xs
xsm
sm
md
lg

สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กับบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


ดูการถ่ายทอดเวทีเสวนาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใต้ชื่อ “เดินหน้าประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” ที่ภาครัฐจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันศุกร์ 20 ก.พ. และมีการถ่ายทอดสดทางช่อง NBT มีความรู้สึกเหมือนดูปาหี่ครับ

เริ่มตั้งแต่ก่อนการถ่ายทอดสด มีการตั้งกฏกติกาในการเสวนาแบบแปลกๆ เช่น มีการดีเลย์สัญญาณถ่ายทอดสดไปหนึ่งนาทีจากความเป็นจริงโดยอ้างว่าป้องกันการพูดคำหยาบ การดีเลย์สามารถดูดเสียงในกรณีที่ต้องการเซ็นเซอร์ ไม่ใช่แค่ป้องกันคำหยาบหรอกครับ

รูปแบบหารือครั้งนี้มีการกำหนดเวลาให้ทั้งสองฝ่ายฝั่งละ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยให้บริหารจัดการเวลาภายในทีมกันเอาเอง และมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่พาดพิงบุคคลอื่น รวมทั้งไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองใดๆ กรณีขอใช้สิทธิคัดค้านในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ จะต้องถามพิธีกรว่า อีกฝ่ายยินดีหรือไม่

ห้ามพาดพิงบุคคลอื่น ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ผมว่าคนพูดก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว การอธิบายอ้างอิงข้อมูลหลักฐานเพราะเรื่องแบบนี้ควรจะพาดพิงได้สิ เพราะบางทีมันก็ต้องมีคนเท้าความกลับไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องเปิดสัมปทาน หรือทำไมไม่ควรเปิด ก็ต้องมีการอธิบาย

การที่พิธีกรบอกว่าเวลาจะค้านอะไรให้ส่งมาที่ผม แล้วผมจะถามอีกฝ่ายว่าสามารถค้านได้ไหม ก็แปลกดีครับ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนี้ มันควรมีวิธีอื่นในการค้าน เช่น ยกมือแล้วรอพิธีกรให้จังหวะ หรือส่งประเด็นให้เพื่อค้าน ส่วนถ้าพิธีกรคิดว่าการค้านนี้ไม่เหมาะสม ก็อาจจะมีการเตือน หรือการขอปิดไมค์แบบที่ทำกันในสภาฯ ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก

อีกข้อหนึ่งที่ว่า "เห็นด้วยหรือไม่กับการเดินหน้าสำรวจแหล่งพลังงานของรัฐบาล" ผมว่าเป็นคำถามที่จะได้คำตอบว่าเห็นด้วย ควรทำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องแยกการสำรวจออกจากการผลิต และผลการสำรวจต้องเปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วม ไม่ใช่มุบมิบปิดบัง ไม่บอกความจริงหรือบิดเบือนความจริง

ผมว่าการจัดเวทีเพื่อฟังความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง ร่วมกันกำหนดนโยบาย จริงๆ เป็นเรื่องที่ดีและควรจัดบ่อยๆ แต่รัฐต้องจริงใจ ไม่ควรมีท่าทียืนกระต่ายขาเดียว ดึงดันจะทำตามธงที่ปักไว้ล่วงหน้าโดยไม่ได้รับฟังข้อมูลความเห็นของประชาชน สักแต่เปิดเวทีให้ได้ชื่อว่าให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สักแต่ทำเพื่อเป็นหน้าฉากให้อ้างได้ว่าปิดเวทีรับฟังความเห็นแล้ว แต่ไม่ได้มีเจตนาแท้จริงที่จะนำความเห็นของประชาชนมาปฏิบัติหรือดำเนินการ

ผลการรับฟังความเห็นบนเวทีกลางที่รัฐบาลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ทางฝ่ายภาคประชาชน สรุปว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นธรรมและมั่นคง เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความไว้วางใจในภาครัฐ

ประเด็นสำคัญภาคประชาชนเสนอ คือ ให้รัฐบาลมีพันธะสัญญาในเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ สร้างความเป็นธรรมและสร้างบรรยากาศการแข่งขัน ตลอดจนปกป้องสิทธิชุมชนให้เสร็จสิ้นภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้มีทางเลือกอื่นๆ ในการเข้ามาสำรวจปิโตรเลียมของเอกชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การจ้างผลิตหรือแบ่งปันผลผลิต เป็นต้น

พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ที่ใช้อยู่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 สมัยรัฐบาลถนอม เป็นกฏหมายล้าสมัยที่ไทยเสียเปรียบ เสียประโยชน์ในการให้สัมปทานต่างชาติมายาวนาน เช่น มาตรา 13 สิทธิในการถือสัมปทานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี, มาตรา 41 ในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานจะผลิตปิโตรเลียมก็ได้, มาตรา 48 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิโอนสัมปทานทั้งหมด หรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นโดยไม่ต้องขอรับอนุญาต เป็นต้น

ภาคประชาชนเห็นว่าควรแก้ไข พ.ร.บ. ที่เสียเปรียบนี้ น่าแปลกที่ภาครัฐยังยืนยันจะให้ พ.ร.บ. นี้คงอยู่ ซึ่งไทยจะเสียเปรียบต่อไป ระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ กับผลประโยชน์ของนายทุนต่างชาติ ภาครัฐเลือกผลฃประโยชน์ของนายทุนต่างชาติ เพราะเหตุผลใด ทำให้น่าสงสัยว่า ไม่มีเหตุผลอื่นเลย ยกเว้นมีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ส่วนตัว

การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภาครัฐและภาคประชาชนเห็นไม่ตรงกัน กระทรวงพลังงานเห็นว่าต้องเดินหน้าต่อไป แต่ภาคประชาชนเห็นว่าไม่ควรเดินหน้าภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ฝ่ายภาครัฐจึงเสนอให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องที่ต้องแก้ไขภายในวันที่ 16 มี.ค. นี้ หากยังไม่ได้ข้อยุติจึงจะให้นายกฯ ขยายเวลาต่อไป เป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่า เป็นการยื้อเวลาหรือซื้อเวลาของภาครัฐ ก็ต้องตามดูกันต่อไปละครับ

ผมว่าคนไทยขมขื่นกับการถูกเอารัดเอาเปรียบ ใช้น้ำมันและก๊าซราคาแพงมายาวนาน ข้อเรียกร้องให้ราคาพลังงานเป็นธรรมคือสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการ จึงเสนอให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาแก้ไขราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม โดยที่ประชุมภาคประชาชนได้ระบุความไม่เป็นธรรมในเรื่องราคาก๊าซแอลพีจีของครัวเรือน กับราคาก๊าซแอลพีจีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่า จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเสียก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้รู้ว่าการเปิดใช้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อใครสูงสุด

ผมนั่งดูเวทีเสวนานี้แทบจะต้นจนจบ ผมว่าภาครัฐออกอาการตัดสินใจปักธงไว้ก่อนแล้วมาเปิดเวทีเสวนา จึงมีท่าทียืนกรานความเห็น มากกว่าจะจริงใจเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งกลับหัวกลับหาง เพราะควรจะฟังความเห็นประชาชนก่อนแล้วค่อยตัดสินใจร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตั้งคำถาม ดูเหมือนจะน้อยเกินไป คนที่เห็นด้วยกับภาครัฐก็อ้างว่าน้ำมันที่มีอยู่จะไม่พอ จะต้องรีบสำรวจ ซึ่งผมก็เห็นด้วยส่วนหนึ่งนะว่าเราควรรีบดำเนินการ แต่การดำเนินการมันต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่ใช่การคอรัปชั่นหาประโยชน์กันแบบที่ผ่านๆ มา และสัญญาภาครัฐต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่ทำแบบเอื้อผลประโยชน์แก่เอกชนหรือต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

บางครั้งการพูดของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับทำให้ผมคิดว่านี่คือการถ่ายทอดสดวิธีการและขั้นตอนในการขายชาติดีๆ นี่เอง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น

ผมว่านโยบายพลังงานต้องโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จริงเป็นเงื่อนไขและโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองให้ประชาชนเห็นว่า ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศด้วยวิธีพิเศษ ก็ควรทำผลงานชิ้นพิเศษออกมาให้ประชาชนเห็นว่าคุณเข้ามาเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง มีผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ต่างชาตติและพวกพ้อง

สุดท้ายนี้ผมขอฝากไว้เพียงว่า สัมปทานกับรับประทานสะกดต่างกัน ความหมายต่างกัน ถึงเวลารัฐบาลต้องชัดเจนละครับว่า จะเลือกเดินทางไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น