xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “ตุรกี-จีน” คอร์รัปชันกันยิ่งหนักข้อ “ไทย” อันดับดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รายงาน “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน” ของทั่วโลกประจำปี 2014 นี้ ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันพุธ (3 ธ.ค.) ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบกำลังเลวร้ายลงไปมากในตุรกี, จีน และพวกประเทศเศรษฐกิจเติบโตเร็วรายอื่นๆ พร้อมกันนั้น องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ ทีไอ) ที่เป็นผู้จัดทำรายงานนี้ยังเรียกร้องให้พวกศูนย์กลางกิจการธนาคารทั่วโลกทั้งหลายช่วยเหลือต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นและการฟอกเงินให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับไทยนั้น ในปีนี้ติดอันดับ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว สืบเนื่องจากหลายภาคส่วนในสังคมเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหา แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคนโกง

ตามรายงานดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2014 เกาหลีเหนือ กับ โซมาเลีย ติดอันดับโหล่สุดเท่ากันคือ 174 ถัดขึ้นมาเป็น ซูดาน, อัฟกานิสถาน, ซูดานใต้ ตามลำดับ ส่วนพวกอยู่หัวตารางเป็นประเทศที่ขาวสะอาดปลอดทุจริตที่สุด ได้แก่ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ซึ่งติดอันดับ 1-5 ตามลำดับ

ตารางการจัดอันดับของทีไอ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเบอร์ลิน, เยอรมนี นี้ ถูกใช้เป็นมาตรวัดการคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางที่สุด โดยผู้ที่นำไปใช้มีทั้งรัฐบาล, ตำรวจ, สถาบันศาล, พรรคการเมือง และระบบราชการ ทั้งนี้ ทีไอย้ำว่าการทุจริตประพฤติมิชอบคือตัวหายนะซึ่งบ่อนทำลายการพัฒนาและทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศเลวร้ายลง

สำหรับรายงานของปีนี้ ทีไอยังเน้นย้ำเป็นพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของพวกธนาคารระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงินโลก ในการช่วยเหลือพวกชนชั้นนำที่น่าสงสัยในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง ซุกซ่อนหรือฟอกเงินที่ได้มาโดยไม่สุจริต

โรบิน ฮอดเดสส์ ผู้อำนวยการฝ่ายให้คำปรึกษาและวิจัยของทีไอ ยกตัวอย่างค่าปรับก้อนโตที่ธนาคารเอชเอสบีซีต้องจ่ายเพื่อยอมความกรณีที่แบงก์แห่งนี้ให้บริการแก่นักฟอกเงินในเม็กซิโก ส่วนธนาคารบีเอ็นพี ปาริบาส์ ก็ต้องจ่ายค่ายอมความมหาศาลเช่นกันสำหรับการถ่ายโอนเงินในนามซูดานและอีกหลายประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ

ทีไอระบุว่า การทุจริตเป็นปัญหาของทุกประเทศ และพวกศูนย์กลางการเงินชั้นนำในยุโรปและอเมริกาจำเป็นต้องร่วมกับพวกประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดยั้งกลุ่มคนทุจริตไม่ให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ

โคบัส เดอ สวาร์ต กรรมการผู้จัดการทีไอแนะนำเพิ่มเติมว่า อียูและอเมริกาควรสร้างระบบจดทะเบียนสาธารณะ เพื่อให้ทุกบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศของตนอย่างถูกกฎหมาย ต้องแสดงข้อมูลเจ้าของทั้งหมดที่มีผลประโยชน์ในบริษัท เช่นเดียวกับที่เดนมาร์กกำลังปฏิบัติอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ทีไอชี้ว่า เนื่องจากการคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นความลับ จึงไม่สามารถตรวจวัดเชิงประจักษ์ได้ และต้องใช้วิธีรวบรวมเทียบเคียงจากผลสำรวจต่างๆ ของธนาคารโลก, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา, อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต และหน่วยงานอื่นๆ จากนั้นจึงนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้ในการจัดอันดับ 175 ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนน 0-100 ซึ่ง 0 หมายถึงมีการคอร์รัปชันอย่างรุนแรง และ 100 หมายถึงขาวสะอาดมาก

สำหรับในปีนี้ มีประเทศที่ได้คะแนนเกินระดับ 90 คะแนนเพียง 2 รายเท่านั้น คือ เดนมาร์ก กับ นิวซีแลนด์ ซึ่งได้ 92 และ 91 คะแนนตามลำดับ ขณะที่ โซมาเลีย กับ เกาหลีเหนือ ซึ่งติดอันดับโหล่ร่วม ได้ 8 คะแนน ส่วนคะแนนเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่ 43 และมีประเทศถึงสองในสามทีเดียวที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ตุรกีเป็นประเทศที่คะแนนลดลงมามากที่สุด คือ 5 แต้ม จนเวลานี้ได้ 45 คะแนน ติดอันดับ 64 โดยที่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีได้ปราบปรามการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีอย่างรุนแรง รวมทั้งกดขี่และจับกุมผู้สื่อข่าวจำนวนมาก

ส่วนจีน, รวันดา, มาลาวี และแองโกลา ต่างมีคะแนนลดลง 4 คะแนน โดยที่แดนมังกรซึ่งปีนี้ได้คะแนน 36 แต้ม ทำให้หล่นลงมาถึง 20 อันดับจนอยู่แค่ที่ 100 ในคราวนี้ ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศการณรงค์อย่างเอิกเกริกเกรียวกราว ว่าจะกวาดล้างคนทำทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงระดับ “เสือ” หรือเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยระดับ “แมลงวัน”

ศรีรักษ์ ปลิปัต ผู้อำนวยการภาคเอเชียแปซิฟิกของทีไอ เขียนในรายงานว่า วิธีการปราบคอร์รัปชั่นที่จีนทำอยู่ในตอนนี้ เป็นวิธีแบบจากบนลงสู่ล่าง จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขาดทั้งความโปร่งใส, รัฐบาลที่พร้อมน้อมรับผิด, สื่อมวลชนเสรี และภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง

ปลิปัตชี้อีกว่า “การฟ้องร้องกล่าวโทษที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนใหญ่แล้วถูกมองว่าเป็นความพยายามในการบีบเค้นควบคุมพวกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบปกครอง มากกว่าจะเป็นการปราบปรามด้วยความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง”

ไม่เพียงแค่ตุรกีและจีน รายงานของทีเอชี้ว่า พวกประเทศที่เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตรวดเร็วรายอื่นๆ ก็มีปัญหาหนักในเรื่องคอร์รัปชั่นเช่นกัน เป็นต้นว่า บราซิล (ได้ 43 คะแนน) พวกเจ้าหน้าที่หลายรายกำลังถูกกล่าวหาว่ายักย้ายถ่ายเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากรัฐวิสาหกิจน้ำมัน “เปโตรบราส” ไปเข้าพรรคการเมืองต่างๆ, เม็กซิโก (ได้ 35 คะแนน) เกิดกรณีการหายสูญของนักศึกษา 43 คน ซึ่งบ่งบอกให้เห็นปัญหาที่พวกแก๊งอาชญากรแทรกซึมเข้าไปในรัฐบาลท้องถิ่นและตำรวจท้องที่ต่างๆ, หรืออินเดีย (ได้ 38 คะแนน) ก็มีปัญหาชาวอินเดียไปเปิดบัญชีเงินฝากจำนวนมากในมอริเชียส

โฮเซ อูกาซ ประธานทีไอชี้ว่า รัฐบาลประเทศเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว ที่ปฏิเสธแนวทางโปร่งใส และยอมให้มีการคอร์รัปชัน กำลังสร้างวัฒนธรรมของการนิรโทษซึ่งส่งเสริมให้การทุจริตเจริญงอกงาม

สำหรับประเทศไทยนั้น ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 และเป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปรียบเทียบจากปีที่แล้วซึ่งได้อันดับที่ 102 ในระดับโลก และอันดับที่ 16 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งถูกนำมาจัดทำดัชนี 9 ประเทศนั้น ไทยอยู่อันดับ 3 ทั้งนี้อาเซียนมีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้นที่มีคะแนนเกิน 50 แต้ม

“การที่อันดับของไทยเลื่อนขึ้น เป็นเพราะหลายประเทศที่เคยมีคะแนนเท่ากันหรือมากกว่าเราในปีที่แล้ว ได้คะแนนเท่าเดิมหรือบางประเทศกลับได้คะแนนลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่าเรา” ดร.จุรี แจกแจง พร้อมระบุว่าในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนในสังคมไทยได้พยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและเห็นผลของการแก้ปัญหาบางด้าน เช่น การปลูกฝังความดีให้เด็กๆ ในการเรียนการสอนหลักสูตร “โตไปไม่โกง” และการดำเนินการ “โรงเรียนคุณธรรม” รวมถึงการตื่นตัวของภาคธุรกิจในการต่อต้านการทุจริต อีกทั้งคนไทยจำนวนมากได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน

“การที่คนในสังคมตื่นตัวต่อปัญหาร่วมกันเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า ประเทศไทยได้นำพลังร่วมของคนในสังคมมาผลักดันการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง ทั้งนี้ รวมถึงการไม่ยอมรับการโกงทุกรูปแบบและไม่ให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม และมีการกลั่นกรองและตรวจสอบผู้บริหารประเทศให้ทำงานด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส นึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง” ดร.จุรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น