xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่าศาสนา : ธรรมกาย-มัสยิดเมืองน่าน-ศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ช่วงนี้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เริ่มจากการเปิดประเด็นพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปี 2542 ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งชี้ว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ

นำไปสู่การเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายวัดพระธรรมกายที่ออกมาระบุว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ยุติแล้ว กระทั่งมีการประชุมของมหาเถรสมาคม องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ก็มีมติยืนยันว่า ไม่สามารถนำเรื่องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย กลับมาพิจารณาใหม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ดำเนินการถึงที่สิ้นสุดแล้วตั้งแต่ในอดีต

กลายเป็นวิกฤตศรัทธาของมหาเถรสมาคม ที่สังคมได้ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่โอบอุ้มพระธัมมชโย โดยเฉพาะตรรกะที่ว่า พระธัมมชโย ไม่อาบัติปาราชิก เพราะไม่มีเจตนาครอบครองทรัพย์ไว้กับตนเอง และได้โอนที่ดินกว่า 900 ล้านบาท ให้เป็นของวัดพระธรรมกายไปแล้ว ซึ่งหากในความเป็นจริงการยักยอกทรัพย์ต่อให้เอาไปคืนถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว

รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างวัดพระธรรมกาย กับวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งครองตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ก็เคยพูดว่า วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้อง หรือเสมือนหนึ่งว่าเป็นวัดเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจถึงผลที่เกิดขึ้น

เป็นธรรมดาที่ผู้คนซึ่งมีความศรัทธาหรือมีผลประโยชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะมีการอุปมาอุปไมยตามสัญชาตญาณปกป้องตัวเอง เราจะได้เห็นตรรกะแปลกๆ จากลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย อย่าง ลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาพูดทำนองว่า ถ้าสมมติว่าลูกไปขโมยเงินมาให้พ่อสร้างบ้าน พอบ้านเสร็จพบว่าลูกไปโกงเขามา ต้องทุบบ้านทิ้งไหม

ซึ่งโดยตรรกะแล้ว ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบก็ต้องถูกอายัดแล้วยึดเป็นของรัฐ ไม่ใช่ทุบทิ้ง อย่างรถยนต์ลัมบอร์กินีของดาราดัง “บอย ปกรณ์” ถึงเงินที่เอามาซื้อได้มาจากน้ำพักน้ำแรง แต่ถ้ากลายเป็นการรับซื้อของโจร ที่มีส่วนพัวพันในคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ต้องถูกยึดหรืออายัดรถตามกฎหมายฟอกเงิน

อีกตรรกะหนึ่ง คือมักจะนำเรื่องของพระสุเทพ ปภากโร และหลวงปู่พุทธะอิสระ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโจมตี เพื่อให้รู้สึกว่าพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายเลวน้อยกว่า แนวคิดแบบนี้ไม่ต่างอะไรไปจากนักการเมือง ที่พอจวนตัวก็เอาประเด็นอื่นมากลบเกลื่อน เช่น หยิบเรื่อง ปรส. มาเพื่อให้รู้สึกว่าโครงการทุจริตรับจำนำข้าวเสียหายน้อยกว่า

หรือไม่เว้นแม่แต่พระสงฆ์ที่ออกมาปกป้องพระธรรมกายอย่าง พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม ออกมาพูดว่า การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกรรมการมหาเถรสมาคม เหมือนการตรวจสอบศรัทธาของประชาชน แม้ประเด็นนี้ดูจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เกิดขึ้นจากแนวคิดความไม่ไว้วางใจของประชาชน

กรณีธรรมกายล่าสุด ก่อให้เกิดกระแสทั้งสนับสนุนและต่อต้าน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนวัดพระธรรมกายโดยอ้อมอย่าง พระเมธีธรรมาจารย์ พระสงฆ์กลุ่มคนเสื้อแดง พยายามเรียกร้องให้ประธาน สปช. ยุบคณะกรรมาธิการปฏิรูปศาสนาฯ อ้างว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อเถรสมาคม และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส.

ขณะที่คดียักยอกทรัพย์ที่มีความเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย อย่างสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งระดมฝากเงิน ให้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยสถาบันการเงินอื่น ก่อนหน้านี้พบว่าอดีตประธานสหกรณ์ยักยอกทรัพย์ 15,000 ล้านบาท ปล่อยกู้แก่บริษัทที่ไม่มีการดำเนินกิจการจริงหลายแห่ง ขณะที่สมาชิกสหกรณ์กว่า 5 หมื่นคนเดือดร้อนเพราะถอนเงินไม่ได้

ที่น่าสังเกตคือ อดีตประธานสหกรณ์มีความศรัทธาและสนิทสนมกับวัดพระธรรมกาย บริจาคเงินจำนวนมาก กระทั่งเคยเป็นไวยาวัจกรของวัดพระธรรมกาย ทั้งที่ไม่ได้เป็นบุคคลร่ำรวยหรือมีทรัพย์สินเงินทอง อีกทั้งยังตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี นำเงินลงทุนจากคลองจั่น ไปปล่อยกู้ให้ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ดอกเบี้ยต่ำอีกทอดหนึ่ง

ตรวจสอบงบดุลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มงคลเศรษฐี พบว่ามีการปล่อยกู้กว่า 500 ราย เป็นเงินกว่า 230 ล้านบาท และโอนเงินให้กับพระหลายรูปในวัดพระธรรมกาย อาทิ พระธัมมชโย 225 ล้านบาท พระวิรัช 100 ล้านบาท พระปลัดวิจารณ์ จำนวน 119 ล้านบาท พระมนตรี 100 ล้านบาท รวมถึงนักธุรกิจที่เคยบวชวัดพระธรรมกายอีก 127 ล้านบาท

สารพัดประเด็นเข้ามาในวัดพระธรรมกาย พร้อมกับข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ เช่น การเกณฑ์นักเรียนและครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำกิจกรรมกับวัดพระธรรมกายแบบบีบบังคับ หรือการจัดธุดงคืธรรมชัยแบบพิสดารที่สร้างปัญหาการจราจรติดขัดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลต่อวิกฤตศรัทธาอย่างคาดไม่ถึง

กระแส “ระนองโมเดล” ที่ชาวบ้านในตัวเมืองระนอง รวมตัวคัดค้านวัดกัลยานิมิต (สายวัดพระธรรมกาย) ไม่ให้จัดโครงการตักบาตรมิตรภาพไทย-พม่า โดยการปิดถนนเฉลิมพระเกียรติให้พระสงฆ์ 1,500 รูปออกบิณฑบาต เนื่องจากสร้างความเดือดร้อนและเสื่อมศรัทธาต่อวัดพระธรรมกาย เชื่อว่าเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้จะลุกลามไปอีกหลายจังหวัด

เพราะการปิดถนนจัดงานทำบุญตักบาตรแบบอลังการของพระสายวัดพระธรรมกาย โดยปกติทำไม่ได้ขนาดนี้ ถ้าไม่มีข้าราชการหรือนักการเมืองที่อยากเอาหน้า ประกาศเป็นเจ้าภาพโดยไม่ถามความเห็นชาวบ้านสักคำ น่าสังเกตว่าถึงมีคนไม่พอใจก็ทำอะไรไม่ได้เพราะกลัวบาปไปหมด ยอมๆ ไปเถอะ ต่อให้คนที่เป็นเจ้าภาพจะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็ตาม

แล้ววิธีทำบุญตักบาตรของพวกเขาก็แปลกประหลาด ชาวบ้านจะหอบข้าวสารอาหารแห้งมาทำบุญใส่บาตรแบบที่ทำกันก็ไม่ได้ด้วยนะ ต้องซื้อ “ตั๋วตักบาตร” ใบละ 500 บาท และค่าปูเสื้ออีก 1,000 บาท ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็กีดกันออกไป ต้องการตั้งโต๊ะคิดค่าเช่าพื้นที่ 3,000 บาท แต่ถ้าไม่อยากต่อคิวมีโต๊ะวีไอพีราคา 25,000 บาทต่อคนหรือองค์กร

ผมไม่เข้าใจว่านี่มันงานทำบุญตักบาตรหรือคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า ถึงกับให้ซื้อตั๋วตักบาตรราวกับบัตรผ่านประตู

นี่คงเป็นหนังม้วนยาวในช่วงปิดเทอมใหญ่นักการเมือง ซึ่งกฎอัยการศึกห้ามเคลื่อนไหว ทำให้ประเด็นทางการเมืองถูกแทนที่ด้วยคำพูดนายกฯ รายวันที่ยืดยาวจนล้นหน้าหนังสือพิมพ์ เหมือนบ้านเมืองจะสงบลง แต่ในกระแสการปฏิรูปเมื่อมีชนวนบางอย่างเกิดขึ้นก็มักจะเกิดเรื่องลุกลามใหญ่โต เช่นเรื่องวัดพระธรรมกายที่ สปช. จุดชนวนในวันนี้


ภาพจากเว็บไซต์ http://www.dek-d.com/board/view/3459796

(2)

ที่จังหวัดน่าน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีมนต์เสน่ห์และสวยงาม ถึงขนาดใช้เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันก่อน มาวันนี้ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาอีกครั้ง เมื่อมีการคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างมัสยิด ศาสนสถานสำคัญของศาสนาอิสลามในพื้นที่

พวกเขาให้เหตุผลว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากเห็นว่าในชุมชนไม่มีชาวอิสลาม และเกรงจะแอบแฝงด้านศาสนา การเมือง และตามมาด้วยความไม่สงบเหมือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศมุสลิม อีกทั้งก่อนทำการซื้อที่ดิน หรือก่อสร้าง ก็ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ หรือประชาคมหมู่บ้านมาก่อน

ขณะที่อิหม่ามยาริน ผู้นำในการจัดตั้งมัสยิด ระบุว่าจำเป็นต้องก่อสร้าง เพราะชาวมุสลิมในจังหวัดไม่มีสถานที่ประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการละหมาดใหญ่ทุกวันศุกร์ จำเป็นต้องเดินทางไปยังมัสยิดที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ห่างออกไปอีก 130 กิโลเมตร ไม่สะดวกในการเดินทาง อีกทั้งยังเสี่ยงอันตราย เนื่องจากบางคนต้องเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์

ในขณะที่คนน่านเองอ้างว่าในชุมชนไม่มีใครที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่อีกด้านหนึ่งในจังหวัดน่านมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ แล้วต้องไปละหมาดไกลถึง 130 กิโลเมตร เพราะพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แสดงว่าความเข้าใจของคนน่านไม่ตรงกัน เป็นเรื่องที่ความต่างกำลังกลายเป็นปัญหาของคนในพื้นที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่าได้มีการชุมนุมของมวลชนและพระสงฆ์ที่วัดภูมินทร์ เพื่อการต่อต้านการสร้างมัสยิด โดยมีการชูป้ายระบุว่า ชาวจังหวัดน่านต้องการความสงบ ขอสงวนสิทธิ์ชุมชน วิถีล้านนาให้ลูกหลานได้สืบทอดเจตนาคนเมือง และขอให้ชาวมุสลิมอย่าเบียดเบียนชาวน่านอีกเลย ซึ่งมีการทำเสื้อสกรีนด้วยข้อความสีแดง ระบุว่า “เมืองน่าน เมืองพุทธ เมืองสงบ” เสมือนไม่ต้อนรับคนศาสนาอื่น

เรื่องนี้น่าเป็นห่วงคือการสร้างเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวในโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการสร้างเฟซบุ๊กในชื่อว่า “คนน่าน บ่อเอา มัสยิด” ประกาศบนหน้าเฟซบุ๊กว่า “พุทธศาสนาถูกรังแกมามากพอแล้ว ที่มั่นสุดท้ายของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยคือ นครน่าน แผ่นดินธรรมของพ่อเฒ่าแม่หม่อนได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ดีแล้ว ลูกหลานชาวน่านจะต้องรักษาไว้บ่หื้อไผมาย่ำยี 1 มีนาคม 2558 พบกันที่วัดพระธาตุแช่แห้ง เพื่อแสดงพลังว่า คนน่านบ่เอามัสยิด”

ผมดูเนื้อหาในเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้ว ประโยคที่ว่า “ที่มั่นสุดท้ายของพระพุทธศาสนาคือนครน่าน” น่ากังขาว่าเป็นคำพูดที่ดูเกินไปจากความเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าจะให้เป็นเมืองศีลธรรมจริง ทุกพื้นที่ในจังหวัดจะต้องไม่มีสถานบันเทิงแม้แต่แห่งเดียว และไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่ร้านเดียว เพราะการดื่มสุราเป็นการผิดศีลข้อ 5

ที่รู้สึกว่าพวกเขาตื่นตูมเกินเหตุก็คือ ในเฟซบุ๊กมีการระบุว่า การสร้างมัสยิดในจังหวัดน่านเป็นแผนการขนย้ายมุสลิมโรฮิงยาและมุสลิมอุยกูร์จากจีน เข้ามาตามแนวชายแดน ที่น่าตลกสิ้นดีคือมีการลงบทความของเว็บไซต์พลังจิต ซึ่งมีเนื้อหาสุดโต่ง ในหัวข้อ “วิเคราะห์กฏหมายอุบาทว์ พิฆาตพระสงฆ์” ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการจินตนาการเกินจริง

น่าขำขึ้นไปอีกตรงที่ข้อความที่ว่า "“Time” หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก เปิดโปงแผน Dream State ที่อิสลามหวังยึดครองประเทศไทย โดยรุกทางการเมืองจากภาคใต้ ขยายผลให้มีการเลือกพรรคของตนใน กทม. และภาคตะวันออก โดยสนับสนุนการเงินผ่านธนาคารอิสลาม แล้วใช้ ASTV ปลุกปั่นคนไทยให้ฆ่ากันเอง ได้ผลดีกว่าที่คาด"

ผมเห็นแล้วแทบขำ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในชีวิตจริงเป็นคนที่ศึกษาธรรมะ เคยผ่านอุปสมบทมาแล้ว ไม่นับรวมที่ออฟฟิศผลิตหนังสือธรรมะลีลา เอเอสทีวี หรือนิวส์วันก็มีรายการธรรมาภิวัฒน์ วิทยุผู้จัดการก็มีรายการธรรมะ แล้วจะไปรับเงินรับทองจากอิสลามปลุกปั่นได้อย่างไร

ขอถามหน่อยเถอะว่า มีหลักฐานอะไรที่กล่าวหาว่า อิสลามหวังยึดครองประเทศไทยใช้ ASTV ปลุกปั่นคนไทยให้ฆ่ากันเอง รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่กล่าวหาอะไรที่เลื่อนลอย ไม่มีมูลความจริงเช่นนี้ ถ้าหากชาวน่านที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มั่นใจว่าเป็นเรื่องจริงกรุณาแสดงหลักฐานที่ชัดเจนมาด้วย ไม่เช่นนั้นถือว่าเอา "ความเท็จ" มาเคลื่อนไหวปลุกระดม

ขอฝากไปยังจังหวัดทหารบกน่าน ค่ายสุริยพงษ์ ช่วยไปสร้างความเข้าใจกับฝ่ายที่คัดค้าน และตรวจสอบนักการเมืองทุกคน กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มไม่ให้ล้ำเส้น ศูนย์ดำรงธรรมควรที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยหาที่ตั้งมัสยิดในจังหวัดใกล้เคียงไม่ให้ชาวมุสลิมในจังหวัดน่านต่อไปไกลนับร้อยกิโลเมตร

ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปลูกฝังให้เกลียดชังชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าไม่ให้พวกเขาได้มีที่ยืน สุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบรุนแรง วันดีคืนดีถึงขนาดที่คนเมืองน่านออกมาขับไล่ชาวมุสลิมน่านให้ไปอยู่ที่อื่น อาจทำให้คนที่ศาสนาแตกต่างกันจะเข้าไปเหยียบแผ่นดินจังหวัดน่านไม่ได้อีกเลย



(3)

วันก่อนสำนักงานพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นข้อความบนป้ายไวนีลระบุว่า “ขอสนับสนุนให้มีบทบัญญัติ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ” ถูกติดตั้งบริเวณรั้วของสำนักงาน ซึ่งเป็นป้ายรถประจำทางป้ายที่สองของถนนพระอาทิตย์ ขาออก มุ่งหน้าไปทางถนนสามเสน

ก่อนหน้านี้ก็มีความเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายชาวพุทธแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณากำหนดแนวทางในการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นๆ และลัทธิความเชื่อต่างๆ

ที่น่าแปลกประหลาดคือ พวกเขาจะเรียกร้องให้เอาข้อกำหนดที่ระบุว่า “ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ออกจากรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ทั้งๆ ที่ในช่วงที่ผ่านมามักจะมีทัศนคติที่ว่า พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวทางโลก เฉกเช่นเรื่องการเมืองก็ตาม

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่!

ก่อนหน้านี้ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 องค์กรชาวพุทธ ได้แก่ มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, คณะสงฆ์อณัมนิกาย, คณะสงฆ์จีนนิกาย,และ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้บัญญัติข้อความนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งการเคลื่อนขบวนจากลานพุทธมณฑลไปยังหน้ารัฐสภา เพื่อชุมนุมกดดันจนพระอาพาธไปหลายรูป และการเขียนบทความเพื่อสนับสนุนลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีอีกฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งกลับไม่ใช่ศาสนิกชนอื่นที่ไม่อยากแสดงความคิดเห็นมาก เพราะเกรงจะเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา แต่กลายเป็นชาวพุทธด้วยกันเองก็มี

ผลที่สุดแม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่ได้บัญญัติข้อความนี้ แต่ในมาตรา 79 บัญญัติเอาไว้ว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน" เรื่องจึงสงบลง และรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้โดยผ่านการลงประชามติกว่า 14 ล้านเสียง

8 ปีต่อมา วิกฤตของบ้านเมืองอันเนื่องมาจากปัญหาในกระบวนการของรัฐสภา และอำนาจบริหาร โดยเฉพาะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองที่หลบหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศ ทำให้เกิดรัฐประหาร ทหารเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ที่สุดรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างกลับสู่จุดเริ่มต้น

กระแสเรียกร้องให้บัญญัติ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ลงในรัฐธรรมนูญ ได้หวนกลับมาอีกครั้ง

โดยส่วนตัวผม “ไม่เห็นด้วย” กับการบัญญัติข้อความนี้ลงในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลหลายประการ

แม้การเรียกร้องขององค์กรชาวพุทธในไทยไม่ได้ถึงกับบีบบังคับให้พลเมืองเลื่อมใสศรัทธาศาสนาพุทธ แต่ประโยคข้างต้นเปรียบเสมือนผลักไสให้ศาสนิกชนอื่นถูกมองว่าเป็นคนนอกรัฐธรรมนูญ เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาซ้ำเติมเข้าไปอีก นอกเหนือจากปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปมจากศาสนาและประวัติศาสตร์ถูกขยายผลขึ้น

บรรดานักเคลื่อนไหว ถึงจะอ้างว่าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้นำศาสนาไม่มีใครขัดข้อง แต่คนทั่วไปที่นับถือศาสนาอื่น เคยได้ถามความรู้สึกลึกๆ ว่าเต็มใจจะให้บัญญัติข้อความนี้ลงในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ลึกๆ อาจรู้สึกว่าใครไปเรียกร้องบังคับคนอื่นโดยที่พูดอะไรไม่ได้ ราวกับถูกผู้คนหมู่มากข่มขู่ พวกเขาก็รู้สึกไม่ชอบ เหมือนถูกคนศาสนาอื่นดูถูกเหยียดหยาม

แม้ศาสนาอื่นจะไม่ได้ถูกสืบเชื้อสายถ่ายทอดมาอย่างยาวนานก็ตาม แต่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกนับถือศาสนาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าการเลือกหนทาง หรือองค์ศาสดาใดๆ นั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ตาม การนับถือศาสนาของประชาชนก็ควรเป็นไปด้วยความศรัทธา มากกว่าการถูกบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมาย

เพราะสุดท้ายเกิดความสับสนว่า แล้วจะเลือกหรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นไม่ได้เลยหรือ?

ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ยกเลิกไปแล้ว ในหมวดพระมหากษัตริย์ บัญญัติไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" หมายความว่า พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด

เพราะฉะนั้นรัฐก็ควรเป็นกลางทางศาสนา เคารพต่อความเชื่อ และรับรองความเสมอภาคของพลเมืองโดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา การตอกย้ำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชัดเจนว่า ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่นับถือศาสนาอื่น เปรียบเสมือนว่าพระพุทธศาสนาอยู่เหนือกว่าศาสนาอื่น

ที่สำคัญ การบัญญัติคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” จะเป็นหลักประกันได้อย่างไรว่าจะเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนาไม่ให้ถูกทำลาย เรื่องเล็กน้อยอย่างพระที่ประพฤติผิดธรรมวินัย ขับรถหนีเที่ยว ดื่มสุรา ล่วงละเมิดทางเพศทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี หรือเรื่องใหญ่ๆ อย่างการยักยอกเงินนับพันล้าน ก็เกิดขึ้นจากตัวพระเองไม่ใช่หรือ

การปกป้องพระพุทธศาสนาที่ดีไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว หากแต่การที่พุทธศาสนิกชนด้วยกันควรแก้ไขปัญหาที่มีต่อวิกฤตศรัทธาของพระพุทธศาสนาด้วยตัวเอง ผมจึง "แสดงความไม่เห็นด้วย" ต่อการบัญญัติข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่นับถือศาสนาอื่นลงในรัฐธรรมนูญด้วยประการทั้งปวง

ส่วนใครจะเคลื่อนไหวกดดันประการใดก็เป็นสิทธิของท่าน ผมคงไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวหรือแสดงจุดยืนอะไรมากไปว่านี้ แต่ถ้าสิ่งใดที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเกิดความเสียหาย หรือประชาชนไม่ว่าหนึ่งคนหรือนับล้านคนต้องเดือดร้อนประการใด ก็ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง เพราะคนอย่างผมถูกสอนให้มีความรักต่อกัน ไม่ได้ให้ต้องเกลียดชังใครโดยไม่มีเหตุผล

ด้วยความเคารพ.

เปิดโปง “ธรรมกาย” สุดอันตราย!?
เปิดโปง “ธรรมกาย” สุดอันตราย!?
เรื่องราวปัญหาของวัดพระธรรมกาย ที่อยู่ในกระแสข่าวปัจจุบันทั้งในเรื่องผลประโยชน์ การสร้างระบบบุญขายตรง ที่เน้นไปที่วัตถุเพื่อการเข้าสู่นิพพาน แทนที่จะเน้นคำสอนตามพระธรรมวินัย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ได้จากผลงานวิจัย ของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ได้ทำการศึกษาและจัดทำขึ้นในหัวข้อ “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” ได้ตีแผ่ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสะพรึงกลัว? นับตั้งแต่การเดินหน้าเผยแผ่คำสอนและพระไตรปิฎกในแบบฉบับธรรมกาย พร้อมด้วยกลยุทธ์การตลาดปูเสฉวนอันแยบยลและชาญฉลาด โดยมุ่งหวังเพื่อแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น