xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการพระศาสนาอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ฟังข่าวสารมากมายในรอบสัปดาห์มีแนวคิดข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงหรือปฏิรูปการพระศาสนาแตกต่างกันไปแล้วแต่ละมุมมอง สะท้อนกระแสอารมณ์ความนึกคิดของสังคมอยู่พอสมควร

ฝ่ายที่เป็นเสรีนิยมมากๆ เสนอให้แยกศาสนาออกจากรัฐไปเลย คงจะทำนองเดียวกับฝรั่งเศสคือศาสนากับรัฐไม่ผูกพันกันในเชิงโครงสร้าง ข้อเสนอตามแนวทางนี้ก็คือ รัฐไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวอะไรสงฆ์ก็บริหารกิจการของตนไปตามข้อกำหนดพระธรรมวินัย ถ้าทำไม่ดีปฏิบัติไม่ชอบคนก็ไม่ศรัทธา แล้วก็คงเจ๊งกะโบ๊งกันไปตามกฏแห่งกัมมุนา วตติโลโกไปเอง

ฝ่ายที่เน้นพฤติกรรมหรือบุคคลมองว่า ปมปัญหาที่เกิดมาจากบุคคลและกลุ่มบุคคลเท่านั้น เช่นหากขจัดธัมมชโยและพวกออกไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือ/รวมถึง ขจัดสมเด็จราชาคณะที่ไม่เคร่งครัดออกไปจากองค์กรบริหารสูงสุดของสงฆ์ก็เป็นอันจบ

บ้างก็มองว่าปมปัญหาที่เกิดไม่ใช่แค่ธรรมกายหรือมหาเถระบางรูปเท่านั้น หากเป็นอาการเสื่อมของการพระศาสนาแห่งสยามที่หมักหมมต่อเนื่องกันมา อาการเสื่อมดังกล่าวทางด้านหนึ่งปรากฏผ่านพระสงฆ์และวัดวาทั่วไป อาทิ พระกินเหล้า เคล้านารี ฉลองหมูกระทะ ร้องเพลงคาราโอเกะ ใบ้หวย ไล่ผีครบสูตร อาการเสื่อมอีกทางไปปรากฏผ่านคำสอนแบบแหวกแนวพิธีกรรมอลังการแบบธรรมกายเพื่อดึงดูดชนชั้นกลางและจริตใหม่ของสังคมทุน

ซึ่งที่แท้แล้ว ไม่ว่าพฤติกรรมของสงฆ์แบบเก่าอนาล็อก หรือสงฆ์แบบดาวเทียม ล้วนแต่ต้องถูกชำระสังคายนาใหม่ทั้งคู่ไปพร้อมๆ กัน

ยังมีความคิดอีกประเภทซึ่งน่ารับฟังทีเดียว นั่นก็คือพวกที่มองว่าเพราะประชาชนนั่นล่ะที่ทำให้ศาสนาเสื่อมลง คนในสังคมที่ถือตัวเองว่าเป็นพุทธที่แท้ไม่เข้าใจหลักและหัวใจของศาสนาพุทธจริง ในเมื่อความศรัทธาของคนส่วนใหญ่ที่อ้างตนเป็นพุทธบริษัทหากยังเชื่อว่าพุทธเป็นเรื่องเดียวกับผี ยิ่งพุทธเท่าไหร่ยิ่งต้องไสยมากเท่านั้น เข้าวัดไปหาพระเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องผีๆ ส่งเสริมพระสงฆ์ที่ชำนาญการเรื่องผีแล้ว เข้าวัดไปแสวงหาหนทางร่ำรวย มันจะให้สงฆ์ยืนหยัดในหลักพุทธได้อย่างไร

คนส่วนนี้บอกว่าถ้าจะปฏิรูปการศาสนาก็ต้องปฏิรูปพุทธบริษัทเป็นหลัก หาใช่มุ่งไปปฏิรูปที่พระสงฆ์องค์เจ้าไม่

ยังมีพระสงฆ์บางรูปที่บอกไปอีกทาง ชี้ว่ากระแสที่ฮึ่มๆ ตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดถูกของธรรมกายเลย ที่แท้ก็คือเกมสกัดไม่ให้สมเด็จช่วงวัดปากน้ำขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่างหาก แล้วนี่ก็เป็นเกมการเมืองระหว่างมหานิกายกับธรรมยุติกนิกายที่สืบเนื่องมายาวนาน

ที่ยกมาสี่ห้ามุมมองล้วนถูกหมดแหละครับ แต่ถูกอย่างละนิดหน่อยขึ้นกับจะมองจากมุมใด

ความคิดหรือข้อเสนอของนักคิดยุคใหม่ตามแบบเสรีนิยมให้แยกศาสนาออกมา เลิกองค์กรปกครองรวมศูนย์ กลับไปสู่การปกครองแบบโบราณมีศูนย์กลางที่อาจารีย์หรืออุปัชฌายะปกครองดูแลคณะของตนให้เกื้อหนุนกับชุมชนสังคมกันเอง ฯลฯ ฟังแล้วมันดูดี เป็นหลักคิดที่โน้มน้าวมาก ตัวผมเองน่ะชอบความคิดแบบนี้...แต่ก็นั่นแล ความฝันบางอย่างให้มันฟรุ้งฟริ้งมีไว้ให้ใจมันชื่นๆ แต่ตื่นมากินไม่ได้ ความคิดสวยๆ บางทีมันก็เหมือนโมเดลรถต้นแบบตามงานมอเตอร์โชว์...ที่แค่มีไว้โชว์เพื่อก่อเกิดแรงบันดาลใจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของค่ายรถนั้นๆ ไม่สามารถเอามาผลิตขายได้จริง

ท่านลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมดู คลิกไปที่รายงานการประชุม โอ้โห..ไม่น่าเชื่อแต่ละเดือนประชุมกันบ่อยมาก แล้ววาระที่เข้ามามีแต่เรื่องยิบย่อยอะไรก็ไม่รู้ แต่งตั้งรองเจ้าคณะ ตั้งเจ้าอาวาส อนุมัติพระคณะนี้ไปนอก พระอีกคณะไปอีกประเทศ อนุมัติใช้งบ ฯลฯ เป็นเรื่องจิปาถะขี้หมูราขี้หมาแห้งที่ล้วนต้องส่งมาสู่การพิจารณาส่วนกลางตามระบบรวมศูนย์ เพราะว่าอำนาจปกครองสงฆ์ทั้งหมดอยู่ที่มหาเถร 20 รูปนี้เท่านั้น

โดยส่วนตัวผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ชอบโครงสร้างรวมศูนย์แบบนี้และเชื่อว่านี่มันเป็นเภทภัยของปัญหาร้อยแปดในวงการสงฆ์ ความคิดเบื้องต้นคือต้องกระจายออก ความคิดต่อมาคือต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลและระบบป้องกันความผิดพลาดหรือการใช้อำนาจผิด/โดยมิชอบ แต่พอถามว่า ทำอย่างไรล่ะ ? ผมยอมรับว่าตัวเองก็ยังตึ๊บๆ ตอบให้สะเด็ดน้ำไม่ได้

เพราะต้องยอมรับว่าองค์กรสงฆ์ในยุคใหม่ไม่ได้มีแค่พระกับวัดใครวัดมัน หากโครงสร้างของประเทศเรากำหนดให้ผูกองค์กรพระพุทธศาสนาเอาไว้กับฝ่ายอาณาจักรด้วย ผูกพันระบบราชการ ผูกพันงบประมาณ ผูกพันทรัพย์สินเช่นที่ดินวัดร้าง ที่ดินวัด ฯลฯ อีรุงตุงนังอยู่พอสมควร

ซึ่งหากจะไปทางนั้นจริงๆ คงจะเป็นถึงระดับปฏิวัติระบบรัฐเลยทีเดียว เพราะโครงสร้างของรัฐไทยเราผูกศาสนจักรเข้าด้วยกันกับอาณาจักรมาตั้งแต่เริ่ม แม้แต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วก็ยังผูกกันอยู่ ระบบมหาเถรคือระบบปกครองที่เรากำหนดไว้เดิม จู่ๆ ประกาศไม่ต้องปกครองเลยมันคงวุ่นกันมหาพิลึก ซึ่งมันก็คืองานยากระดับปฏิวัติความคิดกันเลยทีเดียว นอกจากนั้นในทางปฏบัติคงต้องวางแผนกันล่วงหน้ายาวๆ เช่น ทรัพย์สินที่ดินแบบไหนที่จะปล่อยให้ฝ่ายสงฆ์ไปบริหารจัดการกันเองเหมือนสภาคริสตจักรเขาบริหารกัน ซึ่งท่าทางประเทศเราคงต้องผ่าสมบัติต่างๆ ให้เป็นของคณะธรรมยุติฝ่ายหนึ่งมหานิกายฝ่ายหนึ่งแล้วยึดกลับมาเป็นของรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง และคงต้องยุบทิ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาไปเลยเพราะมันหมดหน้าที่แล้วนี่

การเสนอความคิดสวยๆ ที่เน้น Idealistic ใด ๆ ควรจะพ่วงเอาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและสภาพเงื่อนไขที่เป็นจริงด้วย

ข่าวสารเวลานี้ยังมีเรื่องพระสงฆ์จีวรแดงกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านคณะกรรมการปฏิรูปที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายนกหวีดจะมากวาดล้างพวกตน ผมคิดว่าเรื่องนี้มันก็ต้องดักคอไว้ทั้งสองฝ่ายนั่นล่ะ ฝ่ายสงฆ์ก็อย่ากินปูนร้อนท้อง ตัวเองก็สงฆ์การเมืองไปสนิทชิดเชื้อเล่นการเมืองกับคณะเพื่อไทยเห็นๆ กันอยู่ ส่วนฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐก็ต้องมองกระจกดูตัวเองนะครับว่ายังไงๆ แต่ละคนมีภาพลักษณ์นกหวีดห้อยคอกันอยู่ หากสิ่งที่ลงมือทำลงไปเป็นแค่การกวาดล้างเฉพาะอีกพวกอีกฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายตน เชื่อแน่ล่ะว่างานนี้อาจจะมีม็อบพระออกมาจริงๆ ไม่ใช่แค่จีวรแดงหยิบมือเดียวพวกนั้น

ปมปัญหาของการพระศาสนาที่เกิดขึ้นมันกว้างใหญ่เป็นการทั่วไป ดังนั้นผลของการลงมือปฏิรูปปรับปรุงต้องไม่ใช่แค่เจาะจงกวาดล้างธรรมกายหรือเตะสกัดสมเด็จช่วงอย่างที่เขากล่าวหา ต้องทำให้เห็นว่ามาตรการหรือข้อกำหนดใดๆ ที่ออกมามีผลต่อปัญหารวม ทั้งของเก่าและใหม่และเป็นการทั่วไป

ธรรมกายไม่ได้ทำให้วงการสงฆ์เสื่อม

เพราะวงการสงฆ์เสื่อมต่างหาก เลยก่อเกิดธรรมกายขึ้นมา

ธรรมกายไม่ได้ทำให้มหาเถระเสื่อม

แต่เพราะโครงสร้างการปกครองรวมศูนย์แบบมหาเถระเสื่อมต่างหาก เลยก่อเกิดกรณีธรรมกายขึ้นมา.
เปิดโปง “ธรรมกาย” สุดอันตราย!?
เปิดโปง “ธรรมกาย” สุดอันตราย!?
เรื่องราวปัญหาของวัดพระธรรมกาย ที่อยู่ในกระแสข่าวปัจจุบันทั้งในเรื่องผลประโยชน์ การสร้างระบบบุญขายตรง ที่เน้นไปที่วัตถุเพื่อการเข้าสู่นิพพาน แทนที่จะเน้นคำสอนตามพระธรรมวินัย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ได้จากผลงานวิจัย ของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ได้ทำการศึกษาและจัดทำขึ้นในหัวข้อ “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” ได้ตีแผ่ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสะพรึงกลัว? นับตั้งแต่การเดินหน้าเผยแผ่คำสอนและพระไตรปิฎกในแบบฉบับธรรมกาย พร้อมด้วยกลยุทธ์การตลาดปูเสฉวนอันแยบยลและชาญฉลาด โดยมุ่งหวังเพื่อแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น