จุลสารราชดำเนิน ซึ่งจัดทำโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำเดือนตุลาคม 2557 ได้ถูกแจกจ่ายไปยังสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งกระจายไปยังสถานที่สำคัญ ทั้งทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ และพรรคการเมือง ด้วยยอดพิมพ์ประมาณ 2 พันฉบับ กลายเป็นที่ฮือฮาในแวดวงสื่อมวลชนด้วยกันอีกครั้ง
เพราะฉบับล่าสุดหน้าปกสีดำสะดุดตา พร้อมด้วยข้อความพาดหัวตัวเขื่องว่า “เกียรติภูมิ...อันฝันใฝ่?”
เสมือนเป็นการตั้งคำถามว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ในยามที่บ้านเมืองไม่ปกติ ประกาศ และคำสั่งหลายฉบับถูกบังคับใช้ตั้งแต่ขอความร่วมมือด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ไปจนถึงปิดตายขององค์กรสื่อไม่ให้เผยแพร่หรืออกอากาศเช่นนี้ เกียรติภูมิของสื่อมวลชนยังหลงเหลืออยู่อีกหรือ
ด้วยความที่ผมไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ (ตั้งใจว่าจะไปสมัครสมาชิกปีหน้า ด้วยความหวังที่ว่าเวลามีเมียมีลูกจะได้ใช้สิทธิ์โครงการลูกคนแรก --- ฮา) จึงต้องอาศัยหยิบยืมพี่ที่อยู่โต๊ะข้างๆ ที่อ่านแล้วไม่เก็บไว้ไปอ่านต่อ ก็พบว่าเนื้อหาภายในเล่มน่าสนใจ แม้ก่อนหน้านี้เปลี่ยนตัว บก. ไปจะทำให้เนื้อหาที่ออกมาดูไม่คุ้นเคยไปบ้าง
นอกจากเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การทำหน้าที่สื่อมวลชนในช่วงที่ คสช. เข้าควบคุมอำนาจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ออฟฟิศได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กรณีที่นิตยสาร ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ยอมยุติตีพิมพ์ เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะการคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการจัดซื้อเครื่องสุขภัณฑ์ภายในทำเนียบรัฐบาล
ในหน้า 11 พาดหัวว่า “คำสั่งเชือดวิพากษ์ท่านผู้นำ ผู้จัดการปกดำ หยุดพิมพ์ 1 เดือน”
ทราบเบื้องหลังว่า หลัง คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็ไม่พอใจการใช้อำนาจของ คสช. มาชี้นิ้วสั่ง และเตรียมออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืน เพราะเห็นว่า หาก คสช. ร้องเรียนมาตามกระบวนการในฐานะผู้เสียหาย ก็พร้อมที่จะสอบสวนให้ ไม่ใช่มาทำกันแบบนี้
ภายหลัง คสช. ร้องขอให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ระงับการออกแถลงการณ์ โดยอ้างว่าเพื่อบรรยากาศการปรองดองและลดการเผชิญหน้าระหว่าง คสช. กับสื่อมวลชน โดยรับปากว่าจะยื่นหนังสือร้องเรียนเข้ามา ตามขั้นตอน กระทั่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. ก็ส่งหนังสือเข้ามา
แต่ในยามที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความลำบากใจให้กับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงตัดสินใจยุติการตีพิมพ์หนังสือเป็นเวลา 1 เดือน โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการตีพิมพ์หนังสือ “ปกดำ” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทในหน้าประวัติศาสตร์สื่อมวลชนไทยที่ต้องจารึกไว้
ผมอ่านเนื้อหาชิ้นนี้แล้ว ได้แต่คิดในใจว่า รู้สึกดีที่ไม่ได้ยืนอยู่บนนี้อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย อย่างน้อยประวัติศาสตร์ยังถูกบันทึกไว้อยู่ว่า ออฟฟิศเราเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น แม้หลายคนจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ถ้าคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นก็คงเข้าใจดีว่าอะไรเป็นอะไร
ในจุลสารราชดำเนินฉบับนี้ ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังการทำข่าวในยามที่ คสช. เข้าควบคุมอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งข่าว เมื่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปถึงเหล่าข้าราชการทหารระดับสูง ผู้สื่อข่าวไม่มีทางจะเข้าถึงเพื่อขอสัมภาษณ์ได้ ข้าราชการระดับสูง ปลัดกระทรวง อธิบดี ไม่กล้าให้รายละเอียดใดๆ เพราะย่อมมีผลต่อตำแหน่ง
หรืออย่างเช่นพรรคเพื่อไทย ยินยอมที่จะพุดคุยแบบ “ออฟเรคคอร์ด” กับผู้สื่อข่าวประจำพรรคเท่านั้น แต่หากขอให้เปิดชื่อ เปิดหน้าทุกรายล้วนปฏิเสธ ด้วยคำพูดที่ว่า “อย่าเลย คสช. ปล่อยตัวมาก็บุญแล้ว” กระทั่งในระยะหลังๆ แหล่งข่าวเริ่มสัมภาษณ์ด้สยเนื้อหาที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช. เช่น การแสดงความคิดเห็นด้านปฏิรูป
ส่วนปัญหาในการนำเสนอเนื้อหาและคำพูด ผู้สื่อข่าวภาคสนามส่วนใหญ่บอกในทิศทางเดียวกันว่า สำหรับข่าวนั้นไม่ได้ระมัดระวังในการใช้ภาษาหรือถ้อยคำอะไรมากนัก แหล่งข่าวสื่อสารมาอย่างใดก็พิมพ์ไปตามนั้น ซึ่งแตกต่างจากบทวิเคราะห์หรือรายงานพิเศษที่อาจต้องควบคุมความหวือหวา
แต่สำหรับกองบรรณาธิการ แม้ยังไม่ถูก คสช. ไล่บี้มาโดยตรง แต่จากประกาศและคำสั่งต่างๆ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่เรียบเรียงข่าวซึ่งเรียกกันว่ารีไรท์เตอร์ หรือหัวหน้าข่าวเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องความกระด้างกระเดื่อง โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่ล่อแหลม เช่น “ยึดอำนาจ” “ปฏิวัติ” ที่จะเปลี่ยนมาเป็น “เข้าควบคุมอำนาจ”
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเซ็นเซอร์เนื้อหา โดยลดพื้นที่การนำเสนอของกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร แต่เน้นกิจกรรมคืนความสุขแทน หนักเข้าถึงกับมีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เจ้าของกิจการส่งอีเมลภายในถึงทุกโต๊ะข่าวว่า “ห้ามลงข่าวที่กระทบต่อ คสช. และขอยกเลิกคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษแหล่งข่าวไปก่อน และหากเกิดเรื่องทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบ”
ส่วนบนเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ก็ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สอดส่องการนำเสนอข่าว เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำเสนอข่าวของนักวิชาการที่ต่อต้าน คสช. รายหนึ่งถูกกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางและถูกออกหมายจับ ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ไอซีทีติดต่อมายังผู้ดูแลเว็บไซต์เพื่อให้ลบข่าวชิ้นนี้ทิ้ง
จริงๆ ในเล่มยังมีเนื้อหาอีกมาก ที่คนในแวดวงสื่อสารมวลชน นิสิต-นักศึกษาคณะนิเทศสาสตร์ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน รวมทั้งคนที่สนใจการทำงานของสื่อน่าจะมีโอกาสได้อ่านและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทราบมาว่าสมาคมนักข่าวฯ ได้อัปโหลดจุลสารฉบับนี้ไว้บนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว
หลัง คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ที่ออฟฟิศก็มีผลกระทบต่อการนำเสนอข่าวอยู่บ้าง อย่างเช่นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนิวส์วัน ซึ่งเคยเป็นเอเอสทีวี หลังจากที่ถูกปิดสถานีมานานถึง 100 วัน ออกอากาศไปสักพักก็ได้รับคำเตือนจาก กสทช. ห้ามพูดถึงอดีต และห้ามพาดพิงถึงบุคคลที่สาม การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจึงมีข้อจำกัด
ตอนหลัง ช่องนิวส์วันได้ออกประกาศก่อนเข้ารายการข่าวต่างๆ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชมถึงเหตุผลที่การนำเสนอข่าวในช่วงนี้ว่าไม่สามารถให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและครบถ้วนได้ ก็ถูกอนุกรรมการตรวจสอบสื่อของ กสทช. และ คสช. เรียกไปตักเตือนอีกครั้ง เพราะไม่พอใจประกาศก่อนเข้ารายการชิ้นดังกล่าว
ทาง พี่วิชช์-สุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหารช่องนิวส์วันก็ชี้แจงว่า การทำงานข่าวนั้นต้องมีการพูดถึงที่ไปที่มาของข่าว เมื่อเราไม่สามารถพูดได้ ก็เลยต้องประกาศว่าการนำเสนอข่าวของเราไม่รอบด้าน เรื่องนี้ให้ถาม อ.พิรงรอง รามสูต ซึ่งสอนด้านสื่อมวลชนดูได้ เขาชี้แจงมาว่า เท่ากับกล่าวหาว่าเขาปิดกั้นเสรีภาพ
พี่วิชช์ก็บอกว่า บอกแค่ว่าเราไม่สามารถเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน ไม่ได้บอกว่า เขาปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งอีกฝั่งบอกว่า เขาไม่ได้ห้ามเราพูดที่มาของข่าวถ้าเป็นข้อเท็จจริง แต่อย่ากล่าวหาบุคคลที่สามหรือด่วนสรุป สุดท้ายก็รับปากว่า จะเอาประกาศก่อนเข้ารายการออก แล้วก็บอกว่า จากกรณีนี้ อ.พิรงรอง ต้องกลับไปสอนนักศึกษาของอาจารย์ใหม่
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจดจำ สำหรับการทำหน้าที่สื่อในยุคนี้ ...
อีกหนึ่งเรื่องที่เพิ่งจะเป็นประเด็น คือ การที่นายกฯ แสดงความไม่พอใจในการใช้คำของสื่อ อย่างคำว่า “โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ” ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับ คสช. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุม ว่า ได้ขอวิงวอนไปยังสื่อทุกท่าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว อยากให้ช่วยทำให้องค์กรของตัวเองมีความเข้มแข็งและได้รับความน่าเชื่อถือจากทุกฝ่าย
“คำบางคำเป็นคำในเชิงลบ ไม่แน่ใจว่ามีการคิดประดิษฐ์คำทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร เช่น นายกฯหรือรองนายกฯที่พยายามชี้แจงหรืออธิบายความในงานที่ได้ทำตามข้อสัญญาที่มีไว้กับประชาชนแต่ก็ไปใช้คำลักษณะทำนองว่า โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นไปในทางลบ ไม่สร้างสรรค์ ทำให้สังคมมองว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเพื่อประชาชนขี้โม้ แล้วเช่นนี้จะสร้างสรรค์กำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างไร และในการปฏิรูปประเทศสื่อควรเสนอแนวคิดเข้าไปในวงปฏิรูปเพื่อให้องค์กรของตัวเองให้ได้รับความน่าเชื่อถือ”
เช้าวันต่อมานักข่าวก็ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงเรื่องนี้ก็ตอบว่า “ไม่รู้ แล้วสื่อชอบไหม ถ้าใครไปว่าคุณ คุณชอบไหม” ถามย้ำว่าไม่อยากให้ใช้ใช่หรือไม่ ก็กล่าวว่า “ก็แล้วแต่ท่าน คิดเอาเอง ทำไมต้องตอบทุกเรื่องเดี๋ยวก็เป็นประเด็นอีก อะไรที่คุณไม่ชอบ คุณก็กลับไปถามตัวเองก่อนว่าไม่ชอบอะไร ผมก็ไม่ชอบอันนั้น อย่าถามผม อาจจะไม่ตรงกัน”
บอกตามตรงว่า หลังจากที่มีการเปิดเผยออกมาว่า “ท่านผู้นำ” ไม่ชอบใช้คำแบบนี้ ผมก็คุยกับพี่ที่เป็นรีไรท์เตอร์การเมืองอีกท่านหนึ่ง เขาก็เชื่อว่า คำว่า “โว ฟุ้ง ตีปี๊บ” เป็นคำในแง่ลบจริง แต่คำว่า “ปัด” นี่มายังไง เพราะคำนี้มีความหมายในเชิงปฏิเสธเฉยๆ เช่น “ประวิตรปัดคุยกับทักษิณ” ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงคำในแง่ลบ
หาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.ต.สรรเสริญ มองว่าคำว่า “ปัด” หมายถึง อาการที่โกรธกระฟัดกระเฟียด หรืออาการที่ดิ้นพราด ๆ อย่างปลาที่ถูกตี ก็ย่อมเป็นการคิดที่เลยเถิดกันเกินไป เพราะอาการแบบนี้จริงๆ มันต้องใช้คำว่า “ปัดๆ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ผมคงไม่อยากจะยกหลักการมาอธิบายให้ยืดยาว แต่ปกติการพาดหัวข่าวมันต้องสั้น กระชับ โดยใช้คำตัดสั้นหรือกร่อนคำ ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใช้เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่คอลัมน์ข่าว แม้ในส่วนของเว็บไซต์ข่าวจะมีความยืดหยุ่น แต่การพาดหัวข่าวก็ยังจำเป็นต้องสั้น ไม่อย่างนั้นพาดหัวข่าวยืดยาวมากไปก็จะลดความน่าสนใจลง
ทีนี้ พาดหัวข่าวจำเป็นต้องดึงดูดความสนใจคนอ่าน ภาษาที่ใช้จึงเป็นคำที่อยู่ในกระแสความนิยม มีสีสัน บางทีการใช้คำที่ว่า “โว ฟุ้ง ตีปี๊บ” อาจเป็นเพราะอวัจนภาษาที่ใช้สื่อสารกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ ภาพในอดีตมักจะเป็นคนที่ใช้อารมณ์เวลาพูด แม้หลังเป็นนายกรัฐมนตรีภาพลักษณ์จะดูนิ่งลง แต่สังคมก็ยังจำภาพนั้นได้ติดตา
แม้ผู้สื่อข่าวภาคสนามจะทยอยส่งข่าวมาที่กองบรรณาธิการ เพื่อให้รีไรท์เตอร์หยิบไปเรียบเรียงเนื้อหา พาดหัวข่าว ก่อนนำมาขึ้นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ตามกระบวนการทำข่าวในยุคปัจจุบัน แต่ด้วยความที่รีไรท์เตอร์ไม่ได้มาเห็นแหล่งข่าวโดยตรง การตีความแหล่งข่าวจึงต้องมองไปถึงภาพลักษณ์ที่มาจากอวัจนภาษาและพฤติกรรมในอดีต
ถ้าเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ การพาดหัวข่าว (ที่ไม่ใช่บทความ) มักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำที่สร้างความเกลียดชังอยู่แล้ว อย่างคำว่า “ทรราช ควาย สลิ่ม เหี้ย” ที่มุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม นักข่าวตัวจริงไม่มีใครเขาเอามาใช้กันหรอก มีแต่เว็บบอร์ด บล็อก และเฟซบุ๊กการเมืองที่ใช้ เนื่องจากไม่มีกลไกควบคุม อยากด่าอะไรแรงๆ เรียกยอดไลค์หาพวกก็ทำได้ตามใจ
การที่นายกฯ แสดงความไม่พอใจกับการพาดหัวข่าว ด้านหนึ่งสื่อมวลชนอาวุโสก็คิดไปว่า แค่พาดหัวข่าวเฉยๆ จะเอาเป็นเอาตายอะไร แต่สำหรับคนที่ทำงานทั้งผู้สื่อข่าวและรีไรท์เตอร์ ผมเชื่อว่าหลายสำนักอาจต้องทบทวนคำว่า “โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ” ให้น้อยลง โดยหันมาใช้คำอื่นแทน มองมุมกลับก็ดีเหมือนกันที่จะได้ลับสมองคิดพาดหัวใหม่ๆ กันมากขึ้น
เคยพิมพ์เล่นๆ ว่า สงสัยเวลาพาดหัวว่า “ประยุทธ์ดอดจ่ายตลาด แวะซื้ออะโวกาโด” ต่อไปนี้คงต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า “ประยุทธ์ดอดจ่ายตลาด แวะซื้อลูกเขียวๆ ดำๆ” แทน (ฮา)
สุดท้ายนี้ แม้ผมจะทำข่าวมานาน 4-5 ปีก็จริง แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่ายังเป็นผู้น้อยในแวดวงสื่อมวลชน ไม่อยากจะมีเรื่องกับใคร คงไม่อยากจะพูดอะไรเพิ่มเติม นอกจากจะขออนุญาตหยิบยกความเห็นจากเฟซบุ๊กของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“... การพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์นั้น ตามหลักวิชาการด้านวารสารศาสตร์มักสอนกันว่า ห้ามนักข่าว หรือบรรณาธิการข่าวใส่ความคิดเห็นลงไป เพราะต้องแยกระหว่างข่าว ข้อเท็จจริง กับความคิดเห็น
แต่ในสังคมไทยนั้น การพาดหัวข่าวกลายเป็นกลยุทธ์เรียกลูกค้าวิธีหนึ่ง
หลายครั้งที่เราเห็นพาดหัวข่าวด่าทอ ประณามแหล่งข่าวประเภท “ใจชั่ว” “เหี้ยมโหด” หลายครั้งที่เราเห็นพาดหัวข่าวเย้ยหยัน ดูถูกดูแคลนแหล่งข่าว บางฉบับโดยเฉพาะสื่อบันเทิงใช้คำหยาบคายกันเลยทีเดียว ฯลฯ
โดยส่วนตัวจึงไม่รู้สึกอะไรมากที่นายกฯ โอดครวญเรื่องคำพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ เพราะท่านสามารถวิจารณ์สื่อได้ในฐานะแหล่งข่าว หรือสามารถขอร้องสื่อได้โดยภาพกว้าง
แต่นายกฯ ต้องไม่ล้ำเส้นเกินกว่านี้ ไม่ควรใช้อำนาจทางกฎหมาย ทางการเมืองใดๆบีบบังคับสื่อ
ควรปล่อยให้สังคม หรือผู้อ่านหนังสือพิมพ์เขาตัดสินเองว่าสื่อไหนมุ่งโจมตีโดยไม่สร้างสรรค์ หรือสื่อใดวิจารณ์ตามหน้าที่ ...”