xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้ จีนคอร์รัปชั่นยังเดือด แม้ทางการจะเร่งปราบปรามอย่างหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- แม้ทางการจีน จะเดินหน้าปราบปรามทุจริตในประเทศอย่างหนัก แต่ผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน แดนมังกรยังร่วงไปอยู่อันดับที่ 100 ของตาราง
ผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน พบว่า ความใสสะอาดของแดนมังกรลดลง ร่วงไปติดอันดับที่ 100
 
ผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ ทีไอ (Transparency International: TI) ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ ก่อตั้งในประเทศเยอรมนี พบว่า ทั้งแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกงต่างร่วงจากอันดับเดิม ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การคอร์รัปชั่นของแดนมังกรยังคงน่าเป็นห่วง แม้ทางการจะออกมาตรการไล่บี้พวกทุจริตอย่างหนักก็ตาม

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น สำรวจประเทศต่างๆ ในโลก รวมทั้งหมด 175 ประเทศ ด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนแต่ละประเทศตามแบบประเมิน สำรวจความคิดเห็นการทุจริตในภาครัฐ 12 ชุด ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ในปีนี้ (2014) ฮ่องกง และแผ่นดินใหญ่ มีอันดับร่วงลง โดยฮ่องกงร่วงจากอันดับที่ 15 ของปีที่แล้ว ไปอยู่ที่ อันดับ 17 ในปีนี้ ด้วยคะแนน 74 จากคะแนนเต็ม 100 ลดลงจากปีที่แล้วมา 1 คะแนน ส่วนแผ่นดินใหญ่ ยังอาการหนัก ร่วงจากอันดับที่ 80 ในปีก่อน ลงไป อยู่ที่อันดับ 100 ในปีนี้ ด้วยคะแนน 36 เต็ม 100 ลดลงมาจากปีที่แล้ว 4 คะแนน

นายศรีรักษ์ ปลิปัต ผู้อำนวยการภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของทีไอ อธิบายว่า อันดับของจีนร่วงเพราะมีการตรวจสอบความจริงกันอย่างเข้มงวด โดยนายศรีรักษ์ ระบุเพิ่มเติมว่า นโยบายการปราบทุจริตของจีนจะได้ผลน้อยมากหากรัฐบาลไม่ออกกฎหมายต่อต้านการรับสินบน และดูแลปกป้องผู้ให้เบาะแส รวมทั้งให้เสรีภาพกับสื่อให้มากกว่านี้

“ผลการให้คะแนนครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ยังมีความท้าทายสำคัญๆ อีกหลายประการที่ยังรอให้แก้ไข” นายศรีรักษ์ ระบุ โดยเขาแนะนำเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจีนควรออกกฎให้นักการเมืองแสดงทรัพย์สินก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่ง

ส่วนสิ่งที่ขาดหายไป ในนโยบายปราบปรามทุจริตของนายสี จิ้นผิง ก็คือ มาตรการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากล่างขึ้นบน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยสามารถรายงานแก่รัฐได้ หากคนระดับหัวหน้าของพวกเขาใช้อำนาจในทางมิชอบ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันนโยบายปราบปรามทุจริตของจีน ยังมีลักษณะเพียงแค่จากบนลงล่าง

ด้านโฆษกหญิง กระทรวงการต่างประเทศของจีน นางหวา ชุนอิง แถลงว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับนี้เพราะเห็นว่ารัฐบาลจีนประสบความสำเร็จมากในการต่อสู้กับการทุจริตภายในประเทศ และเรียกร้องว่า ก ในการจัดอันดับดัชนีฯ ลุ่มองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติควรมองอย่างเป็นธรรม

นายจู หลี่เจีย ศาสตรจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ จากสถาบันการปกครองของจีน ระบุว่า ดัชนีฯ นี้มองไปที่ระดับการทุจริต และเป็นไปได้ว่า การ “ล้มเสือ” ทั้งหลาย ยิ่งทำให้คนมองว่า เมืองจีนมีแต่คอร์รัปชั่น

ส่วนในกรณีของฮ่องกงซึ่งอยู่อันดับเดียวกันกับ อเมริกา ไอร์แลนด์ และบาร์บาดอส นายศรีรักษ์ กล่าวว่า มันชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีอะไรพัฒนาไปเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีการทุจริตของคนระดับบิ๊กอย่างนายราฟาเอล หุย สี-หยาน อดีตเลขาของผู้ว่าเกาะฮ่องกง และสองมหาเศรษฐีจากซัน ฮุง ไค พร็อพเพอร์ตี้ (Sun Hung Kai Properties)

นายศรีรักษ์ ระบุว่า การจับคดีใหญ่ๆ ขนาดนี้ได้ สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของภาครัฐที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นระบบการรักษาความลับในระบบการธนาคารของฮ่องกง และทำให้เห็นว่าฮ่องกงยังขาดแคลนการขึ้นทะเบียนบริษัทของทางภาครัฐ แต่หากเทียบกับประเทศอื่นของโลก ฮ่องกงก็ยังถือว่าได้คะแนนสูงมาก และยังติดใน 20 อันดับแรก

ด้านผลคะแนนของประเทศอื่น พบว่า 5 อันดับแรก ประเทศใสสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่นที่สุดคือ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ตามลำดับ โดยเดนมาร์ก ทำคะแนนได้มากที่สุดถึง 91 คะแนนจาก 100 คะแนน นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของจำนวนประเทศที่นำมาจัดอันดับมีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง และ มีเพียง 54 ประเทศเท่านั้นที่สอบผ่าน หรือได้คะแนนเกิน50 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

ส่วนประเทศที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด จนรั้งอันดับท้ายของตารางก็คือ โซมาเลีย และเกาหลีเหนือ

กำลังโหลดความคิดเห็น