ทุกคนคงทราบกันดีว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้บริการเอทีเอ็มเป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2526 หรือเมื่อ 32 ปีก่อน ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
กระทั่งปี 2541 วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล จับมือธนาคารของไทย 9 แห่งออกบัตรเดบิต “วีซ่า อิเล็กตรอน” ซึ่งใช้รูดซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสด โดยหักจากบัญชีธนาคาร และเบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่รับบัตรวีซ่าต่างประเทศ
โดยมีธนาคารกสิกรไทย ให้บริการบัตรวีซ่า อิเล็กตรอนเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทยอยจำหน่ายผลิตภัณฑ์บัตรเดบิต และยกเลิกจำหน่ายบัตรเอทีเอ็มในที่สุด
ทุกคนคงทราบกันดีว่าธนาคารทุกแห่งใช้บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตระบบแถบแม่เหล็ก แน่นอนว่าย่อมประสบปัญหาถูกคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็ก (Skimming) เพื่อนำไปปลอมแปลงบัตรทำการถอนเงินในบัญชี
กระทั่งมีธนาคารบางแห่ง หันมาใช้บัตรแบบมีชิป (Chip Card) โดยมีธนาคารกรุงเทพ เป็นแห่งแรกที่ออกผลิตภัณฑ์บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท เมื่อปี 2552 โดยนำเทคโนโลยีไมโครชิป EMV ติดลงบนบัตร เพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูล
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ใช้บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ต่างประสบปัญหานำบัตรใบนี้ไปใช้กับตู้เอทีเอ็มธนาคารอื่นไม่ได้ โดยสามารถถอนเงินสด และสอบถามยอดได้เฉพาะตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพเท่านั้น
และนับตั้งแต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีเพียงธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งที่นำไมโครชิปติดลงบนบัตร ได้แก่ ธนาคารธนชาต กับบัตรเดบิตแคชแบก บัตรเดบิตชัวร์, ธนาคารกรุงไทย กับบัตรบลูไดมอนด์ เอ็กซ์ตร้า และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะที่ใช้ระบบแถบแม่เหล็กและชิปการ์ดควบคู่กัน คือ เมื่อตู้เอทีเอ็มไม่รองรับระบบชิปการ์ด ก็ยังสามารถอ่านข้อมูลผ่านแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรได้ อาจเรียกได้ว่ายังเสี่ยงต่อความปลอดภัยอยู่ดี
ภาพ : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ที่ผ่านมา นอกจากธนาคารกรุงเทพที่ปรับปรุงระบบตู้เอทีเอ็มรองรับเทคโนโลยีอีเอ็มวี ตั้งแต่ปี 2552 ก็มีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ตู้เอทีเอ็มรองรับบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบมีชิปตามมาตรฐาน EMV ของมาสเตอร์การ์ด เมื่อปี 2557
ส่วนธนาคารอื่น ที่ขยันออกบัตรเดบิตลายต่างๆ เช่น ลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ ลายสโมสรฟุตบอล ฯลฯ รวมทั้งบัตรเดบิตที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย ประกันสุขภาพ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนมาใช้ไมโครชิปติดลงบนบัตรเลยแม้แต่นิดเดียว
สวนทางกับธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายให้ธนาคารทุกแห่งพัฒนาและออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ให้เป็นระบบชิปการ์ด และจะมีการแก้ไขเครื่องเอทีเอ็มให้รองรับระบบชิปการ์ด โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2559
ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้คัดเลือกบริษัทที่มีความพร้อมด้านการเปลี่ยนระบบบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต และตู้เอทีเอ็มไปใช้ระบบชิปการ์ด ด้วยการสร้างมาตรฐานทีเรียกว่า “ไทย สแตนดาร์ด ฟอร์แมต” (Thai Standard Format)
ปรากฏว่าสมาคมฯ ได้เลือก “ยูเนี่ยน เพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล” (UnionPay International) เครือข่ายผู้ให้บริการบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรายใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้พัฒนาระบบ โดยได้ลงนามความร่วมมือไปเมื่อเร็วๆ นี้
ถึงกระนั้น ก็ยังมีความกังวลว่า การเข้ามาพัฒนาระบบชิปการ์ดของยูเนี่ยน เพย์ จะเข้ากับเครือข่ายบัตรที่คนไทยคุ้นเคยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาในไทยมีผู้ถือบัตรวีซ่ามากที่สุด ส่วนยูเนี่ยน เพย์ เพิ่งเข้ามาทำการตลาดในไทยไม่นานมานี้เอง
ในระยะแรก การเปลี่ยนแปลงระบบบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต ธนาคารอาจผ่อนผันให้ลูกค้าสามารถใช้บัตรใบเดิมทำธุรกรรมผ่านระบบแม่เหล็กได้ และเชื่อว่าธนาคารอาจให้ลูกค้าเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ฟรี หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า
หลังจากนั้น เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง สัก 4-5 ปีข้างหน้า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะปิดระบบแถบแม่เหล็ก หากไม่ได้เปลี่ยนบัตรกับธนาคาร เมื่อนำบัตรไปใช้จะไม่สามารถทำรายการใดๆ ได้ ต้องเปลี่ยนบัตรใหม่อย่างเดียว
ที่สำคัญ พบว่าหลังการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีบัตร ค่าธรรมเนียมรายปีกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 30% แม้ธนาคารจะอ้างได้ว่ามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
จากปกติค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตรายปี 200 บาท แต่บัตรเดบิตบีเฟิสต์ สมาร์ท ธนาคารกรุงเทพ หลังออกผลิตภัณฑ์กลับคิดค่าธรรมเนียมสูงถึง 300 บาท (ปัจจุบันลดค่าธรรมเนียมรายปีเหลือ 200 บาทถึงสิ้นปี 2558)
เช่นเดียวกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หลังการเปิดตัวผลิตภัณฑ์บัตรเดบิต พบว่าค่าธรรมเนียมรายปีคิด 300 บาท แต่ก็พบว่าตัวบัตรได้รองรับเทคโนโลยีการชำระเงินที่เรียกว่า “วีซ่า เพย์เวฟ” เหมือนบัตรเครดิต แต่ไม่รู้ว่าใช้ได้จริงหรือไม่
สิ่งที่ตามมาหลังการใช้บัตรระบบชิปการ์ด คือ การพัฒนาระบบการใช้รหัสพิน (PIN) เพื่อยืนยันตัวตนขณะใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการ จากที่เคยเซ็นชื่อในเซลส์สลิปให้ตรงกับด้านหลังบัตร ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน
เช่น เวลาเราใช้บัตรชำระค่าสินค้า ระบบจะให้เรากดรหัสพิน ที่เราตั้งไว้เพื่อยืนยันตัวตน หากบัตรถูกขโมยหรือสูญหาย แล้วมีบุคคลอื่นนำบัตรไปใช้ เมื่อไม่รู้รหัสพิน ก็ไม่สามารถใช้บัตรใบนี้ชำระค่าสินค้าได้
แม้จะดูเหมือนว่าบัตรแบบชิปการ์ดมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่เอาเข้าจริง บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นแบบแถบแม่เหล็ก หรือแบบชิปการ์ด ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลอยู่ดี
โดยเฉพาะข้อมูลบนบัตร ประกอบด้วยเลขบนบัตร 16 หลัก เดือนและปีที่หมดอายุ (เช่น 01/18) และรหัส CVV อีก 3 ตัว ด้านหลังบัตรบนแถบลายเซ็น หากบุคคลอื่นโดยเฉพาะมิจฉาชีพรู้ตัวเลขเหล่านี้ได้ ก็สามารถนำไปซื้อของออนไลน์ได้
เฉกเช่นที่เคยเกิดกับปั้มแก๊สแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี เมื่อพนักงานเติมแก๊ส สบโอกาสรับบัตรเครดิตจากลูกค้า จดเลขหรือใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปหน้าและหลังบัตร จากนั้นไปซื้อชิปเกมไพ่เท็กซัส และรับจ้างเติมชิปในเกมเพื่อแลกเป็นเงินสด
ที่ผ่านมาเขาทำแบบนี้ได้ประมาณ 3 เดือน มีลูกค้าที่เข้ามาเติมแก๊สได้รับความเสียหายกว่า 30 คน รวมมูลค่ากว่า 2 แสนบาท กระทั่งธนาคารต่างๆ ได้รับแจ้งจากลูกค้าจึงประสานตำรวจสืบสวนและจับกุมได้ในที่สุด
ปัจจุบันมีธนาคารอยู่ 3 แห่งที่ข้อมูลบนบัตรสามารถกรอกข้อมูลเพื่อซื้อสินค้าและบริการทางอินเตอร์เน็ต ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ส่วนใหญ่มักจะใช้ระบบ Verified by VISA ที่ต้องลงทะเบียนก่อน
แต่สำหรับการทำรายการซื้อแอปพลิเคชัน หรือเกมบนสมาร์ทโฟน บางครั้งมักจะไม่ต้องผ่านระบบ Verified by VISA เพราะ App Store และ Google Play มักจะใช้วิธีหักเงินประมาณ 1 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อทดสอบก่อนจะคืนเงินภายหลัง
แม้เทคโนโลยีจะพัฒนามากเพียงใดก็ตาม แต่การใช้บัตรอย่างระมัดระวังก็ไม่ควรมองข้าม ควรเก็บรักษาบัตรเดบิตของเราให้ดีที่สุด เสมือนเก็บเงินสดไว้กับตัว และไม่ควรปล่อยให้บัตรคลาดสายตาระหว่างพนักงานนำบัตรไปทำรายการ
ที่สำคัญ ควรหมั่นตรวจสอบยอดเงินในบัญชีอยู่เสมอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ชั้นนำมีแอปพลิเคชันที่เมื่อเข้าสู่ระบบก็สามารถเช็กยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้ทันที สะดวกสบายกว่าการสอบถามยอดผ่านตู้เอทีเอ็ม
หากพบว่ามียอดเงินน้อยกว่าผิดปกติ และมีรายการซื้อสินค้า (EDC) ที่เราไม่ได้ใช้ ต้องรีบโทรศัพท์แจ้งธนาคารที่ออกบัตรเพื่อตรวจสอบยอดเงินที่หายไปทันที หากพบว่ามีการทุจริตต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ และเก็บเอกสารไว้เป็นหลักฐาน
“รีเดมชัน” แลกแต้มทั้งฟรี-ลด เทรนด์ฮิตเศรษฐกิจซบ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ภาคธุรกิจมักจะนำมาใช้อย่างหนึ่ง คือ การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM : Customer Relationship Management) เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ และช่วยแบรนด์สร้างฐานลูกค้าให้มั่นคง โดยเครื่องมือที่นำมาใช้อย่างหนึ่ง คือโปรแกรมสะสมคะแนน ทั้งในรูปแบบบัตรสมาชิกที่ให้ส่วนลดพิเศษเฉพาะผู้ถือบัตร หรือสะสมคะแนนจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เพื่อแลกรับส่วนลด คูปองแทนเงินสด หรือของสมนาคุณต่างๆ บัตรสมาชิกเหล่านี้ พบได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ หรือบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องใช้บัตรสมาชิก สามารถทำรายการผ่านร้านค้า เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นได้ ในระยะหลังๆ มักจะมีการผนึกกำลังของร้านค้าและสถานบริการมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการสะสมคะแนนเพียงแค่บอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ใช้สมัครสมาชิก แทนการแสดงบัตรสมาชิกเพื่อสะสมคะแนน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจโลก ทำให้กำลังซื้อลดลง พบว่ามีลูกค้าใช้วิธี รีเดมชัน (Redemption) หรือแลกคะแนนจากบัตรสมาชิกเพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ธรรม์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าว่า ลูกค้านิยมรีเดมชัน (Redemption) เพราะมองว่าคุ้มค่าในการใช้จ่าย ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีซึ่งเป็นฤดูกาลขาย บรรยากาศการจับจ่ายคึกคักขึ้น เป็นโอกาสของบัตรสมาชิกที่จะต่อยอดทำการตลาดกระตุ้นยอดขาย และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ จากความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์ ส่วนลด โปรโมชั่น กิจกรรมพิเศษ “ลูกค้ารู้จักการใช้คะแนนสะสมมากขึ้น ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว การแลกคะแนนเพื่อซื้อสินค้าจึงมีเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ รวมถึงการนำมาแลกรับสิทธิพิเศษในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคูปองเงินสด หรือแลกรับเป็นของสมนาคุณ” พูดถึงเรื่องนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัว โดยปกติแล้วห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ทุก 800 คะแนน แลกรับคูปองเงินสด 100 บาท แต่ห้างสรรพสินค้าบางแห่งให้นำคะแนนสะสมแลกคูปองส่วนลด ตั้งแต่ 10-40% ตัวอย่างเช่น รองเท้าราคา 3,000 บาท เรามีคะแนนสะสม 800 คะแนน หากเราแลกคูปองเงินสดมาแล้ว จะซื้อได้ในราคา 2,900 บาท แต่ถ้านำไปแลกคูปองส่วนลด 40% จะสามารถซื้อได้ในราคา 1,800 บาทเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแผนกจะร่วมรายการหรือไม่ หรือหากร่วมรายการให้ส่วนลดสูงสุดเท่าไหร่ ควรสอบถามพนักงานขายก่อนตัดสินใจ เพราะบางแผนกหรือบางแบรนด์อาจให้สูงสุดแค่ 20-30% ก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแลกคะแนนเป็นส่วนลดจะช่วยให้ประหยัดมากขึ้น แต่ก็ควรระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการใช้จ่ายเกินตัว ยิ่งชำระด้วยบัตรเครดิต หากความสามารถในการชำระคืนไม่เพียงพอ ก็อาจประสบปัญหาทางการเงินได้. |