กมธ.ปราบทุจริตเสนอแนวทางปราบโกง เพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบนักการเมือง ขรก.ทุกขั้นตอน พบคอร์รัปชันให้ยื่นถอดถอนได้เอง ฟันทั้งคนซื้อและคนขายเสียง หากพรรคผู้ดำรงแหน่งทางการเมืองประพฤติมิชอบพรรคต้นสังกัดต้องรับผิดชอบ ให้องค์กรอิสระตรวจสอบความไม่โปร่งใส สามารถฟ้องคดีเองได้ แต่หากดำเนินการล่าช้าจนคดีหมดอายุความต้องถูกลงโทษ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องโชว์การเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 30 ประเด็น โดยเห็นว่าประชาชนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะและร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักการเมือง หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ และมีสิทธิติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่บุคคลเหล่านี้ได้ในทุกขั้นตอน รวมทั้งกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ป้องกันและปฏิเสธการทุจริตทุกรูปแบบ หากมีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ก็จะเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังเสนอให้ประชาชนมีสิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ มีบทลงโทษทั้งคนซื้อและคนขายเสียง กำหนดมาตรฐานทางคุณธรรม คุณลักษณะที่ดีของผู้นำและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมบทลงโทษและต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและฝ่ายบริหาร หากพบว่ามีการกระทำทุจริตพรรคที่สังกัดต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการกระทำผิดดังกล่าวด้วย
นายวสันต์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นว่าต้องมีการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ เงินกู้ ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตมีอำนาจฟ้องคดีเอง และกำหนดระยะเวลาในการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อฟ้องดำเนินคดีให้ชัดเจน และเจ้าหน้าที่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ หรือดำเนินการล่าช้าก็ให้มีการกำหนดบทลงโทษ
“ที่ประชุมยังเห็นควรให้เขียนผูกพันไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน บรรดาข้อเสนอแนะที่ผ่านการรับรองของสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วและต้องตราเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับแต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ให้สภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และบรรดาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่รัฐบาลยอมรับเป็นแนวทางในการบริหารราชการหรือเริ่มนำไปปฏิบัติแล้ว ให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องดำเนินการต่อเนื่องไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแนวทางหรือมาตรการนั้นต่อไปเป็นอย่างน้อยสามปี และให้มีกลไกทำหน้าที่ติดตาม ประเมินผล ให้ข้อเสนอแนะแก่สภาและรัฐบาลเพื่อให้การปฏิรูปต่อเนื่องและเกิดผลอย่างแท้จริง” นายวสันต์กล่าว
ด้านนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ข้อเสนอของกรรมาธิการต้องการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน สร้างกระบวนการป้องกันการทุจริต โดยเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนอกจากต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อเป็น ส.ส.แล้ว ในขณะที่เป็นผู้สมัครก็มีข้อเสนอว่าควรจะให้มีการแสดงยื่นแสดงบัญชีรายการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบก่อน รวมถึงยังเห็นว่าการสอบสวนเจ้าพนักงานจะซ้อมผู้ต้องหาไม่ได้ต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด