xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ชี้ยกฟ้อง “บิ๊กแอ็ด” จ้างพรรคเล็ก สะท้อนการทำหน้าที่ศาล รธน. จี้ทบทวนอำนาจองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคคนไทยยกเคสศาลยกฟ้อง “ธรรมรักษ์” จ้างพรรคเล็ก สะท้อนการทำหน้าที่ศาล รธน.สร้างความสับสนมากกว่าไขความจริง จี้ กรธ.ทบทวนอำนาจองค์กรอิสระ ย้ำประชาธิปไตยต้องมี 3 เสาหลักเท่านั้น ไม่ควรให้องค์กรใดมาร้างปัญหาเพิ่มอีก

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตนักการเมือง จากคดีที่พรรคไทยรักไทยถูกกล่าวหาว่า จ้างวานพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ต่อเนื่องมาถึงศาลฎีกา มองได้ว่าพยานหลักฐานในคดีนี้มีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเอาผิดพรรคไทยรักไทยที่ถูกกล่าวหาว่าจ้างวานพรรคเล็ก แต่กลับมีน้ำหนักให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คนไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว ซึ่งสร้างความสับสนอย่างมากในบรรทัดฐานของศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่เป็นผู้จ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัคร และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำให้การของพยานและจำเลยที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

นายอุเทนกล่าวว่า ตรงนี้ก็มีคำถามไปถึงการทำหน้าที่ของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญว่าได้พิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด หรือให้น้ำหนักกับพยานบุคคลเพียงอย่างเดียว ทำให้เราต้องมาคิดว่า หากมีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วเราจะเชื่อมั่นความถูกต้องชอบธรรมได้ขององค์กรเหล่านี้ได้อย่างไร

“อย่าลืมว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเป็นระบบกล่าวหา และให้น้ำหนักกับพยานบุคคล การกล่าวหาพรรคไทยรักไทย จนมีผลให้ถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคนั้น ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้จ้างวานพรรคเล็กเหล่านั้นกันแน่ และอาจมีขบวนการวางยาสร้างพยานเท็จขึ้นมาจากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ถูกกล่าวหาอาจจะกระทำผิดจริงก็ได้”

นายอุเทนกล่าวว่า จากเรื่องนี้จึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรอยู่ภายใต้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 10 ที่ว่าด้วยเรื่องศาล เพื่อขึ้นตรงและเข้าระบบ 3 ศาล คือ ชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ที่มีการยื่นคำร้องต่อสู้เพื่อให้ศาลได้พิจารณาทบทวนตามขั้นตอน ผิดกับศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ที่ถูกวางระบบให้เป็นศาลเดียว ฝ่ายผู้ถูกตัดสินไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อเรามีศาลสถิตย์ยุติธรรมอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแยกออกเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ที่มักถูกมองว่าเป็นศาลการเมืองแต่อย่างใด

นายอุเทนกล่าวว่า พรรคคนไทยยังเชื่อมั่นในทฤษฎี 3 เสาหลัก ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ควรมีองค์กรใดเป็นอิสระจากเสาหลักของประชาธิปไตยเหล่านั้น อีกทั้งตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญปั 2540 ซึ่งมีองค์กรอิสระเป็นต้นมา ก็พบปัญหาจากองค์กรเหล่านี้มากมาย อีกทั้งในขณะที่มีหน้าที่ตรวจสอบผู้อื่น แต่ก็มีการกระทำผิด และถูกกล่าวหาเสียเอง ทั้ง กกต. หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

“เราต้องตระหนักและไม่ควรหลอกตัวเองว่า ประเทศไทยยังไม่พัฒนาถึงขนาดจะมีองค์กรใดมาทำหน้าที่อย่างอิสระ โดยขาดการถ่วงดุลจากองค์กรอื่นๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น