xs
xsm
sm
md
lg

ท่องมาเลย์ ๑.๗ : เยือนวัดพม่า ล่าภาพศิลป์ปีนัง

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน :
ท่องมาเลย์ ๑: ได้เวลาออกเดินทาง!!
ท่องมาเลย์ ๑.๒ : โอ้ ลังกาวี...
ท่องมาเลย์ ๑.๓ : อลอร์สตาร์ บ้านมหาเธร์
ท่องมาเลย์ ๑.๔ : เมืองหลวงรัฐไทรบุรี
ท่องมาเลย์ ๑.๕: ชมวัดเก็กลกสี แล้วแลวิวที่เขาปีนัง
ท่องมาเลย์ ๑.๖ : ชิมข้าวแกงร้านดัง เที่ยวปีนังมรดกโลก

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

พอได้พักดื่มน้ำเย็นๆ แล้วมันก็ชื่นใจ มีแรงให้ทำภารกิจ ว่าแต่นี่ก็เข้าสู่มื้อกลางวันแล้วสินะ แถวนี้จะมีอะไรกินไหมหนอ ... เดินไปตามเส้นทางแบบไม่ค่อยมีความคาดหวังจนในที่สุดก็เจอโรงอาหารครับ โรงอาหารจริงๆ แบบในสถานที่ราชการ ด้านหน้าจะมีร้านขายข้าวห่อใบตองอยู่ คล้ายๆ ข้าวเหนียวห่อใบตองโปะด้วยหมูทอด หมูฝอย ของบ้านเรา แต่อันนี้เขาใช้ไข่ต้ม ปลาทอด ปลาเค็ม ไก่ทอด บางอันก็ราดซอสสีแดงๆ คล้ายๆ แกง อาหารชนิดนี้เรียกว่า “นาซี เลอมะก์” (Nasi Lemak) เป็นอาหารท้องถิ่นที่คนมาเที่ยวควรต้องลอง!! และไม่แพงมากด้วย ห่อละไม่ถึง ๒ ริงกิต
ภาพบนกลางนาซี เลอมะก์ ภาพใหญ่ หมี่โกเร็ง ภาพล่างศูนย์อาหาร
นอกจากนี้ก็ยังมีปาท่องโก๋ทอดด้วย แต่ผมเห็นน้ำมันแล้วขอบาย สอยข้าวมาห่อนึงเป็นพอ แล้วก็เดินหาโต๊ะว่าง แต่ร้านอาหารในนี้มันเย้ายวนให้ผมต้องหาของกินเพิ่มจริงๆ ทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ บะหมี่เกี๊ยว ราดหน้า หมี่กะหรี่ โอ้ย อยากกินให้หมดแต่ท้องน่าจะไม่รับแน่ๆ เผอิญเจอร้านขาย “หมี่โกเร็ง” (Mee Goreng) ก็พลันนึกขึ้นได้ว่า ครั้งที่ไปกินในลังกาวีแล้วมีคนทักว่า ไอ้นั่นมันไม่น่าใช้แบบต้นตำรับ จึงตัดสินใจเลือกลองอีกครั้ง ซึ่งร้านนี้ก็มีป้ายการันตีว่าเป็นแชมป์เปี้ยน หมี่ โกเร็ง มาสเตอร์ด้วย (มันคืออะไรวะ? ฮ่าๆๆ)

สั่งพ่อครัวเสร็จก็เดินดุ่มๆ หาโต๊ะว่าง (โต๊ะฟู้ดคอร์ด มันเป็นโต๊ะกลม) เห็นหนุ่มออฟฟิศชาวมาเลย์ แกนั่งคนเดียว ก็เลยไปขอเขาแจมด้วย ก่อนจะได้รับอาหารที่สั่ง ซึ่งหน้าตาของหมี่โกเร็ง แท้จริงมันจะออกสีส้มๆ รสคล้ายๆ คั่วไก่ ออกหวาน เค็ม เผ็ด นิดๆ ร้านนี้ใส่ปลาหมึกกรอบแบบที่ใส่ในเย็นตาโฟ แล้วยังมีกุ้งแห้ง เกาลัค หนังปลาทอดด้วย มีมะนาวให้บีบด้วย โดยรวมก็อร่อยดีครับ

แต่เดี๋ยวก่อน เราซื้อนาซี เลอมะก์ มานิ จึงสมควรแก่เวลาเปิดมันออกมา แต่ด้วยความเข้าใจผิดทางภาษาคิดว่า มันมีไส้กุ้งด้วย พอเห็นก็เลยตกใจ เฮ้ย เราสั่งใส่กุ้งไปไม่ใช่เหรอแว๊ ทำไมได้ปลาทอดล่ะ แต่ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้วก็ต้องลอง ตัวข้าวหุงด้วยกระทิหอมมันมาก ส่วนซอสด้านบนรสคล้ายแกงส้มบ้านเรา โดยรวมอร่อย แบบไม่คิดว่ามันจะอร่อย กินกับปลาทอดก็โอเค กินไปสักพักก็ถือโอกาสสนทนาถามคุณพี่ที่เราขอเขานั่งด้วยว่า ถ้ามาปีนังต้องกินอะไร แกก็บอก “นัน กานด้าร์” (Nan Kandar) หรือโรตี ราดน้ำแกงแบบร้านไลน์ เคลียร์ นั่นเอง แกบอกอยู่ใกล้ๆ โรงพยาบาลเจเนอรัล เปิดตั้งแต่ตี ๔ - ๙ โมงเช้า เอิ่ม พี่ครับ ... ผมจะตื่นมั้ยนั่น พอแกทานเสร็จก็ลุกไป เราก็ขอบคุณสำหรับความหวังดีของพี่ท่าน
ตึกเขียว ปีนัง เปรานากาน แมนชั่น ส่วนด้านล่างเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม
นั่งสักพักจนอาหารเริ่มย่อย ก็ได้เวลาจรลี เดินเข้าซอยเลอบอฮ์ เกเรจา (Lebuh Gereja) ผ่านตึกสีเขียวที่ชื่อ “ปีนัง เปรานากาน แมนชั่น” (Pinang Peranakan Mansion) เป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่า ก็ดูน่าสนใจดีแต่ด้วยค่าเข้า ๒๐ ริงกิตจึงทำให้ผมได้แต่ยืนมองอยู่ด้านนอกเป็นพอ ตลอดการเดินทางผมได้เจอนักท่องเที่ยวชาติเดียวกันหลายครั้ง เช่นตอนนี้ก็สวนกับ ๒ สาวที่ขี่จักรยานผ่านมา ด้วยคำพูดที่เขาคุยกันผมจึงเอ่ยปากทักถามทางและสนทนาเรื่องแผนที่ ...

เราต้องเดินไปให้สุดซอยแล้วจะเจอสามแยก นี่คือสิ่งที่เขาบอกและผมก็เดินตามจนถึง ถนน มัสยิด กะปิตัน เคลิง เลี้ยวซ้ายตรงมาเรื่อยๆ ก็พบกับสถานที่ที่คนไทยมาขอพรกันอย่าง “ศาลเจ้าแม่กวนอิม” (Kuan Yin Teng) ที่นี่ยังถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในปีนัง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๑ โดยผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่ แต่เดิมมีชื่อว่า “กง ฮก เก๋ง” (Kong Hock Keong) เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนคลาสสิค และแน่นอนว่าวันนี้ซึ่งเป็นวันสำคัญของพวกเขาก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนและควันธูปเต็มไปหมด นอกจากนี้ยังมีโถใส่เทียนผูกผ้าแดงให้ผู้คนได้ซื้อจุดสักการะ อ่อมีรูปปั้นคล้ายๆ กับเห้งเจีย ลิงที่คุ้มครองพระถังซัมจั๋งในไซอิ๋วด้วยนะ

เห็นด้านนอกแล้วนึกถึงศาลเจ้าพ่อเสือแถวเสาชิงช้ามากๆ อันที่จริงผมไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมชาวจีนสักเท่าไหร่ ได้แต่เข้าไปยกมือไหว้ ขอพร ขอถ่ายรูป แล้วก็ออกมา เดินย้อนเข้าซอยเลอบอฮ์ ไชน่า ดูบ้านเรือนไปเรื่อยๆ ก่อนเลี้ยวขวาเข้าซอย เลอบอฮ์ ปีนัง แค่เข้ามาในซอยนี้ท่านจะได้พบกับความรู้สึกแบบพาหุรัดกันเลยทีเดียว พอเดินไปจนถึงสี่แยกก็จะถึงย่านที่เรียกว่า “ลิตเติ้ลอินเดีย” อย่างซอย เลอบอฮ์ ปาซาร์ (Lebuh Pasar) ชุมชนชาวอินเดียที่มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยึดครองเมือง
ย่านชุมชนชาวอินเดีย
แถวนี้ก็จะมีวัดเก่าแก่ของชาวฮินดูที่ชื่อ ศรีมหามารีอัมมัน ด้วย แน่นอนว่าในโซนนี้เราจะได้เห็นร้านเสื้อผ้าสไตล์อินเดียหลากหลายรูปแบบ และยังมีร้านดอกไม้หลายสีร้อยพวงมาลัยใหญ่ๆ เหมือนที่เคยเห็นในสารคดี ร้านขายวีซีดีเพลงและภาพยนต์บอลลิวูด รวมทั้งขนมขบเคี้ยว ถ้าพูดอย่างนี้หลายคนก็ต้องนึกถึงถั่ว ใช่เลยครับ เขาก็มีขายกันเป็นถุงๆ แบบที่เราเห็นๆ กันนั่นล่ะ นอกจากนี้ยังมีขนมแป้งทอดกรอบแพ็กใส่ถุง บางอย่างดูคล้ายขนมขาไก่ และมาม่า ถุงละ ๑ ริงกิต ถ้าทำสดก็พวกซาโมซ่า โรตีกรอบราดน้ำตาล ขนมที่ดูคล้ายๆ วุ้นแต่หนากว่า สีแดงคล้ำและส้ม บางอันเป็นก้อนเหมือนถั่วกวน แต่ใส่นมและชั้นบนเป็นเหมือนชานม บางอันก็เหมือนขนมไข่หงส์ ที่เล่ามาคือ ไม่ได้กินเลยครับ ฮ่าๆๆ

สุดของซอยปาซาร์ก็จะมาโผล่ถนนมัสยิดอีกรอบ อาจดูเหมือนผมเดินวนๆ ก็จริงครับ เพื่อสำรวจให้ครบในแต่ละแห่ง อย่างบนถนนเส้นนี้ก็จะเจอกับที่มาของชื่อถนนนั่นคือ “มัสยิดกะปิตัน เคลิง” (Masjid Kapitan Keling) ซึ่งสร้างโดยมุสลิมอินเดีย ราวๆ พ.ศ.๒๓๔๔ โดยชื่อกะปิตันนี่หมายถึงชุมชนชาวอินเดีย ส่วนเคลิง หมายถึงชาวมาเลย์เชื้อชาติอินเดีย ที่ว่ากันว่าสืบเชื้อสายจากแคว้นคลิงกะ ตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชตีเมือง เป็นมัสยิดขนาดใหญ่และสวยงามเหมือนสัญลักษณ์แห่งถนนสายนี้ เช่นเคยผมได้แต่ยืนถ่ายรูปด้านนอก ไม่ได้เข้าไปเพราะกลัวเวลาไม่พอ
มัสยิดกะปิตัน เคลิง
เรื่องหนึ่งที่ผมยังไม่ได้เล่าก็คือ ตั้งแต่ผมเหยียบเกาะหมากบริเวณแถวที่พัก ผมจะเจองานศิลปะแบบเหล็กดัดให้เป็นรูปคนกำลังทำกิจกรรมอยู่ตามฝาข้างบ้านริมถนน หลายๆ แห่ง บ้างก็เป็นภาพวาดรูปเสมือนจริงบนกำแพง ผนัง ผมก็นึกสงสัยว่ามันคืออะไร จนกระทั่งได้เจอกับ ๒ สาวที่ผมเล่าค้างไว้ว่า เราคุยกันเรื่องแผนที่ไกด์ไลน์ไปตามหาภาพวาดเล่านั้นในเมืองนั่นเอง เธอได้มาจากร้านให้เช่าจักรยาน และเธอก็ชี้ทางสว่างให้ผมไปขอ ผมก็ไปตามหาจนเจอร้าน ความตั้งใจ คือ ผมจะให้แกช่วยระบุตำแหน่งที่ที่มีภาพวาดที่ผมอยากไปดู มันอยู่ตรงไหนบนแผนที่ที่ผมมี แต่ก็เป็นโชคมากๆ ที่ลุงเจ้าของร้านแกไปหยิบแผนที่มาให้ผมมา ๑ ใบ พร้อมกับบอกเส้นทางเดินให้ด้วย ผมล่ะดีใจ ได้แต่ขอบคุณเขาไปหลายครั้ง

งานศิลปะเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไปแล้ว เพราะใครๆ ต่างก็มาตามล่าหาอาร์ซีแล้วถ่ายรูปเก็บกลับไป ผมก็ทำเช่นนั้นแม้จะได้ไม่หมดก็ตาม โดยมันจะแบ่งเป็น ๒ อย่าง อันแรกคือปฏิมากรรมที่ทำจากเหล็กดัด เป็นการ์ตูนล้อเลียนชีวิตมนุษย์ ทั้งหมด ๒๔ จุด กับอีกแบบคือ ภาพวาด ๓ มิติเสมือนจริง วาดโดย “เออร์เนสต์ ซาชาริวิค” (Ernest Zacharevic) ศิลปินชาวลิทัวเนีย ที่สภาเขตปกครองตนเองปีนัง ได้จ้างมาเมื่อปี ๒๕๕๕ ทั้ง ๘ จุด แต่เท่าที่ลองตามหาดูนี่มีเกือบ ๒๐ จุด ก็คงจะมีคนอื่นวาดเพิ่มขึ้น โดยรูปที่ขึ้นชื่อก็อย่าง เด็กขี่มอเตอร์ไซด์ ,สาวน้อยปั่นจักรยานให้น้องชายซ้อนท้าย ,เด็กเหยียบเก้าอี้พยายามปีนหน้าต่าง จุดที่สำคัญก็จะมีแม่ค้ามาขายของที่ระลึกด้วย



เสียดายที่มาคนเดียวเลยต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเขาช่วยถ่ายรูปให้ อันนี้ขอขอบคุณอีกครั้ง แต่ว่าแต่ละจุดนี่ไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย บางแห่งอยู่ในซอกเล็กๆ บ้างก็อยู่ในกำแพงตัวศาลเจ้าที่ถูกซ่อม ระหว่างทางเจอไอติมแท่ง จริงๆ ต้องพูดว่ามันคือน้ำส้มใส่ในถุงพลาสติกยาวๆ แล้วแช่แข็ง ค่าเสียหาย ๒ ริงกิต รสชาตินี่แบบว่า น้ำส้มขวดบ้านเราชัดๆ - -"

พอหมดจุดถ่ายรูปเหลือบดูเวลาเหลืออีกตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะเวียนเทียน ..... ท่านผู้อ่านไม่ต้องงง จุดประสงค์หลักของการมาที่ปีนังก็คือการมาเวียนเทียนในวันมาฆบูชาเนี่ยล่ะครับ ซึ่งสถานที่ที่เราจะไปต่อก็คือวัดไทยในปีนัง บน ถนนพม่า (Jalan Burma) เมื่อมีเวลามากก็เดินสิครับ งานถนัดของผม พลางหาอะไรกินไปเรื่อย เจอเคเอฟซี ก็ไปลองกิน (ห๊ะ อีกแล้วเหรอ) อย่างที่เคยเล่าว่าผมเป็นมนุษย์ประหลาดชอบลองร้านแฟรนไชส์ที่บ้านเราก็มีเพื่อเทียบรสชาติ อย่างที่ผมกินนี่สาขาแถวๆ คอมต้าร์ สั่งชุดไก่ทอดมา มองสภาพโต๊ะ เก้าอี้ดูไม่สะอาดเท่าไหร่ ส่วนรสชาติก็ธรรมดา ถือว่าแค่มานั่งพักเท้าก็แล้วกัน

เสร็จสรรพก็เดินเข้าสู่ ถนนพม่า ไปได้นิดเดียวก็เจอรถเข็นขายน้ำแข็งไส ป้ายเขียน Chendul เข้าไปด้อมๆ มองๆ ดูคุ้นๆ เหมือนลอดช่องบ้านเรา เห็นสาวออฟฟิศวัยไม่น่าจะห่างกันมาก เลยถามเขาว่า ไอ้นี่มันคืออะไร เขาก็สั่งให้แล้วก็อธิบายว่า มันคือ “เชนดัล” (ชาติอื่นเขียนว่า Cendul) เป็นน้ำแข็งไสใส่เส้นและราดน้ำเชื่อม ผมก็รับจากพ่อค้ามาทาน สิ่งที่เห็นกับตาคือเส้นลอดช่องอยู่ในน้ำกะทิราดน้ำตาลอ้อยเชื่อม และถั่วแดง ตัวจะยาวกว่าบ้านเรา ส่วนรสชาติก็หนึบดีครับ หวานหอมอร่อย

สาวออฟฟิศถามผมเป็นภาษาไทยว่า คนไทยใช่ไหม ผมผงะแล้วถามตอบว่า ใช่ ก่อนจะถามว่าเธอมาจากที่ไหน ในใจก็คิดว่าคงเป็นชาวใต้มาทำงานที่นี่ เธอบอกว่า เราเป็นชาวสยามมาจากเคดะห์ ผมก็อึ้งไปสักพัก แล้วถามว่า เกิดที่มาเลย์ แล้วทำไมพูดไทยได้ เธอบอกว่าจริงๆ พูดได้นิดหน่อย เพราะที่บ้านบางคนก็ยังใช้ภาษาไทยแต่น้อยมาก ส่วนตัวที่พูดได้เยอะกว่าเพราะศึกษาจากหนังไทย .... ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากเพราะไม่คิดเลยว่าจะเจอชาวสยามท้องถิ่นที่ยังอยู่ในพื้นที่

คุยกันสักพักแต่ไม่มากมายเพราะเธอมากับหนุ่มญี่ปุ่นซึ่งผมอนุมานเอาว่าน่าจะกำลังดูใจกัน ผมจึงจากลาไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากแผนที่ผมคาดว่าถ้าเดินไปจะใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ นาทีคงถึงวัด ก็เลยไม่ขึ้นรถเมล์ แล้วมุ่งหน้า ผลกลับพลิกผันเมื่อเดินไปเท่าไหร่ก็ไม่เจอสักที พลางมองแผนที่เฮ้ยเขียนผิดหรือเปล่าวะ เจอนักเรียนสาวลูกผสมจีน-มาเลย์ ก็ขอถามทาง เธอก็บอกด้วยอัธยาศัยแจ่มใส แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เดินไปถึงมันเป็นคนละวัด .... เลยต้องถามคนในวัดเขาก็ว่าไม่ไกลมาก พร้อมชี้ทางสว่างให้เดินไป

จนในที่สุดผมก็มาเจอจุดหมายของวันนี้ วัดไชยมังคลาราม แต่เมื่อพอผมมายืนอยู่หน้าวัดแล้ว กลับรู้สึกเหมือนอยู่บนเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ เพราะฝั่งตรงข้ามวัดไทย ก็มีวัดพม่าที่ชื่อ "วัดธรรมมิการาม" (Dhammikarama Temple) และผมก็เลือกที่จะเข้าวัดพม่าก่อน เพราะเขาไม่จัดเวียนเทียนและมันก็จะปิดแล้ว ที่นี่ถือเป็นวัดพุทธแห่งแรกของปีนัง สร้างเมื่อพ.ศ.๒๓๔๖ ในสมัยที่ชาวพม่าบุกยึดครองพื้นที่ ผมคิดว่าในสมัยนั้นคงมีชุมชนชาวพม่าอยู่บริเวณเยอะเลยทีเดียว เราจะเห็นความเป็นพม่าได้ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าที่ลวดลายสถาปัตยกรรมเพื่อนบ้านเราชัดเจน
วัดธรรมมิการาม
เข้ามาด้านในนี่ความรู้สึกเหมือนอยู่ในพม่าจริงๆ มีศาลานำทาง ด้านบนมีภาพวาดพุทธประวัติ แต่องค์เจ้าชายสิทธัตถะนั้นทรงเครื่องแบบพม่า จนถึงภายในศาลาก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเป็นพระประธาน พร้อมพระสาวก และเทวดา ด้านข้างมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง มีพระสงฆ์นั่งคอยทำพิธีซึ่งผมก็ไม่ได้ถามเหมือนกัน ภายในก็มีศาสนสถานกลางน้ำ และเจดีย์ลอยฟ้า ... ผมหมายถึงเจดีย์น่ะอยู่ชั้น ๔ แต่ฐานด้านล่างทั้ง ๓ ชั้นก็จัดปฏิมากรรมลายฉลุแบบสวยงามไปหมด มีซุ้มบ่อน้ำ ให้คนโยนเหรียญลงในบาตรที่กำลังหมุนไปเรื่อยๆ

ที่ไฮไลท์ของวัดก็คือ ส่วนที่เป็นวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์ใหญ่มากประดิษฐาน ความสูงน่าจะหลายเมตรได้ แต่สวยงามมากๆ รายล้อมไปด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ส่วนด้านหลังก็มีพระพุทธรูปยืนในปางต่างๆ เรียงรายเต็มไปหมด ผมว่าเป็นวิหารหนึ่งที่สวยมากจริงๆ

เอาล่ะได้เวลาออกจากพม่า กลับสู่สยามแล้ว ....

อ่านต่อฉบับหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น