xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อพวกทักษิณโวยว่าไม่ผิดแต่ถูกยุบพรรคฟรี แล้วความจริงคือ/สุรวิชช์ วีรวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน

พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
กรณีศาลฎีกาตัดสินคดีพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กให้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2549 เพื่อหลีกเลี่ยงการลงสมัครพรรคเดียวที่ต้องได้รับการเลือกตั้งถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งการตัดสินฎีกาเมื่อไม่นานนี้นั้นทำให้เราเพิ่งทราบว่า อัยการไม่ฎีกากรณีของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จำเลยที่ 1 ในคดีนี้

หลังคำพิพากษาศาลฎีกา พวกทักษิณเอาเรื่องนี้มาขยายความทันทีว่า ปี 2559 เป็นปีที่ไทยรักไทยโดนตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบเกือบครบ 10 ปี และกรรมการพรรค 111 คน ถูกตัดสิทธิการเมืองทั้งหมด แต่ศาลฎีกาตัดสินว่าคดีอาญาซึ่งใช้เป็นข้ออ้างยุบพรรคกลับไร้หลักฐานความผิด ข้อหาเรื่องไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กสมัคร ส.ส.ในเขตที่ประชาธิปัตย์บอยคอตเลือกตั้ง 2549 จึงไร้เหตุผลรองรับ สิบปีแห่งกาารยุบพรรคที่มีประชาชนนิยมสูงสุดพร้อมตัดสิทธิบุคลากรชั้น 5 ปี กลับจบด้วยคำตัดสินศาลฎีกาว่าคดีต้นเรื่องเป็นเรืองไม่มีมูลความจริง

นี่ไงพรรคไทยรักไทยไม่ผิดจากเหตุนี้ แต่พรรคไทยรักไทยถูกสั่งยุบไปแล้ว พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค5ปี เพื่อจะเอาไปขยายความโจมตีว่า กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม เพราะถูกยุบและถูกตัดสิทธิ์ไปฟรี ๆ โดยอ้างผลฎีกาว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ไม่มีความผิด

เข้าทางพวกทักษิณที่โจมตีกระบวนการยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา

ทั้ง ๆ ที่ศาลฎีกาถูกอัยการตัดตอนไม่มีโอกาสชี้ถูกชี้ผิดในเรื่องนี้

คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก พล.อ.ธรรมรักษ์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 3 ปี 4 เดือน แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่อัยการกลับไม่ฎีกากรณีของ พล.อ.ธรรมรักษ์ คำถามก็คือ ทำไมอัยการไม่ฎีกา ไม่ทราบว่าใช้ดุลพินิจอะไร เพราะกรณีของ พล.อ.ธรรมรักษ์นั้นศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ตัดสินขัดแย้งกันจึงสมควรยื่นฎีกาต่อ

ถ้าหากว่าศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายืนเหมือนกันว่ายกฟ้องจึงจะมีเหตุผลว่าไม่ควรฎีกา

เพราะหลักในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาของอัยการนอกจากดูเหตุผลที่ศาลให้ไว้ในการคำพิพากษา และอัตราโทษที่ศาลได้ลงไว้แก่จำเลยหนักเบาเกินไปหรือไม่แล้ว ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่สังคมได้รับ รวมทั้งความเสียหายที่เกิดแก่สังคมด้วย

ตอนที่อัยการมีคำสั่งฟ้องจำเลยนั้น อัยการย่อมมีความเชื่อเป็นเบื้องต้นว่า จำเลยน่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดจึงมีคำสั่งฟ้องไป เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิดและสั่งให้จำคุก แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยสิ้นเชิงนั้น อัยการก็ควรจะต้องยื่นฎีกาเพื่อให้ศาลในลำดับชั้นที่สูงกว่าได้พิจารณาโทษจำเลยหรือชี้ว่าที่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกแล้วศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนั้น อย่างไหนเป็นคำพิพากษาที่ถูกต้องกันแน่ จะได้สิ้นต่อความสงสัยของสังคม เพราะคดีนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ

ในระเบียบของอัยการนั้นมีอยู่ว่าคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ต้องส่งให้อัยการศาลสูงพิจารณาว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่ทั้งนี้ถ้าอัยการศาลสูงมีความเห็นไม่ฎีกาต้องเสนอสำนวนความเห็นพร้อมเหตุผลขึ้นไปตามลำดับชั้น ซึ่งแสดงว่ามีกฎระเบียบในการตรวจสอบกลั่นกรองการสั่งฟ้องไม่ฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้นจึงอยากจะให้อัยการศาลสูงออกมาเปิดเผยว่ามีเหตุผลอะไรที่สั่งไม่ฟ้องและไม่ยอมยื่นคดีกรณีของพล.อ.ธรรมรักษ์ขึ้นสู่ศาลฎีกา

นอกจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขัดกันแล้ว ในคดีเดียวกันนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญได้หยิบมาเป็นเหตุในการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์การบริหารพรรคด้วย เพื่อความเป็นธรรมกับพรรคไทยรักไทย เพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมในการกระบวนการยุติธรรม ยิ่งจะต้องยื่นฎีกาในกรณีของพล.อ.ธรรมรักษ์ไม่ใช่หรือ

อย่าลืมว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและจำนวนผู้พิพากษาที่ประกอบเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลฎีกามีจำนวนมากกว่าองค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลล่าง การส่งคดีที่มีความเห็นต่างกันระหว่างศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขึ้นสู่ศาลฎีกายังทำให้ศาลได้มีโอกาสในการกลั่นกรองข้อเท็จจริงให้ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ยังเป็นการผ่อนคลายการแสดงความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมและเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ที่สำคัญคดีนี้เป็นคดีร้ายแรงเพราะการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ถ้าการกระทำของจำเลยมีความผิดจริงตามฟ้องย่อมถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งซึ่งการคัดสรรบุคคลเข้ามาบริหารประเทศที่ต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ดังนั้นข้อกล่าวหาในการกระทำผิดของพล.อ.ธรรมรักษ์เดิมพันกันด้วยการเข้าสู่อำนาจรัฐ ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติอย่างกว้างขวาง

ถ้ากรณีส่งให้ศาลฎีกาชี้ขาด แล้วศาลฎีกาตัดสินว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ไม่ผิดจริงและยกฟ้องตามศาลอุทธรณ์ พรรคไทยรักไทยและกรรมการพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์จากเหตุนี้ พวกทักษิณจะได้เอาไปพูดได้เต็มปากว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์เมื่อเกือบ10ปีที่แล้ว ก็ค่อยเยียวยาและหาทางคืนความเป็นธรรมให้เขา

แต่เมื่อศาลฎีกาไม่ได้ตัดสินเพราะกระบวนการยุติธรรมถูกตัดตอนจากการไม่ยอมฎีกาของอัยการ พวกทักษิณจะมาอ้างว่าศาลฎีกาบอกพรรคไทยรักไทยไม่ผิดแต่ถูกยุบพรรคไปแล้วได้หรือ ในเมื่อศาลฎีกาไม่มีโอกาสที่จะชี้ถูกชี้ผิดเพราะอัยการไม่ยอมฎีกา

ที่สำคัญอัยการต้องตอบคำถามสังคมว่า ทำไมไม่ฎีกาในกรณีของ พล.อ.ธรรมรักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น