xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติรัฐธรรมนูญอย่าใช้อำนาจปิดปาก

เผยแพร่:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรรมนูญ
เราได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยแล้ว นับจากนี้ไปก็จะเป็นการศึกษาข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่าย ก่อนที่จะไปสู่การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

ทันทีที่เห็นร่างพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่า จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยชี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างปัญหาทางการเมืองเพิ่ม ลดอำนาจส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน แต่เพิ่มอำนาจส.ว.ที่มาจากการสรรหา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า อ้างว่ารัฐธรรมนูญนี้เพื่อปราบโกง แต่แท้จริงแล้วกลับสร้างกลไกให้ข้าราชการประจำเข้ามามีอำนาจทางการเมือง

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผมว่านี่เป็นสิทธิที่พรรคการเมืองสามารถทำได้นะครับว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ใครบอกว่าดีอย่างไรหรือไม่ดีอย่างไรก็ว่ากันมา

แต่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พูดทันทีว่าให้นายวิษณุ เครืองามไปดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผมมองว่า เป็นความหวั่นไหวจนเกินเหตุของรัฐบาล

จริงอยู่เรามีข้อจำกัดในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองเพราะประเทศชาติอยู่ภายใต้อำนาจทหารที่เข้ามาจัดสรรบ้านเมือง แต่ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจอย่างไร ก็ควรจะมีข้องดเว้นเรื่องการทำประชามติ เพราะความหมายของการทำประชามติก็คือ การขอความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ดังนั้นการที่ใครบอกว่า ไม่เห็นด้วยก็ควรจะเป็นเรื่องที่กระทำได้ ไม่ใช่ให้แสดงความเห็นจากฝ่ายที่เห็นด้วยอย่างเดียว

รวมทั้งการที่ใครอาจจะออกมาชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียอย่างไร รัฐบาลก็ควรจะอนุญาตให้ทำได้ตราบที่การพูดนั้นอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ใช่การบิดเบือนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

พูดง่ายๆว่า แม้เราจะอยู่ในบรรยากาศเผด็จการ แต่คำว่า"ประชามติ"นั้น รัฐบาลควรจะต้องผ่อนปรนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ก็จะกลับไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยต่อไป เราก็ควรให้ตัดสินกันด้วยบรรยากาศของประชาธิปไตยตามสมควร

แม้ว่าจะมีบทโทษที่ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ กำหนดเพิ่มขึ้นใหม่ ที่เป็นการนำหลักการจากกฎหมายเลือกตั้งมาบัญญัติไว้ คือ การห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา การจัดยานพาหนะ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และการหากผู้กระทำผิดเป็น กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป 2-10 เท่า

แต่การชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดนี้ไปได้ ควรจะต้องใช้กฎหมายอย่างระมัดระวังไม่ใช่ใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่ปิดปาก แถมควรจะให้ทุกพรรคการเมืองซึ่งเป็น"ผู้เล่น"หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันให้ถ้วนทั่วด้วยซ้ำไปว่า พวกเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ประชาคมวิชาการจัดเวทีเพื่อถกถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนได้ความรู้ เพราะเท่าที่ติดตามข่าวกกต.ไม่ได้พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายไปยังทุกครัวเรือนเหมือนการทำประชามติครั้งก่อน แต่กกต.บอกว่าจะพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 1.2 ล้านเล่มไปยัง"จุดต่างๆที่ประชาชนเข้าถึงได้" และพิมพ์เอกสาร“สรุปสาระสำคัญ”ของรัฐธรรมนูญ 20 หน้าอีก 6 ล้านเล่ม รวมทั้งเอกสาร“สรุปย่อสาระสำคัญ” 17 ล้านเล่ม นั่นเท่ากับว่าประชาชนก็จะรับแต่บทสรุปที่เป็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญด้านเดียว

จริงอยู่แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มถึงจะแจกจ่ายได้ครบทุกครัวเรือนก็เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่สลับซับซ้อน แต่ก็ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการหาช่องทางให้มากที่สุดที่จะให้ประชาชนทำความเข้าใจเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ

แต่นี่กกต.กลับบอกว่าไม่สนับสนุนให้เกิดการตั้งเวทีระดับจังหวัด โดยบอกว่าถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะรณรงค์ในระดับจังหวัดจะไม่อนุมัติให้ทำแต่จะเปิดโอกาสให้ส่งตัวแทนมาดีเบตผ่านสื่อสาธารณะช่องต่างๆ ถ้าองค์กรที่ทั้งขึ้นทะเบียนต่อ กกต. และไม่ขึ้นทะเบียนไปจัดเวทีเองก็ต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายความมั่นคงเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง และอาจเข้าข่ายฐานความผิดของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหากจัดแล้วเกิดความวุ่นวายในพื้นที่ได้

การสร้างข้อจำกัดแบบนี้ขึ้นมามันจะเป็นการลงประชามติที่ถูกต้องในความหมายของคำว่า"ประชามติ"หรือ

ดังนั้นรัฐบาลและกตต.ควรจะต้องทบทวนเรื่องนี้และไม่ควรจะมีท่าทีข่มขู่หรือกดดันคนที่ประกาศไม่เห็นด้วย เพราะถ้าบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความผิด การออกมาประกาศว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องมีความผิดเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเราทำอย่างนั้นมันก็คงไม่ใช่การลงประชามติที่ต้องการให้ประชาชนตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และถ้าถึงขนาดนั้นก็ใช้อำนาจประกาศใช้ไปเลยเสียดีกว่าอย่ามาทำประชามติให้เปลืองงบประมาณเลย

เห็นกตต.บอกว่า ต้องใช้งบประมาณสำหรับการออกเสียงประชามติเป็นวงเงินถึง 2,991 ล้านบาท

นอกจากนั้น รัฐบาลควรจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ หรือจะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาร่างใหม่ จะมีขั้นตอนอย่างไร แต่ไม่ควรจะเป็นแบบที่เคยพูดว่า ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องเจอกับอะไรที่แย่กว่าซึ่งเป็นลักษณะของการข่มขู่และแบล็คเมล์

การจะให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุและผลพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียมีข้อมูลที่ครบถ้วนจึงจะเป็นการลงประชามติอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น