xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่าอายระดับจักรวาล

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

ย้อนกลับไป 46 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2512 เป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องถูกจารึกไว้ว่าเป็นวันที่มนุษยชาติได้ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ก็ต้องยอมรับละครับว่าสมัยนั้นไม่ได้ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ เอาแค่ระบบภาพยังเป็นเพียงแค่ระบบขาวดำอยู่เลย แถมภาพก็ไม่ไดคมชัด ไม่มีระบบไฮเดฟให้ดู และที่สำคัญสัญญาณสดก็ไม่ได้เรียลไทม์เหมือนสมัยนี้อีกด้วย

ตอนนั้นชาวโลกต่างตื่นเต้นและติดตามข่าวนี้กันอย่างใกล้ชิด ประเทศไทยเองแม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีการถ่ายทอดสดเหตุการนี้ ด้วยช่อง 4 บางขุนพรหม หรือช่องเก้าโมเดิร์นไนน์ทีวีในปัจจุบัน ผมเคยอ่านเจอว่าตอนนั้นทีมงานที่เชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดนั้นมีกันอยู่ไม่กี่คน และใช้วิธีผลัดกันนอนเฝ้าหน้าจอเกาะติดสถานการณ์ จนกว่าจะถึงเวลาที่ยานอวกาศจะลงจอด และทำให้เราทุกคนยังคงจำประโยคอำมตะของนีล อาร์มสตอร์งได้ดีอย่าง “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์(คนหนึ่ง)

หลังจากนั้นมาวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ก็มีการวัฒนากันอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีการส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร ส่งหุ่นยนตร์ลงไปเก็บข้อมูลบนดาวต่างๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาก็มีการถ่ายทอดสด ผ่านยูทูปกับภารกิจการเข้าใกล้ดาวพลูโตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

สำหรับดาวพลูโต เดิมเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในระบบสุริยะถัดจากดาวเนปจูน ถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยนักดาราศาตร์ชื่อ ไคลน์ ทอมบอ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2473 ท่ามกลางการถกเถียงว่าดาวดวงที่อยู่ไกลที่สุดของระบบสุริยะนี้ เหมาะสมที่จะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการค้นพบอีริส วัตถุในแถบหินกระจาย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพลูโต 27% ทำให้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ได้จัดการประชุมในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ที่ประชุมมีการกำหนดนิยามของดาวเคราะห์ และในที่สุด มีมติปลดดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และให้ถือว่าดาวพลูโตเป็นเพียง "ดาวเคราะห์แคระ" เนื่องจากดาวพลูโตไม่สามารถควบคุมแรงดึงดูดและวงโคจรของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบสุริยะ ทั้งนี้ดาวพลูโต มีดวงจันทร์บริวารอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 ดวง ประกอบด้วย ชารอน ไฮดรา นิกซ์ สติกซ์ และเคอร์เบอรอส

เรียกง่ายๆว่าหลุดวงโคจรของดาวอื่นๆในระบบสุริยะจักรวาลแถมยังโดนลดขั้นอีกต่างหาก

หลังจากนั้น นาซ่าส่งยานสำรวจนิวฮอไรซันส์ขึ้นไปสำรวจระหว่างดาวเคราะห์ซึ่งปล่อยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ วันที่ 14 กรกฎาคม 2558  โครงการนิว ฮอไรซันส์  ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวพลูโตแบบชัดแจ๋วออกมาให้เห็นกันเป็นครั้งแรก เผยให้เห็นภูมิประเทศรูปหัวใจบนดาวได้อย่างชัดเจน

                ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ยานนิว ฮอไรซันส์ บันทึกได้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่นิว ฮอไรซันส์ กำลังเดินทางอยู่ห่างจากดาวพลูโตที่ระยะห่าง 768,000 กิโลเมตร นับว่าเป็นภาพถ่ายโฉมหน้าดาวพลูโตแบบชัดแจ๋วมากที่สุดในขณะนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มนุษย์ไม่เคยรู้เลยว่าพลูโตมีลักษณะหน้าตาเป็นแบบไหน

                อย่างไรก็ดี นิว ฮอไรซันส์ โคจรเฉียดดาวพลูโตในระยะที่ใกล้ที่สุดที่ 12,500 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาว และได้บันทึกภาพพื้นผิวดาวที่ละเอียดยิบเอาไว้แล้ว แต่ตอนนี้ ภาพถ่ายที่บันทึกได้ในระยะใกล้ที่สุดยังไม่ได้รับการประมวลผล

การถ่ายทอดสดผ่านยูทูปครั้งนี้หลายคนตื่นเต้นกันมาก แถมมีบางคนที่สังเกตเห็นภาพหัวใจบนดาวพลูโต จนมีการสร้างแฮชแท็ก #letter from pluto ขึ้นมาเลยทีเดียว ก็เรียกว่าเป็นสีสันความน่ารักในวันค้นพบสิ่งใหม่ๆก็แล้วกันครับ

ปฎิบัติการของนิว ฮอไรซันส์ ครั้งนี้ เป็นผลงานระดับโลก มีการตอบคำถาม ตอบข้อสงสัยกันสดๆระหว่างทีมงานของนาซ่า และผู้ที่กำลังดูถ่ายทอดสดด้วย นี่เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหลายศาสตร์หลายสาขาของมวลมนุษยชาติ ที่ก้าวหน้าไปไกลกว่เมื่อมีการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ในปี 2512 มากเลยทีเดียว

แต่มีเรื่องน่าเศร้า เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้อพูดถึงบรรดานักเลงคีย์บอร์ดชาวไทย ที่เข้าไปป่วนการตอบคำถามและการถ่ายทอดสดหนนี้ ด้วยคำพูดที่หยาบคาย หรือภาพที่ไม่เหมาะสม ช่างไม่รู้อะไรควรไม่ควร อะไรเป็นเรื่องจริงจัง เล่นเอาคนไทยได้อายไกลไปถึงดาวพลูโตเลยทีเดียวละครับ งานนี้ต้องขอบอกเลยว่ามันสะท้อนคุณภาพวุฒิภาวะความคนองมักง่ายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนไทยบางคน

แหม มันไม่ใช่น่าอายในระดับโลกนะครับ แต่มันอายไปทั้งจักรวาล ขายหน้าไปถึงเอเลี่ยนหรือมนุษย์ต่างดาวถ้าพวกเขามีอยู่จริงและแปลภาษามนุษย์ได้

งานนี้ประจานตัวเองให้โลกเห็นอย่างน่าอับอายขายขี้หน้า สังคมไทยต้องให้ความรู้กติกามารยาท และมีกฎหมายในการใช้เทคโนโลยี่การสื่อสาร ในโลกไซเบอร์ ทั้งในระบบการศึกษา ครอบครัวและสังคม ไม่ให้ชาวโลกเขาหยามว่า มีลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน
กำลังโหลดความคิดเห็น