xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจที่ 4

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

“ประชาชนไม่ใช่กลุ่มอำนาจที่ 4 นะครับ มี 3 อำนาจที่คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ใช่ไหมครับ ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจ ผ่านการเลือกผู้แทนของท่าน นั่นล่ะคืออำนาจของท่านอยู่แล้ว ท่านเลือกคนเข้ามาถ้าเลือกไม่ดี นั่นล่ะ ท่านใช้อำนาจในทางที่ผิด ท่านเลือกดี เขาก็ดูแลท่านดี บ้านเมืองก็เจริญไปข้างหน้า นั่นล่ะการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง” - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รายการคืนความสุขให้คนในชาติ 29 พ.ค. 2558

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ผิดอะไรตรงไหน ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจมีหลายแง่มุม ท่านหยิบเฉพาะมุมของท่านมา ยังไงก็ไม่ผิด แต่อย่างไรตามก็ไม่ได้หมายว่าจะถูกทั้งหมดด้วยเพราะอำนาจประชาชนจะเป็นอำนาจที่เท่าไหร่ก็ตามมันมีอยู่จริง ขึ้นกับเลือกวิธีมานำเสนอต่างหาก... ท่านพูดในวาระที่เอ่ยถึงการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้มันตีความได้ว่าท่านส่งสัญญาณให้รื้อบทบัญญัติอะไรต่างๆ ที่เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนหรือเปล่า?

คำพูดของท่านมีน้ำหนักอ้างอิง ตอนนี้แม่น้ำสายต่างๆ กำลังทิ้งบอมบ์อยู่บนเวทีปรับแก้ไขร่าง รธน.อยู่ ดีไม่ดีอาจจะถูกยกขึ้นมาเพื่อหาเรื่องขอปรับแก้เนื้อหาสาระในหมวดของสิทธิหน้าที่เสรีภาพของประชาชนพลเมืองซึ่งเขียนไว้ก้าวหน้ากว่าฉบับก่อนๆ น่ะสิครับ!

แก้อะไรก็แก้ไปเถอะครับ แต่ขอให้เลือกแก้หน่อย...ร่าง(แรก)ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้หล่อสวยเลย ติดจะขี้ริ้วด้วยซ้ำ แต่ก็ใช่ว่าดูไม่ได้เสียทั้งหมด ส่วนดีๆ ก็มีอยู่ และออกจะน่าเสียดายมากหากว่ามันจะถูกตัดทอนไป

รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนพลเมืองมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ภาพรวมของฉบับนี้ทั้งฉบับที่ออกจากเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายประจำคือข้าราชการเทคโนแครตชนิดที่ค่อนข้างน่าเกลียด ควรจะปรับลดทอนลงและคงรักษาความก้าวหน้าในภาคส่วนอำนาจประชาชนไว้ ปมปัญหาก็คือ หากประชาชนมีดุลอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม ก็คือมีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเข้มข้นขึ้น ฝ่ายที่เดือดร้อนจะมีทั้งข้าราชการประจำ นายทุน และนักการเมืองซึ่งเคยยิ่งใหญ่มาก่อน

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มองว่าที่ผ่านๆ มา ราชการ นายทุน และนักการเมือง คิดจะผลักดันโครงการอะไรก็ทำกันง่ายๆ เขาให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็จ้างพวกเดียวกันยกเมฆข้อมูลลวกๆ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ กมธ.จึงได้กำหนดเงื่อนไขการทำ EIA ให้เข้มงวดขึ้นเช่นให้มีเอเยนต์ที่เป็นกลางร่วมพิจารณา ปรากฏเสียงคัดค้านระงมและมีการเสนอแก้ไข

หรือบทบัญญัติที่กำหนดให้มีสภาพลเมืองเป็นที่รวมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อได้ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของภาครัฐ ลองนึกจินตนาการดู ใครจะทำโครงการอะไรกี่บาทก็ต้องมีสำเนารายงานให้ประชาชนทราบโดยไม่ต้องเรียกหา ใครได้สัมปทานอะไรไป ให้แจ้งต่อสภาของประชาชน จากเดิมที่ทำกับงุบงิบๆ บางเรื่องประชาชนอยากรู้ขอดูยังไม่ได้ ต้องร้องเรียนอุทธรณ์เสียเวลามาก รวมไปถึงการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น ฯลฯ

บทบัญญัติลักษณะนี้ ที่แท้คือการเพิ่ม “ดุล” อำนาจให้กับประชาชน!

อำนาจที่ 4 จึงมีความหมายตามนัยนี้...ไม่ใช่เรียกร้องอยากได้ไม้ตะบองไปฟาดฟันเอง อะไรเลย!

อำนาจของประชาชนน่ะ มีอยู่แน่นอนทั้งตามทฤษฎีและตามข้อเท็จจริง แม้กระทั่งความเห็นพ้องของประชาชนก็มีอำนาจกำหนดตัดสินใจของรัฐ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานในรัฐธรรมนูญที่แท้ก็คือบทบัญญัติรับรองดุลอำนาจของประชาชน

จะมาอ้างอำนาจทั้งสามของมองเตสกิเออแล้วสรุปว่าประชาชนไม่มีอำนาจไม่ได้ ประชาชนไม่ใช่อำนาจที่ 4 ก็ไม่เป็นไรครับ ...ขอเป็นอำนาจที่ 5 -6 -7 ก็ได้... แต่ท่านต้องยอมรับว่าประชาชนพลเมืองเป็นกลุ่มพลังอำนาจสำคัญที่ “ควรจะมี” ดุลอำนาจในบ้านเมืองนี้ เพราะนอกจากเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย (ก่อนจะแบ่งให้ฝ่ายต่างๆ ไปใช้อำนาจแทนแล้ว) ในระหว่างนั้นประชาชนก็ยังมีอำนาจในการต่อรอง ตรวจสอบ ร่วมรับรู้ตลอดเวลา

คือถ้าจะอ้างว่าประชาชนไม่ใช่อำนาจที่ 4 แล้วมาโยงมั่วๆ บอกว่าถ้าอย่างนั้นประชาชนมีอำนาจแค่ตอนหย่อนบัตรเลือกตั้ง อำนาจเสนอถอดถอน อำนาจฟ้องร้องเอง อำนาจเสนอกฎหมาย อำนาจลงประชามติตามที่รัฐบาลยื่นให้มา เป็นจบแค่นี้ ...

ถ้าอย่างนั้นอย่าอุตริใช้คำว่าปฏิรูปอะไรเลยครับ มันเสียเวลา!!!

ยุคนี้เป็นยุคทหารปกครอง ทหารรัฐประหารเข้ามามีอำนาจจากสถานการณ์ไม่สงบ จะด้วยบังเอิญหรือเจตนาสร้างสถานการณ์อะไรก็ว่ากันไป...แต่ท่านต้องอย่าลืมว่า ถึงที่สุดแล้วระบอบที่กำลังปกครองประเทศอยู่มันมีระยะเวลาของมัน ต่อให้ทู่ซี้อยู่นานไปไม่ได้มันจะพังกันไปทั้งหมด ดังนั้นประเทศชาติหลังจากนั้นต้องมีระบบที่ดีที่ให้สามารถเดินต่อไปได้

ความคิดแบบข้าราชการประจำ ทั้งทหารตำรวจเทคโนแครตข้าราชพลเรือนที่เขาเรียกรวมๆ กันว่า อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic polity) ที่มุ่งเน้นการสร้างกลไกป้องกันตนเองและถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง ความคิดแบบนี้สะท้อนผ่านลงมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างชัดเจน มันจึงเป็นความย้อนแย้งพิลึกพิกลตั้งแต่ชั้นหลักการ กล่าวคือ ปีกหนึ่งที่ก้าวหน้ามากคือความคิดเพิ่มอำนาจให้ประชาชนพลเมือง ขณะที่ปีกหนึ่งยังมุ่งจะสร้างอำนาจให้กับฝ่ายประจำจนล้นไป รูปธรรมดูได้จากหมวดส.ว.ที่มีบทบาทอำนาจมากกว่าฉบับก่อนหน้าทั้ง 40 / 50 ซึ่งที่สุดแล้วมันก็ยังจะไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งเดิมๆ ที่มีอยู่ เพราะว่าอำนาจของฝ่ายประจำตั้งอยู่บนโครงสร้างราชการแบบรวมศูนย์ ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งจำเป็นต้องกระชับการรวมศูนย์

ผมคิดว่าหากจะยืนยันในการให้ข้าราชการประจำเป็นพระเอกตามโมเดลนี้ต่อไป คู่ขัดแย้งหลักของอำมาตยาธิปไตย (ที่แปลว่าข้าราชการประจำแบบรวมศูนย์เป็นพระเอก) ในอนาคตจะไม่ใช่นักการเมืองแล้ว หากแต่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายประชาชนโดยตรงมากขึ้น เพราะประชาชนคนไทยนั้นเติบโตขึ้นมาก ไม่เหมือน 10 หรือ 20 ปีก่อนหน้า

ผมไม่ทราบรายละเอียดการฟาดฟันกันในเวทีต่อรองปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรอกครับว่าฝ่ายไหนกลุ่มไหนเสนอแก้อะไรบ้าง แค่ดูจากคำสัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้องแต่ละคน ดูคำพูดของนายกฯตู่ ดูการแสดงออกของอ.บวรศักดิ์ ก็พอจะเดาได้ว่าเวทีต่อรองตรงนั้นกำลังดุเดือดขนาดไหน และอาจจะพาดมาถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจของฝ่ายประชาชนโดยตรง

ชื่อคอลัมน์นี้ตั้งว่า “ในนามพลเมือง” ใช้มาเกือบ 10 ปีแล้ว คำว่า พลเมือง มาจาก “พละ” ของเมือง อันหมายถึงประชาชนที่กระฉับกระเฉงตื่นพร้อมจะเป็นกำลังของเมืองหรือของสังคมได้ ถ้าจะแปลงเป็นภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่ citizen เฉยๆ ต้องเป็น Active citizen ด้วยจึงจะเป็นประชาชนที่เป็น “พละ” ของเมืองจริงๆ .... การถกเถียงกันว่าจะตัดหรือไม่ตัดคำว่าพลเมืองเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยครับ จะใช้คำไหนก็ได้แต่ต้องมีบทบัญญัติที่เกื้อหนุนให้ประชาชนที่มีความพร้อมมีพลังมีความสนใจใคร่รู้ได้เข้ามามีส่วนแบกรับบ้านเมืองในฐานะประชาสังคมด้วย เรื่องนี้วงวิชาการตะวันตกเขาก็ยอมรับบทบาทของ civil society แล้วบทบาทดังกล่าวก็ไม่ใช่ “อำนาจที่4” ที่ไปแย่งการทำงานของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ของมองเตสกิเอออะไรเลยแม้แต่น้อย

ในนามของพลเมืองคนหนึ่ง ขอยืนยันกับท่านผู้มีอำนาจในแม่น้ำทุกสายอีกครั้งว่า ทางออกของประเทศชาติระยะยาวไม่ใช่การเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายประจำไปดุลอำนาจกับฝ่ายการเมือง หากแต่ต้องเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนเท่านั้น

และคำว่าเพิ่มอำนาจก็ไม่ใช่ให้ไปบริหารเอง ออกกฎหมายเอง หรือตัดสินคดีอะไรเอง เพิ่มอำนาจในที่นี้คือทำให้ดุลอำนาจของภาคประชาชนมีพลังที่แท้จริง สิทธิเสรีภาพไม่ถูกบิดเบือน อยากรู้ว่าใครได้สัมปทานหรือได้โควตาล็อตเตอรี่แต่ไม่ให้รู้แบบนั้นต้องไม่ให้เกิดอีกต่อไป ทำประเทศให้เป็นประเทศเปิดที่โปร่งใสจริงๆ เอาธรรมาภิบาลมาใช้ให้ได้จริง และลงโทษคนโกงจริงไม่ว่าพวกนั้นจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการทหารตำรวจ!

ที่ผ่านๆ มาเราอ้างอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน แต่ในทางปฏิบัติมีแต่ผู้ใช้อำนาจทั้งสาม โดยแทบตัดตอนประชาชนเจ้าของอำนาจออกไป ข้าราชการประจำนี่แหละตัวดีที่ช่วยนายทุนและนักการเมืองบิดเบือนคอยฉุดรั้งดุลอำนาจของประชาชนไว้ เขาให้ประชาชนร่วมรับรู้ พวกก็ออกระเบียบการมีส่วนร่วมแบบปลอมๆ พอเป็นพิธี เขาให้ประชาชนรับทราบพวกก็ดองเรื่องแช่ไว้ไม่ให้รู้

รัฐธรรมนูญนี้ควรจะทำให้ดุลอำนาจของประชาชนมีจริงขึ้นมาจริงๆ ให้เป็นอำนาจที่ 4 ในโครงสร้างอำนาจ หรือถ้าตะขิดตะขวงไม่ตรงกับที่ท่องจำมา เรียกเป็นอำนาจที่ 5 หรืออำนาจที่ 28 ก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนมีอำนาจจริงๆ

มันจะเกิดการปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่จริงๆ และเป็นทางออกจริงๆ

ส่วนการเพิ่มอำนาจฝ่ายประจำ ให้ข้าราชการเป็นใหญ่กว่าใครเขาที่สุดแล้วจะเป็นแค่ปฏิรูปปลอมๆ และจะเป็นทางตันในบั้นปลาย... ขอพูดตรงๆ ด้วยความปรารถนาดีกับทุกฝ่าย... ในนามของพลเมืองคนหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น