xs
xsm
sm
md
lg

ฟุ้งไปเลยครับ...สปช.

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

แนวความคิดเรื่องการปฏิรูปแบบต่างๆ ของสปช. เริ่มทยอยออกมาสู่สังคมทั้งจากอนุกรรมาธิการ กรรมาธิการ รวมไปถึงองค์กรอื่นเช่นการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าฯ, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเริ่มทยอยออกสู่สังคม อาทิเช่นการนับคะแนนแบบเยอรมันที่ให้คำนวณคะแนนของผู้แพ้มารวมด้วย ข้อเสนอให้ประชาชนฟ้องร้องรัฐบาลได้ ข้อ เสนอแยกอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติเลือกนายกฯโดยตรง จำนวนส.ส.350คน หรือเขตละ 3 เบอร์ และอื่นๆ

สังคมไม่ได้มองหรอกว่าข้อเสนอชุดไหนมาจากกลุ่มองค์กรคณะใด บางส่วนอาจมาจากกมธ.ยกร่าง บางส่วนมาจากกรรมาธิการของสปช.คณะต่างๆ ที่ต้องรีบสรุปเพื่อเสนอต่อกมธ.ยกร่างรธน. และบางส่วนยังมาจากองค์กรภายนอกเช่นจากที่ประชุมอธิการบดี จู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาคนละหนุบหนับโดนใจบ้างไม่โดนบ้าง..ที่ใหม่ไม่เคยรู้มาก่อนก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นปฏิกิริยาก็เลยเกิดตามมา

เช่น บัญชา/คามินการ์ตูนนิสต์มือฉมังซัดไปดอกทำนองว่าเพ้อฝัน วาดป้ายสถาบันประสาทแห่งชาติ(สปช.)ที่มีสมาชิกเสนอโน่นนี่นั่นฝันถึงยูเปียกันคนละเรื่อง หรือบทวิจารณ์การเมืองของไทยรัฐที่มองว่าข้อเสนอแหลมๆ ทั้งหมดไม่ว่าเลือกครม.โดยตรง ที่มาของส.ส./ส.ว.แบบแบ่งครึ่งเลือกเขตและจากกลุ่มอาชีพฯลฯ เป็นแค่ภาวะ “ฟุ้ง” ของสปช.เพราะที่สุดต้องต้องรอทีมอรหันต์ทองคำสรุปกรอบขมวดเอาอีกที

ก็ถูกของบทวิจารณ์ไทยรัฐเขาล่ะครับ ! กระบวนการของสปช.ตอนขั้นตอนนี้มันเป็นกระบวนการเอื้อให้ “ฟุ้ง” อยู่แล้ว ไหนจะแบ่งกรรมาธิการ18คณะแถมมีอนุกรรมาธิการแตกย่อยไปอีกต่างก็เสนอเข้ามาคนละหนุบหนับไหนจะองค์กรจากภายนอกอีก จากนั้นจึงค่อยมาสู่กระบวนการขั้นตอนต่อเพื่อปรับจูนคัดแยกตัดออกให้เหมาะสมต่อไปขั้นตอนนี้จึงค่อยลดความฟุ้งลงมา

ไม่แปลกใจที่บังเกิดมีไอเดียมากมายขึ้นมาในระหว่างนี้ แบบนี้นี่ล่ะครับดี ...ฟุ้งนะดีกว่าเหี่ยวหรือแฟบเป็นไหนๆ

การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นทั้ง “กระบวนการ” และ “เป้าหมาย” จะมุ่งหวังคาดคั้นเอาแต่เป้าหมายอย่างเดียวไม่สนเอากระบวนการไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของสังคมที่คนทั้งหมดมีส่วนได้รับผลกระทบ ดังนั้นการเปิดให้คนแสดงไอเดียฟรุ้งฟริ้งพริ้งเพริศ จุดพลุเพื่อมาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนว่าดีไม่ดีอย่างไรเป็นเรื่องที่ชอบแล้ว

หากมันเป็นไอเดียที่ดีจริงๆ เช่นผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และรายการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมองเห็นตรวจสอบได้ ข้อเสนอแบบนี้ “ฟุ้ง” ไปเถิดครับฟุ้งมาเยอะๆ ต่อให้คณะทหารและนายทุนฝ่ายทหารเกิดไม่ชอบ (เพราะเหตุอะไรก็แล้วแต่) สั่ง กมธ.อย่าบรรจุนะ หรือสั่งสนช.อย่าให้ผ่านนะ ต่อให้ข้อเสนอนี้ถูกรื้อทิ้งไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายปฏิรูปในยุคคสช.นี้แต่ที่สุดไอเดียความคิดแบบนี้ก็จะยังงอกงามอยู่ในจิตใจของประชาชน ประชาชนเรียกร้องมากๆ สุดท้ายก็ต้องปฏิรูปเอาตามนี้จนได้สักวันหนึ่ง

นี่ล่ะคือข้อดีของ “กระบวนการ” ที่เปิดให้เสนอให้แลกเปลี่ยนถกเถียง ที่ผ่านๆ มายังถกเถียงพูดคุยกันน้อยเกินไปด้วยซ้ำ รัฐบาลก็เหมือนกันเอะอะอ้างแต่กฎอัยการศึกใครจะจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนว่าด้วยการปฏิรูปในแง่ต่างๆ ช่างยากเย็นแสนเข็ญ ก็ในเมื่อจะปฏิรูปสังคมกันก็ต้องเปิดสังคมให้กว้างขวางเพื่อให้คนเขาแลกเปลี่ยนถกเถียงสิครับ แต่ละเรื่องมันต้องเปิดให้คนไม่เห็นด้วยได้แสดงความเห็นบ้าง

สารภาพตามตรงเลยจนถึงบัดนี้ตัวของผมเองก็ไม่ได้เชื่อว่าไอเดียดีๆ ข้อเสนอสวยๆ ทั้งหลายที่มีการแถลงตามสื่อหนังสือพิมพ์เช่น หลักการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจเต็มรูปขนาดที่ตัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกไป มาตรการป้องกันคอรัปชั่นขนาดให้โชว์การเสียภาษีย้อนหลัง การให้ประชาชนฟ้องร้องเองได้มากขึ้น ฯลฯ จะผ่านออกมาเป็นบทสรุปของการปฏิรูปกลายเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายต่างๆ ทั้งหมด

ดีไม่ดีอาจจะมีแค่เปลือกไว้โชว์สวยๆ เหมือนกับบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญปี 2540/2550 ที่มีติ่งต่อท้ายว่าทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ จากนั้นประเทศนี้ก็จะเป็นของอภิชน นักการเมือง นายทุน คนมือยาวคิดทำกันเองผลัดกันขึ้นลงประสาสมบัติผลัดกันชมแบบที่เป็นมา

ตัวผมน่ะไม่ได้หวัง “ผลลัพธ์” เป้าหมายทั้งร้อยหรอกก็เห็นๆ อยู่ว่าอภิชนคนมีสีมีเส้นมีทุนฝ่ายที่อยู่กับผู้มีอำนาจปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่อย่างไรก็ตามตัวผมก็ยังพอจะคาดหวังใน “กระบวนการ” ที่เปิดให้ประชาชนคนทั่วไปได้รับรู้ได้เห็นได้คิดแลกเปลี่ยนและถกเถียงอยู่ในระดับสำคัญ

เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงเพื่อนร่วมชาติทั้ง 60 กว่าล้านแต่เราอาจสามารถสร้างแนวร่วมที่มองเห็นเหมือนๆ กันที่พอมีพลังผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ อาทิเช่นหากมีกลุ่มที่คิดเหมือนๆ กันที่ไม่ได้สวามิภักดิ์สนับสนุนกลุ่มก้อนการเมืองใดสัก 3-5 ล้านคนนี่อาจจะถึงขั้นกำหนดผู้ปกครองประเทศได้เลย ตัวอย่างในต่างประเทศก็เห็นชัดเจนว่าเสรีชนที่เป็น Swing Vote มีความสำคัญต่อผลเลือกตั้งเพียงไร มวลชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รอคอย รอดู สนใจเนื้อหา ข้อมูล ชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ เลือกฝ่ายที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น

ในท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองที่ยาวนานของประเทศเราทำให้หลายๆ คนเริ่มมองเห็นว่า เงื่อนไขกติกาและหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความถูกต้องเป็นธรรม มีความสำคัญมากกว่าผู้นำหรือการเลือกตั้งรัฐบาลเปลี่ยนหน้าไปมา สรุปสั้นๆ ก็คือ ทำอย่างไรที่ต่อให้ใครใครมาเป็นนายกฯแล้วโกงไม่ได้ เอาเปรียบประชาชนไม่ได้ แทนชุดความคิดเดิมที่คิดว่าเราจะเลือกผู้นำที่ดีอย่างไร

แอบหวังลึกๆ ว่าการชักคะเย่อระหว่างอำมาตยาธิปไตย(ตามความหมายของ Fred W.Riggs) กับทุนสามานย์นักเลือกตั้งในระหว่างหลายปีมานี้จะก่อเกิดให้เกิดมีประชาชนคนไทยที่คิดแบบนี้มากขึ้นๆ และคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้สังคมไทยของเราหลุดพ้นจากภาวะวนอยู่ในอ่าง ก่อเกิดดุลยภาพใหม่ขึ้นมาได้จริง

ดังนั้นผมจึงเห็นผลดีของภาวะ “ฟุ้ง” ที่บังเกิดข้อเสนอหลากหลายไอเดียชูบ้าง โยนบ้างเข้ามาให้สังคมได้เห็นได้ร่วมกันถกเถียงกันเพราะอย่างน้อยนี่น่าจะเป็นโอกาสของการสร้างความคิดเรื่องของการเพิ่มอำนาจประชาชนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ของบางอย่างแม้จะไม่คาดหวังใน “เป้าหมาย” แต่ก็พอมองเห็นประโยชน์ที่ได้จาก “กระบวนการ” อยู่ได้บ้าง

เอาแค่ประเด็นเลือกตั้งแบบเยอรมันดีไม่ดีอย่างไร ถ้าประชาชนร่วมคิดกันดังๆ ให้มากกว่านี้ แค่นี้ อภิชน ผู้ใหญ่ในพรรค นายทุนพรรคไม่ว่าขั้วไหนก็กุมขมับแล้ว

ฟุ้งๆ ไปเลยครับ !
กำลังโหลดความคิดเห็น