xs
xsm
sm
md
lg

คนไทย กับกรณีอุยกูร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: บัณรส บัวคลี่

โดยส่วนตัว แม้จะเห็นด้วยกับรัฐบาล มองว่ารัฐบาลตัดสินใจเลือกทางที่เจ็บตัวน้อยที่สุด ในภาวะที่แทบไม่มีทางเลือกแบบนี้ แต่ผมก็เห็นด้วยที่ต้องมีการออกมาคัดค้านไม่พอใจ และก็รับได้กับคนที่มีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ด้วยอุดมการณ์แท้ๆ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลส่งชาวมุสลิมอุยกูร์ชาย 109 คนกลับไปให้ปักกิ่งลงโทษ เช่นเดียวกับหากมีพระภิกษุในศาสนาออกมาแสดงความสงสารขอบิณฑบาตคนเหล่านี้ ก็นี่ควรจะเป็นบทบาทของสงฆ์มิใช่หรือ

สังคมแบบเปิดควรมีที่ทางให้กับผู้ที่มีความเชื่อและอุดมคติอย่างใดอย่างหนึ่งไว้บ้าง ในสังคมหนึ่งๆ มันต้องมีกลุ่มนักอุดมคติ อุดมการณ์ หรือมีจุดยืนเฉพาะที่หลากหลายเข้าไว้ ไม่ใช่หากตรงกันข้ามกับเราก็ต้องเป็นศัตรูกันเท่านั้น สังคมประชาธิปไตยน่ะเขาเปิดให้มีกว้างๆ ยกเว้นแต่สังคมเผด็จการแบบเลือกตั้งสลับทหารตั้งนี่แหละ ที่มวลชนไม่สนว่าใครฝ่ายไหนคิดยังไง ถ้าต่างจากกูเป็นอันต้องรบกัน

ปัญหาการส่งกลับอุยกูร์ไม่ได้มีแค่มิติสิทธิมนุษยชน เพราะโลกใบจริงของมหาอำนาจมันไม่ง่ายขนาดนั้น ที่แท้ยังมีมิติความมั่นคง การจัดความสัมพันธ์กับมหาอำนาจสองฝ่ายเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นผลการดำเนินการของรัฐบาลจึงออกมาแปลกๆ แยกส่งให้ฝ่ายโน้นกลุ่มและฝ่ายนี้กลุ่ม แบบพยายามรอมชอมแล้วแต่สุดท้ายก็ไม่วายเจ็บตัวอยู่ดี

อุยกูร์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยอกย้อน และพัวพันกับเรื่องอื่นอีกหลายมิติ บทความนี้จะไม่ย้อนไปเล่ารายละเอียดที่มาที่ไป ข้อกังวลของจีนเรื่องการแยกดินแดนและการก่อการร้าย ตลอดถึงข้อสังเกตว่ามีมหาอำนาจตะวันตกมาพัวพันกับความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ปัญหาในซินเจียงไม่ใช่มีคู่ขัดแย้งแค่รัฐบาลปักกิ่งกับประชากรมุสลิมอุยกูร์เท่านั้น หากยังมีผลประโยชน์และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจซ้อนทับอยู่ ฯลฯ เพราะหลายวันมานี้มีสื่อที่เขียนถึงมากมาย ครอบคลุมดีอยู่แล้วสรุปแค่ว่ามันมหาอำนาจเขาก็ใช้อุยกูร์เป็นเวทีซัดกันด้วย

บทความนี้ จะไม่เน้นเล่าเรื่องที่มาที่ไปของบ้านเขา แต่จะเน้นที่การย้อนกลับมาดูตัวเรา...เป็นสำคัญ!

ประเด็นแรก – อุยกูร์เป็นอีกสัญญาณเตือนว่าการประลองกำลังงัดข้อระหว่างมหาอำนาจใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ ใกล้ระดับที่เราชิ่งหนีไม่ได้ ถูกลากไปร่วมพัวพัน ระดับถูกลูกหลงพอเจ็บตัว หรือถ้าหลักไม่ดีอาจจะถูกจับให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งไปเลย การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจโลกตอนนี้เป็นสงครามที่ไม่ประกาศ ทั้งสงครามเศรษฐกิจ สงครามไซเบอร์ สงครามสื่อและความชอบธรรม สงครามทรัพยากรและพลังงาน ยังขาดก็แต่การรบจริงๆ เท่านั้น ทะเลจีนใต้ร้อนขึ้นมาทุกขณะ แล้วก็เป็นประเด็นใกล้ตัวเพราะเพื่อนบ้านอาเซียนของเราก็เป็นคู่ขัดแย้งด้วย เราจะซื้อเวลาไม่แสดงท่าที ขอเป็นกลางเรื่อยๆ แบบที่เป็นอยู่ได้นานขนาดไหน

ประเด็นที่สอง – ความเน่าในของประเทศเรา ระดับที่แตะตรงไหนก็เน่าตรงนั้นมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของคนรุ่นเรา ปล่อยไว้ไม่ได้ประเทศจะพังเสียก่อนจะส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป ลองย้อนไปดูสิครับ เรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดในหลายเดือนมานี้ล้วนมาจากความเน่าในของระบบทั้งนั้น เริ่มจากประตูบ้านเลย ด่านตม.และศุลกากร ขนาดปล่อยคนใหญ่คนโตพกปืนขึ้นเครื่องบิน ด่านชายแดนทั้งหมดไม่เรียกว่าด่านเพราะพม่า ไทใหญ่ โรฮิงยา อุยกูร์ผ่านได้หมด เมืองท่องเที่ยวมีแต่มาเฟียต่างชาติมาทำมาหากิน ระบบความปลอดภัยและการยุติธรรมสอบตกไปนานแล้ว คดีเกาะเต่าเรื่องใหญ่แท้ๆ แต่พยานหลักฐานหาย ฯลฯ ปัญหาอุยกูร์เกิดขึ้นได้ก็เพราะเราปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำคนเข้าประเทศ แบบเดียวกับโรฮิงยาเลย เพราะฉะนั้นการกลับมากวาดบ้านตนเอง ให้ระบบของสังคมทำงานอย่างตรงไปตรงมาเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก มันจำเป็นต้องแก้ในระดับปฏิรูปใหม่

ประเด็นที่สาม – กรณีอุยกูร์สะท้อนความไม่ปกติของผู้คนในสังคมไทย บางคนไม่เชื่อและศรัทธากับหลักสิทธิมนุษยชนอะไรหรอก ตอนที่เขาชุมนุมเป่านกหวีดมีระเบิดลงคนเจ็บตายยังประกาศสะใจสมน้ำหน้า แต่พอเป็นเรื่องที่ซัดใส่รัฐบาลที่ตนไม่ชอบหน้าได้ก็สิทธิมนุษยชนจ๋าขึ้นมา บางคนโหมประโคมหวังให้ประชาคมอิสลามมาเป็นศัตรูกับประเทศตนเอง ในทางกลับกัน ฝ่ายที่หนุนรัฐบาลส่งคนกลับให้จีนก็จะเชียร์แล้วเชื่อทุกข่าวสารที่อีกฝ่ายปล่อยมา ทั้งๆ ที่ในจำนวนคนที่ถูกส่งกลับนั้นมีคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายใดๆ ก็มี การหลบหนีออกมาเป็นเพราะแรงกดดันจากรัฐบาลกับชุมชนคนมุสลิมเจ้าถิ่นที่เรื้อรังมานานจริงๆ การแสดงออกหนุนเสริมเหมือนกับปราศจากความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ก็เรื่องหนึ่งแล้ว และจะน่าสลดมากหากในอนาคตมีรัฐบาลที่เขาไม่ชอบตัดสินใจยอมตามแรงบีบของมหาอำนาจลักษณะคล้ายกันแล้วพวกเขาออกมาต่อต้านโดยอ้างมนุษยธรรม ปัญหาอุยกูร์สะท้อนความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองที่อยู่เหนือเหตุผลตลอดถึงหลักการหรืออุดมคติใดๆ ที่ยังไม่คลี่คลายลงสักเท่าไร

ประเด็นที่สี่ – โลกใบจริงไม่มีอะไรที่ขาว-ดำสนิทหรอกครับ การจัดการชนกลุ่มน้อยของจีนเองก็มีปัญหา ไม่ใช่แค่ที่ซินเกียง แต่เป็นไปทั่ว ชาวทิเบตเองเขาก็อึดอัดและไม่ชอบพวกคนฮั่น เราอยู่ตรงนี้ ติดตามข้อมูลจากสื่อต่างๆ ช่องทางห่างบ้างใกล้บ้าง กรณีลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องจะไปเทคไซด์รับรองว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด จะว่าไปแล้วมันก็คือความขัดแย้งใหญ่ของขาใหญ่ ที่ไม่ใช่เรื่องอะไรเลยที่เราจะมองแบบกองเชียร์ ฝ่ายนี้ถูกฝ่ายโน้นผิด มองผลกระทบและผลประโยชน์ของบ้านเราเป็นสำคัญ-พยายามทำความเข้าใจทุกฝ่าย โลกมันแคบลง เรื่องของคนอื่น เรื่องของใหญ่ที่จะลามมาถึงเรา มีอีกแน่ๆ

ประเด็นที่ห้า– เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์บอกว่าชาติตะวันตกยังผูกขาดนิยามความหมายของการก่อการร้ายอยู่ในมือ มันเป็นตลกร้ายของการเมืองระหว่างมหาอำนาจ

คืองี้ครับ..., นับจากเหตุการณ์ 911 ระเบิดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2001 ชาติตะวันตกได้สถาปนาคำว่า “การก่อการร้าย” นิยามความหมายของมันขึ้นมาใหม่กลายเป็นศัตรูร่วมตัวฉกาจของชาวโลก ในขณะนั้นสงครามเย็นยุติลงไปนานแล้วเหลือแต่อเมริกาเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียว มีแต่พระเอกไม่มีผู้ร้าย จนกระทั่งเกิดมีผู้ร้ายตัวยงนามว่าผู้ก่อการร้ายขึ้นมา มหาอำนาจจึงได้คำๆ นี้เป็นข้ออ้างในการก่อสงครามรุกรานประเทศต่างๆ ไม่เว้น และยังได้สิทธิ์ในการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนเช่นการดักฟังโทรศัพท์อีกด้วย ชาติเล็กๆ แบบไทยรวมถึงชาติอื่นๆ ล้วนแต่ถูกบีบให้เล่นกับผู้ร้ายตัวใหม่ มีกฎหมายว่าด้วยการปราบปราม/ต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นมา ซึ่งมันก็มีคนที่เขามองว่าที่แท้ชาติมหาอำนาจหาช่องทำสงครามบุกรุกไปกอบทรัพยากรและพลังงานของชาติอื่นเสียล่ะมากกว่า ทั้งยังสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ก็ได้ในนามของการปราบปรามการก่อการร้าย

สำหรับชาติตะวันตก หากมีผู้ใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายจะถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวด เอาจริงมาก แต่สำหรับกรณีอุยกูร์นี่กลับตาลปัตร เพราะชาติตะวันตกไม่ยอมรับคำนิยามที่รัฐบาลจีนพยายามโยงชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยเรียกพวกนี้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมาก่อนแล้ว โดยชาติตะวันตกพร้อมใจกันชี้ว่านี่เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

ประเด็นที่ห้านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย ก็มันเป็นการชิงไหวพริบการต่อสู้นิยามความหมายด้วยการสื่อสารกันระหว่างมหาอำนาจ แต่ที่สุดแล้วเรื่องบ๊องๆ แบบนี้มันอาจจะมาถึงตัวเราได้ในวันใดวันหนึ่ง

การละเมิดสิทธิมนุษยชนแท้ๆ อาจจะกลายเป็นถูกต้องได้รับคำชมเชยว่าเป็นการปราบปรามการก่อการร้าย ส่วนการปราบการก่อการร้ายแท้ๆ ก็อาจจะถูกชี้ว่าละเมิดมนุษยชนได้เช่นกัน จะเป็นแบบไหนนั้น ชาติเล็กๆ ไม่มีสิทธิ์กำหนด คนที่จะกำหนดคือชาติใหญ่เท่านั้น นี่คือการเมืองของโลกใบจริงที่เราต้องรู้ไว้.
กำลังโหลดความคิดเห็น