xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตศรัทธา อาจจะมาจากความไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ดังที่ได้กล่าวไว้เรื่อง สนช.กับการพิจารณาญัตติถอดถอนไปในครั้งที่แล้ว ตอนนี้ก็ปรากฏว่า สนช.ได้นำเอาญัตติเรื่องอำนาจ สนช.ว่าจะมีอำนาจในการถอดถอนอดีตประธานสภาผู้แทนและอดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช หรือไม่ โดยกำหนดไว้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน หรือวันพฤหัสหน้า พร้อมกับบรรจุญัตติถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไว้ ในวาระวันที่ 12 หรือวันพุธถัดไปนั่นเอง

กล่าวคือถ้าได้ข้อสรุปเรื่องอำนาจถอดถอนในวันที่ 6 เมื่อไร เรื่องวันที่ 12 ก็จะชัดเจนขึ้นประมาณหนึ่ง

ไม่อยากจะตีปลาหน้าไซไว้ก่อน แต่ก็อยากฝากให้ สนช.พึงระลึกไว้ว่า เรื่องการถอดถอนอดีตนักการเมืองฝ่ายทักษิณที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการเมืองเขม็งเกลียวขึ้นมาจนจบลงด้วยการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ประชาชนยังจับตาดูอยู่ว่า พวกท่านจะเอาจริงแค่ไหน จะเป็น “มวยล้ม” อย่างที่วิญญูชนสงสัยไว้ก่อนหรือไม่

คงต้องกล่าวซ้ำอีกว่าการ “ถอดถอน” นั้น คือการทั้ง “ถอด” ออกจากตำแหน่ง และ ทั้ง “ถอน” ออกจากวงการเมือง ดังนั้นแม้จะไม่ต้อง “ถอด” ออกเพราะถือว่าหลุดจากตำแหน่งไปตามการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่ก็ยังต้อง “ถอน” ออกไปจากวงการเมืองไทยอยู่ดี และเรื่องนี้เป็นอำนาจของ “รัฐสภา” ซึ่งก็ได้แต่สภาที่ท่าน สนช.ทั้งหลายเข้าไปนั่งสวมสิทธิอยู่นั่นแหละ

อย่าหลงเชื่อที่ใครพยายามบอกว่า “ตำแหน่งไม่มีแล้วจะไปถอดถอนทำไม” หรือ ไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจถอดถอนไว้ทำไม่ได้

นอกจากเรื่องถอดถอนแล้ว ในขณะนี้กระแสของประชาชนที่มีต่อ คสช.และคณะทั้งหลายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการบริหารประเทศและ “ปฏิรูป” ในด้านต่างๆ เริ่มจะตีกลับแล้ว

นั่นคือการที่คนส่วนหนึ่งกำลังสงสัยว่า ตกลงแล้ว การรัฐประหารครั้งนี้จะ “แก้ปัญหา” บ้านเมืองที่ถูกกัดกินมานานภายใต้ระบอบทักษิณได้จริงหรือ

หรือแค่เป็นการเปลี่ยนจาก “นกกระสา” มาเป็น “นกกระยาง” ซึ่งในที่สุดแล้วก็มากิน “กบ” ในบ่ออยู่ดี แค่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตา เปลี่ยนปากเปลี่ยนปีกไปเท่านั้นเอง

อย่างเช่นเรื่องการปฏิรูปพลังงานที่ไม่สนใจฟังเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งถ้ารอบนี้ดำเนินการไปได้ ก็จะผูกพันต่อไปถึง 39 ปี

ในขณะที่เครือข่ายพลังงานและประชาชนนั้นมองว่า รัฐยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากในเรื่องการให้เอกชนเข้ามีส่วนในกิจการพลังงาน นอกเหนือจากการเปิดสัมปทานซึ่งเป็นแนวคิดเก่า ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นลักษณะของการให้สัมปทานเอกชนไปทำมาหาได้ เป็นการใช้วิธีการอื่นบ้าง เช่น การร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใหม่กว่า

และเพราะที่สำคัญ เนื่องจากโจทย์หนึ่งในการปฏิรูปนี้ มีเรื่องการปฏิรูปพลังงานด้วย เช่นนี้ก็ควร “รอ” ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปหลังงานจากสภาปฏิรูปนี้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ จะมารีบร้อนประมูลกันไปแล้วกินเวลาผูกพันยาวนานเพื่ออะไร และเช่นนี้จะตั้ง สปช.พลังงานขึ้นมาเพื่ออะไร ในเมื่อได้ข้อเสนอ ก็ต้องไปทำกันเอาอีกเกือบ 30 ปีข้างหน้าอยู่ดี

หรือปัญหาหลายๆ อย่าง ที่ คสช.เข้ามาทำเป็นขึงขังตึงตังในช่วงแรก ที่ทำให้ประชาชนเกือบๆ จะมีความหวังว่าปัญหาเรื้อรังหลายๆ เรื่องจะได้รับการแก้ไข

เช่นปัญหาการขายลอตเตอร์รี่เกินราคา ปัญหารถตู้เถื่อนเกะกะกีดขวางการจราจร หรือแท็กซี่ไม่ได้มาตรฐาน เรียกไปไหนใกล้ไกลไม่ไป เน้นแต่จะหลอกฝรั่งเอาค่าหัวคิว

สุดท้ายแล้วปัญหาเรื่องลอตเตอร์รี่เกินราคาก็แก้ไขไม่ได้ แบบที่ประธานบอร์ดสลากออกมายอมรับเองว่าการแก้ปัญหาสลากเกินราคานั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องตลกที่สินค้าที่เป็นของ “รัฐ” และรัฐทำเองขายเองแท้ๆ แต่กลับปล่อยให้มียี่ปั๊วมาอยู่ตรงกลางครอบกำหนดราคาได้ แบบที่ผู้ผลิตก็ออกมายอมรับดื้อๆ เสียอย่างนั้นว่า หมดปัญญาทำอะไรไม่ได้

ปัญหาเรื่องรถตู้ก็ขึงขังกันไปพักหนึ่ง ตอนนี้ก็กลับมาใหม่อีก หรืออย่างแท็กซี่ ในที่สุดก็ยอมรับข้อเสนอให้ขึ้นราคากันไป โดยแทบไม่มีมาตรการเป็นรูปธรรมอะไรมาคุ้มครองคนนั่งแท็กซี่ ที่เจอกับทั้งปัญหามารยาทแย่ๆ ในการขับรถ หรือการปฏิเสธผู้โดยสาร เลือกแต่ผู้โดยสารต่างชาติที่จะเอาไปฟันหัวแบะ

ผู้คนเริ่มเอือมระอากับสภาพการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ไม่รู้ว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเสียของหรือเปล่า แต่สำหรับประชาชนแล้ว เริ่มเสียความรู้สึกขึ้นมามากขึ้นๆ ทุกที หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรื่องอาชญากรรมหรือความสงบสุข คดีเกาะเต่าก็ทำให้ศรัทธาในตัวตำรวจผู้รักษากฎหมายนั้นเสื่อมถอยลง จนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้ต้องหาที่จับมานั้นเป็นตัวจริง จนกระทั่งทางการอังกฤษถึงกับส่งเจ้าหน้าที่มาเอง หรือทางการพม่าก็แสดงท่าทีชัดเจนในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนในสัญชาติเขา ยิ่งเป็นเหมือนการตบหน้าทางการไทย รวมทั้งการล่าสุด คดีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาถูกทำร้าย ถูกตีหัวบาดเจ็บสาหัสทิ้งไว้กลางชายหาดก็ยังมีเป็นข่าวเล็กใหญ่ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สามีภรรยาโชคร้ายขับรถหลงทางถูกรถไฟชนเสียชีวิต ก็ถูกสันนิษฐานไปล่วงหน้าว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ร้อนให้ญาติพี่น้องเขาต้องมาแสดงหลักฐานยืนยันแก้ข่าว เป็นเสียอย่างนั้น

นี่คือการที่อ้างว่า กฎอัยการศึกนั้นมีไว้ป้องกัน และดูแลความปลอดภัย จึงไม่อาจยกเลิกได้ ส่วนเหตุผลที่ผู้คนเดาได้ คือมีไว้ป้องกัน็อบ หรือการชุมนุมต่างๆ

แต่จะป้องกันได้แค่ไหน หากท่านปล่อยให้ศรัทธาของผู้คนต่อการเข้ามาแก้ปัญหาประเทศในครั้งนี้รูดถอยลงไปเรื่อยๆ จากที่ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ยังเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ จากภาพข่าวและวิดีโองานศพของแกนนำคนสำคัญ คงเห็นได้ว่าพวกเขาอยู่ในภาวะแกล้งตายโดยแท้ ส่วนทางฝ่าย “หัวขบวน” อย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ก็ยังคงชิงพื้นที่ข่าวได้อยู่เป็นข่าวหน้าหนึ่งทุกวี่ทุกวัน

กฎอัยการศึกอาจจะให้อำนาจได้ แต่สิ่งที่ป้องกันและสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารครั้งนี้ไว้อยู่ คือฉันทามติคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่ออกมาต่อต้าน หรือแม้แต่ช่วยสนับสนุนพวกท่านมาตลอด นับแต่วันแรกของการควบคุมอำนาจการปกครอง

อย่าให้พวกเขาต้องเสียกำลังใจและปล่อยมือจากท่าน หรือแม้แต่หนำซ้ำ กระแสตีกลับไปเป็นการ “ต่อต้าน” พวกท่าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น บวกกับพลังฝั่งเดิมของอำนาจเก่าแล้ว ต่อให้กฎอัยการศึกมี ท่านก็อาจจะไม่สามารถ “กำราบ” คนคิดต่างได้ง่ายอย่างใจคิด

ทั้งหมดนี้ ท่านมีโอกาสป้องกันได้ ด้วยการเอาจริงเอาจัง “ตามสัญญา” และขอให้ “ใช้เวลาอีกไม่นาน” เพื่อแสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาแบบชัดเจน ทะลุทะลวงไปถึงแกนกลางรากเหง้า เพื่อเรียกเอาความศรัทธาเชื่อมั่นกลับมา
กำลังโหลดความคิดเห็น