xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เร่งหาต้นตอรับจ้างทำการบ้าน คาดเป็นเด็กมัธยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ. เตรียมประสาน ไอซีที ตรวจสอบสื่อออนไลน์หาต้นตอรับจ้างทำการบ้าน “สุทธศรี” ชี้หากพบว่าคนรับจ้างเป็นครู ต้องถือว่าผิดวินัย ทั้งยังทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ระบุประเทศอื่นจะทำไม่สน แต่ต้องไม่ทำในประเทศไทย พร้อมให้ สพฐ.- สช. บูรณาการการให้การบ้านที่เหมาะสม ด้าน สพฐ. คาดเลียนแบบมาจากกรณีรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ของ ป.โท - เอก จนลามมาการศึกษาพื้นฐาน คาดคนรับจ้างเป็นเด็กมัธยม เตรียมเสนอ “กมล” ทำหนังสือย้ำเตือนไปยังเขตพื้นที่ให้การบ้านสมเหตุสมผล
ภาพประกอบจากเด็กดีดอทคอม
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีนักเรียนร้องเรียนว่ามีธุรกิจการรับจ้างทำการบ้าน และรายงานต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ทุกประเภท ทั้งเฟซบุ๊ก แชตไลน์ ฯลฯ โดยรับทำตั้งแต่ระดับประถม - มัธยม ซึ่งการบ้านราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท ส่วนรายงานราคาเริ่มต้นที่ 200 บาท ว่า ขณะนี้ได้มอบให้สำนักนิติการ (สน.) สำนักงานปลัด ศธ. ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อตรวจสอบสื่อออนไลน์ทุกประเภทที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำการบ้าน ว่า มีการรับทำจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ มีทั้งจริงและไม่จริง เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมกันนี้ ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตรวจสอบว่าใครเป็นคนรับจ้างทำการบ้าน หากพบว่าเป็นครูจะต้องมีการเอาผิดทางวินัย เพราะถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู แต่หากเป็นคนที่ไม่ใช่ครูก็คงต้องให้ สน. ไปพิจารณาว่าผิดข้อกฎหมายใดๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เป็นการกระทำผิดทางด้านคุณธรรม และจริยธรรมแน่นอน

“การเปิดธุรกิจรับจ้างทำการบ้านถือเป็นการทำลายระบบการศึกษาของชาติ และเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการทำในลักษณะนี้ แต่เป็นเรื่องของเขา แต่ยืนยันว่าประเทศไทยไม่สมควรจะมีธุรกิจดังกล่าว เพราะแค่การที่เด็กมีพฤติกรรมตัดแปะก็แย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาชีพในรูปแบบที่หลากหลาย และมีความแปลกมากขึ้น เช่น รับจ้างออกเดต ดังนั้น การจะทำอาชีพอะไรจึงอยู่ที่คุณธรรมและจริยธรรมของคนๆ นั้น แต่เรามีหน้าที่ต้องส่งเสริมคนให้รู้ว่าแม้จะเป็นธุรกิจที่ทำให้ได้เงินก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีจิตสำนึกด้วย โดยต้องดูว่าได้เงินมาแบบถูกทาง และเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการรับจ้างทำการบ้านทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนา ถือเป็นการกระทำที่ไม่ช่วยเหลือสังคม” นางสุทธศรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ การสั่งการบ้านเป็นจำนวนมากนั้น คงไม่ได้เกิดขึ้นทุกโรงเรียน เพราะเท่าที่ทราบมีบางโรงเรียนก็ไม่ได้สั่งการบ้านเยอะ แต่ทั้ง สพฐ. สช. ควรต้องทบทวนเรื่องการให้การบ้านนักเรียน โดยต้องเป็นแบบบูรณาการ มีความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

ด้าน นางสาวไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มอบหมายให้ สวก. หาข้อมูลการรับจ้างทำการบ้านที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เพื่อนำเสนอ เบื้องต้น คาดว่าการรับจ้างทำการบ้านน่าจะเป็นไปตามกระแสสังคมที่มีการจ้างทำผลงานทางวิชาการครู การรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและเอกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เช่นกัน จึงน่าจะลามมายังนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ เท่าที่วิเคราะห์จากข้อมูลที่ปรากฏคาดว่าน่าจะเป็นนักเรียนระดับมัธยมคึกษาที่รับจ้างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจจะเป็นการรับจ้างติดต่อกันทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นการทำลายการศึกษาอย่างมาก เพราะคนที่มาจ้างทำการบ้านก็จะไม่มีความรู้ ซึ่งตนจะเสนอให้ นายกมล ทำหนังสือย้ำเตือนไปยังเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อกำชับให้ครูให้การบ้านนักเรียนอย่างสมเหตุผล ไม่ยาก และมากเกินไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น