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวและยางพารา เช่น โรงสี โรงงาน แปรรูปยางพารา ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นกลุ่มธุรกิจที่จะยังคงเผชิญ ความยากลำบากอย่างต่อเนื่องในปี 2559 จากปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่กระทบผลผลิตพืชไร่โดยเฉพาะข้าว ส่วนราคา ยางพาราก็ยังมีระดับต่ำตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและคำสั่งซื้อจากคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มไม่สดใสตามการเติบโต ช้าลงของเศรษฐกิจจีน

ตลอดจนธุรกิจส่งออกที่การผลิตพึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง หรือ Labor-Intensive อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ก็ยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากประเด็นความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลก จนทำให้ ผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ได้เปรียบด้านต้นทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น