xs
xsm
sm
md
lg

“ภัยหนาว”แบบระบบราชการไทย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ ประเทศของเราประสบกับสาธารณภัยที่เรียกว่า “ภัยหนาว” เป็นประจำทุกปีความถี่ระดับเดียวกับญี่ปุ่นเผชิญกับแผ่นดินไหว ดูข่าวย้อนหลังได้เลยจังหวัดทางภาคเหนือ-อีสานทยอยประกาศการเกิดภัยหนาวที่น่าสะพรึงจังหวัดละหนุบละหนับปีละครั้งกันเป็นประเพณี

ข่าวล่าสุดปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่เริ่มประเดิมประกาศนำร่องไปแล้ว 4 อำเภอ อูวว์...น่าตระหนกแท้เพราะเนื้อข่าวยังบอกว่าทางราชการได้สำรวจว่าประชากรชาวเชียงใหม่ที่ประสบภัยเดือดร้อนน่าเวทนาแสนสาหัสมีถึงกว่า 3 แสนคนใน 25 อำเภอ ตบท้ายด้วยการบอกว่าเรากำลังจะของบประมาณไปจัดซื้อเครื่องกันหนาวไปแจก(ว่ะ) ฮาๆ

ผมย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่เชียงใหม่เป็นการถาวรเมื่อปี 2539 เจอปีที่อากาศหนาวผิดปกติจริงๆ ราว 3-4 ครั้งเท่านั้นส่วนที่เหลือก็หนาวตามปกติและก็มีหลายปีที่แทบไม่หนาวเลยก็มี เขาบอกว่าบนดอยมันหนาว ก็หนาวจริงๆ ล่ะครับยอมรับแต่มันก็ไม่ใช่การหนาวอาเพศผิดปกติจนขนาดเป็นภัยต่อการดำรงชีวิต อากาศตามชุมชนบนดอยที่เขาว่าหนาวๆ พอสายหน่อยส่วนใหญ่ก็เกิน 16-17 องศา หนาวแบบเมืองไทยเป็นแค่หนาวเย็นตามฤดูกาลเท่านั้นเองแต่แปลกที่ประเทศเราก็ยังขยันประกาศภาวะนั้นให้กลายเป็น สาธารณภัย (Disaster) อย่างไม่ต้องแยแสสายตาใคร

ประเทศเราเป็นประเทศเมืองร้อนอยู่ในเขตมรสุมหนักไปทางหน้าร้อนกับหน้าฝนบางปีร้อนมากเกิดแล้ง หรือฝนมากเกิดน้ำท่วมอันนี้พอจะยอมรับให้เป็น “สาธารณภัย-Disaster” ตามนิยามได้ แต่สำหรับ “ภัยหนาว” บอกตรงๆ ว่ามันไม่สมควรจะจัดให้เป็นภัยพิบัติได้เลย แต่เรากำหนดให้เป็นภัยโดยการตั้งเกณฑ์ว่าพื้นที่ใดมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซนเซียสติดต่อกัน 3 วันสามารถประกาศเป็นเขตภัยพิบัติหนาวสามารถใช้งบประมาณฉุกเฉิน จัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน

แบบนี้ก็สบายข้าราชการ นักการเมืองสิครับ !

คลื่นความหนาวแบบที่บ้านเราเผชิญมันมาเป็นระลอก 3 วัน 5 วันพอหมดจากระลอกคลื่นลูกนั้นอากาศก็กลับมาปกติไม่ได้หนาวเย็นต่อเนื่องตลอดฤดูเหมือนในเมืองนอก เช่นบางพื้นที่อุณหภูมิ 14 องศาในตอนเช้ามืดพวกก็มาจับปรอทเทอร์โมมิเตอร์เฉพาะตอนเช้านั้นเพื่อให้เข้าเกณฑ์เงื่อนไข ส่วนพอสายมาหน่อยอากาศเกิน 15 หรือปาไปถึง 25 องศาพวกก็ไม่สนแล้วจ้องจะวัดเฉพาะที่เข้าเกณฑ์ราชการ หรือว่าระลอกความหนาวเกิดขึ้นแค่สามวันจากนั้นก็ร้อนปกติแต่ราชการไม่สนแล้วเพราะถือว่าได้ประกาศพื้นที่พิบัติภัยไปแล้วเราจึงได้เห็นว่ามีบางปีนักการเมืองยกขบวนข้าราชการกันไปอย่างเอิกเกริกไปแจกผ้าห่มราษฎรที่เกณฑ์กันมาเต็มหอประชุมอำเภอกลางแดดเปรี้ยงเหงื่อไหลไคลย้อยกันเป็นแถว

ตามเกณฑ์ที่ว่าพื้นที่ราบถูกราชการกำหนดให้เผชิญพิบัติภัยหนาวแต่ของจริงร้อนเปรี้ยงๆ ก็มีมาแล้ว

น่าทุเรศทุรังดีแท้..แต่ก็ยังทำต่อเนื่องกันมาตามประสาราชการไทย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักของการชงเรื่องให้ผู้ว่าฯประกาศเขตพิบัติภัยและเป็นหน่วยหลักในการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษบรรเทาทุกข์ราษฎรหน่วยงานนี้จัดตั้งขึ้นใหม่ตอนรัฐบาลทักษิณปฏิรูประบบราชการ ย้อนกลับไปดูเป้าหมายวัตถุประสงค์แต่แรกก็ชัดเจนดีอยู่ว่าเพื่อเป็นหน่วยงานหลักรองรับปัญหาสาธารณภัยหรือ Disaster ประเภทต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติและจากมือของมนุษย์สร้าง ระดับของภัยมันควรจะเป็นเหตุใหญ่จริงเช่นน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว โคลนถล่ม สึนามิ รถแก๊สระเบิด สารเคมีอันตรายจากโรงงานรั่วกินพื้นที่ชุมชนใหญ่ หรือจากการจลาจรมีหน้าที่สร้างระบบป้องกันที่ดี ระบบเตือนภัย ระบบแก้ปัญหาฉุกเฉิน ตลอดถึงการประเมินปัญหาภัยที่ผ่านๆ มาเพื่อหาวิธีบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากปี 2545 มาถึงปีนี้ครบ 12 ปีพอดี หน่วยงานนี้ประเมินวิธีการแก้ปัญหาภัยหนาวกันแบบไหนไม่รู้เพราะต้องมีการจัดซื้อผ้าห่มเครื่องกันหนาวสงเคราะห์แจกกันทุกปี ช่างเป็นการสรุปบทเรียนสภาพปัญหาที่ชาญฉลาดมาก การทำงานแบบวิน-วินลักษณะนี้ข้าราชการชอบ นักการเมืองชอบ ชาวบ้านที่รับแจกก็ชอบแบบวิน-วิน ยกเว้นก็แต่ประชาชนที่รู้สึกเสียดายเงิน-ภาษีเท่านั้นที่ไม่ชอบ (ซึ่งนักการเมืองและข้าราชการก็ไม่ต้องไปแคร์อะไรกับคนที่ส่งเสียงดังไม่กี่คนพวกนี้)

พอฤดูหนาวเข้ามาหนหนึ่ง ข้าราชการจะคอยวัดอุณหภูมิพื้นที่ของตนเพื่อจะได้ประกาศภัยหนาว กำหนดเขตพื้นที่และตัวเลขชาวบ้านผู้ประสบภัยจากนั้นก็ชงเรื่องผู้ว่าฯประกาศเขตพิบัติภัยจะได้งบไปจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ การจัดซื้อจัดจ้างกำหนดให้ซื้อจากสหกรณ์กลุ่มแม่บ้านดูเผินๆ เหมือนดีแต่ในหลายพื้นที่มันคือการเอาเงินหลวงไปหาเสียงกับฐานคะแนนตัว ยิ่งตอนแจกหากเป็นยุคเลือกตั้งนักการเมืองจะโผล่หน้ามาแจกเอาคะแนนอีก งานนี้นักการเมืองได้ 2 เด้ง เอาเงินหลวงไปซื้อของจากฐานคะแนนผูกพันผลประโยชน์ไว้เด้งหนึ่ง แล้วก็ไปเอาหน้าตอนแจกผ้าห่มอีกเด้ง

ภัยหนาวมันเลยไม่หมดไปจากประเทศนี้สักทีเพราะมันผูกพันผลประโยชน์กันอยู่ระหว่างกลุ่ม กลายเป็นภัยประเพณีตามฤดูกาลต่อให้ฝรั่งงงว่ามันไม่ใช่ Disaster ก็ช่างฝรั่งมันเพราะนี่มันเป็นเรื่องของระบบการบริหารราชการแบบไทยๆ

ประเทศนี้พอใจกับการบริหารราชการแบบสังคมสงเคราะห์แก้ปัญหาปลายเหตุมาทุกยุค เอาความเคยชินของระบบราชการเป็นใหญ่ พอหน้าหนาวมีหมู่บ้านบนพื้นที่สูงกี่หมู่บ้านที่หนาวซ้ำซากไม่เคยนับรวมไว้เป็นสถิติเพราะหากรวบรวมไว้มันมีน้อย ต่อให้หนาวจริงก็สามารถจัดการล่วงหน้าตามงบประมาณประจำได้เขาเลยไม่ทำกัน สู้รอให้พอหน้าหนาวทีประกาศเขตภัยพิบัติทีแจกซ้ำๆ กันอยู่หมู่บ้านเดิม 2 ปีเว้นไปปีอย่าให้ซ้ำกันวนเวียนกันอยู่นั่น หากเอาข้อมูลมากางทบทวนกันจริงๆ ว่าที่ไหนหนาวซ้ำซากจริงๆ จะได้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นทำเตาผิงแจกประจำบ้านไปเลยไม่ต้องควักงบทุกปี ความหนาวที่ว่าก็จะไม่ได้เป็นภัยอะไรต่อไปเลย

ความหนาวตามฤดูกาลไม่ได้เป็นภัย...หน้าหนาวของประเทศไทยหากจะเป็น “ภัย” ก็เป็น “ภัย”ต่องบประมาณแผ่นดินและต่อผู้เสียภาษีถ้วนหน้าเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น