xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อจับฆาตกรตัวจริง อังกฤษ-พม่ายื่นมือ ช่วยผู้ต้องหาเกาะเต่า-โพลหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สื่อพม่ารายงานสถานทูตยื่นมือช่วย 2 ผู้ต้องหาฆ่า-ข่มขืน 2 นักท่องเที่ยวเกาะเต่า สื่ออังกฤษแฉ 3 แรงงานชาวพม่าเพื่อนผู้ต้องหาถูกตำรวจจับไปทรมาน ด้านผู้อาวุโสชาวยะไข่ชี้ถูกจัดฉากให้เป็นฆาตกร ชาวอังกฤษรณรงค์ให้รัฐบาลลงมือสืบสวนเอง เหตุไม่เชื่อสารภาพผิด ส่วนเพจ CSI LA ตั้งประเด็นค้างคาใจทั้งอาวุธ-ดีเอ็นเอ "อสุจิ" ในถุงยางอนามัย "สวนดุสิตโพล" ชี้ประชาชนอยากให้ดำเนินคดีโปร่งใส ยุติธรรม ดูแลความปลอดภัยมากขึ้น

จากเหตุคนร้ายลงมือฆ่าโหดนายเดวิด มิลเลอร์ และ น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ อายุ 24 ปีทั้งสองคน บริเวณชายหาดทรายรี เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดกลางดึกวันที่ 15 กันยายน จนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงสามารถจับกุม 2 แรงงานพม่า คือ นายเวพิว หรือนายวิน อายุ 21 ปี และนายซอ ลิน หรือโซเรน อายุ 21 ปี ซึ่งยอมรับรับสารภาพ โดยพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงยืนยันว่า คดีนี้ตำรวจมั่นใจว่าจับกุมคนร้ายตัวจริง 100% เพราะได้เบาะแสจากแรงงานชาวพม่าเพื่อนผู้ต้องหา การตรวจดีเอ็นเอ การตรวจสอบกล้องวงจรปิดกว่า 300 ตัว ซึ่งถือว่าการสืบสวนคดีนี้มีความสมบูรณ์มากนั้น

วานนี้ (5 ต.ค.) อีเลฟเว่นนิวส์ สื่อพม่ารายงานว่า นายเต่ง นาย ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ระบุว่าทางการพม่าจะให้ความช่วยเหลือต่อพลเมืองของตัวเองเท่าที่จำเป็น หลังกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามเหตุการณ์และแจ้งยังสถานทูตเพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทางสถานทูตกำลังสืบสวนและสอบถามจากคนท้องถิ่น ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ เพราะมีคนเห็นว่าแรงงานพม่าไม่มีส่วนกับการฆาตกรรม

อีเลฟเว่นนิวส์ ยังรายงานว่านายกอ ต่อง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมพม่า สำนักงานประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า คณะผู้แทนจากสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กงสุล ทนายความจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย และองค์กรแรงงานพม่าในไทย จะเข้าพบชาวพม่าทั้ง 2 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลและสืบสวนข้อเท็จจริงของคดี รวมทั้งสอบถามเพื่อนของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เพราะทราบว่ามีแรงงานมากกว่า 10 คนถูกจับกุมตัว

"ตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ พบวาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่เชื่อว่าแรงงานพม่าทั้ง 2 คนเป็นผู้ลงมือสังหาร ซึ่งผมก็เห็นการ์ตูนล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ของไทย ว่าคนร้ายตัวจริงถูกปล่อยตัวไปแล้ว"

ทั้งนี้ อีเลฟเว่นนิวส์ยังรายงานว่า เมื่อมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นในประเทศไทย ตำรวจไทยมักจะจับกุมแรงงานพม่าก่อนเป็นอันดับแรก และใช้วิธีทรมาน เช่น ราดน้ำร้อนที่ใบหน้า

ด้านเจ้าหน้าที่เครือข่ายสิทธิแรงงานชาวพม่าในไทย ระบุว่าทีมงานได้เดินทางไปที่เกาะเต่าช่วงที่แรงงานพม่าถูกจับกุม ซึ่งแรงงานบนเกาะระบุว่าชาวพม่าถูกจับ 3 คน และถูกทรมาน เช่น ถูกซ้อม ราดด้วยน้ำร้อน โดยมี 3 คนถูกปล่อยตัว ซึ่งตนทำงานอยู่บนเกาะในปี 2538 ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกนายจ้างและตำรวจจะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ หากนักท่องเที่ยวถูกขโมยทรัพย์สิน ก็จะกล่าวหาชาวพม่า

สื่ออังกฤษหลายสำนักรายงานว่า แรงงานชาวพม่า 9 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน ขณะกำลังเล่นตะกร้อ โดยแรงงานพม่า 3 คนซึ่งเป็นเพื่อนผู้ต้องหาเปิดเผยว่า ถูกตำรวจซ้อมและใช้น้ำร้อนราด โดยแรงงานชาวพม่าบนเกาะเต่าระบุว่านายเวพิวและนายซอ ลิน เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตรงกับคำแถลงของนายอองจอ ประธานสมาคมแรงงานชาวพม่าในไทย ซึ่งไม่เชื่อว่าทั้ง 2 คนเป็นคนทำ และเรียกร้องให้องค์กรอิสระ สืบสวนคดีนี้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยก่อนหน้านี้ชุมชนชาวพม่าทำหนังสือถึงสถานทูตอังกฤษและพม่าประจำประเทศไทย ซึ่งมาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเห็นเรื่องแล้ว โดยแรงงานพม่าบนเกาะเต่าต่างหวาดกลัวกว่าอาจจะถูกแก้แค้น โดยหนังสือของชาวพม่าระบุว่า เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 27 กันยายน แรงงานพม่าจากรัฐยะไข่ 9 คน ซึ่ทำงานบนเกาะเต่าเป็นประจำโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะกำลังเล่นตะกร้อ โดยแรงงาน 6 คนพยายามหลบหนี แต่ถูกตำรวจจับได้ อีก 3 คนหลบหนีไปได้

ซึ่งแรงงานพม่า 3 ใน 6 คนที่ถูกจับ ถูกซ้อมและใช้น้ำร้อนราดเพื่อให้บอกข้อมูลเพื่อนอีก 3 คนที่หลบหนี จากนั้นทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งนายเอ (นามสมมติ) ผู้อาวุโสในชุมชนแรงงานพม่าจากรัฐยะไข่ ทราบเรื่องแรงงาน 3 คนบาดเจ็บจากการถูกซ้อมและใช้น้ำร้อนราด ได้ส่งภาพถ่ายไปยังสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ซึ่งได้ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ทางตำรวจตอบว่าไม่ทราบว่าแรงงานพม่ากลุ่มใดถูกซ้อม และใครเป็นคนซ้อม โดยรับปากว่าจะสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น

ต่อมานายเอได้พบชาวยะไข่ 3 คนที่หนีการจับกุมมาได้ในครั้งแรก และทราบว่านายจ้างแนะนำให้หนีออกจากเกาะเต่าให้เร็วที่สุด เพราะทั้ง 3 คนไม่มีหนังสือเดินทาง เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้ชาวยะไข่ 1 คนตัดสินใจเดินทางออกจากเกาะ จนต่อมามีข่าวชาวยะไข่ 3 คนถูกตำรวจจับ โดยจับได้ในป่า 2 คน และอีก 1 คนบนฝั่งจ.สุราษฎร์ธานี ทั้ง 3 คนถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย ทำให้แรงงานพม่าเชื่อว่ามีการจัดฉากให้พวกตนเป็นฆาตกร

แรงงานชาวพม่าคนหนึ่ง ซึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนายแอนดรูว์ ดรัมมอนด์ นักข่าวจากลอนดอน อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด ว่าชาวพม่าส่วนใหญ่ไม่ยอมออกไปจากเกาะ แม้ว่าจะหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะรู้ดีว่าดีเอ็นเอของพวกเขาไม่ตรงกับดีเอ็นเอที่พบในร่างผู้เสียชีวิต

ขณะเดียวกันในประเทศอังกฤษ ยังมีการรณรงค์ให้รัฐบาลเข้ามาสืบสวนเรื่องนี้ เพื่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คนจะได้รับความเป็นธรรม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะปกปิด สร้างหลักฐานเท็จ จึงทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าชาวพม่า 2 คนจะสารภาพผิดเอง และมีส่วนรู้เห็นกับการข่มขืนและฆ่า

ขณะที่ในประเทศไทยเอง ได้มีผู้เปิดเพจ CSI LA ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีผู้เข้าไปชมและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นที่หลายคนยังค้างคาใจ อาทิ อาวุธที่ใช้สังหารนายเดวิด เป็นไปได้ว่าอาจเป็นของมีคมอื่นที่ไม่ใช่จอบ คนร้ายน่าจะถนัดมือซ้าย และตายเพราะถูกจับกดน้ำ หรือกรณีดีเอ็นเอของอสุจิในถุงยางอนามัยว่าเป็นของใคร เวลาในที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดไม่ตรงกัน รวมทั้งการทำแผนประกอบคำรับสารภาพทีไม่น่าจะถูกต้อง (รายละเอียดอ่านหน้า 11)

ด้าน"สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,056 คน ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ถึงความคิดเห็นต่อข่าวฆ่านักท่องเที่ยวและการจับกุมคนร้าย สรุปผลได้ดังนี้ คือ อันดับ 1 ขอให้การดำเนินคดีเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม 84.89% อันดับ 2 หากคนร้ายเป็นตัวจริง ควรจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวดมากขึ้น 79.56%

อันดับ 3 ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำหน้าที่เต็มที่แล้ว และขอเป็นกำลังใจให้ 77.33% อันดับ 4 ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าคนร้ายที่จับได้เป็นตัวจริงหรือไม่ ยังมีหลายจุดที่น่าสงสัย 75.11%

สำหรับประเด็นที่จับคนร้ายได้ คิดว่ามีผลดีต่อการท่องเที่ยวอย่างไรบ้างนั้น อันดับ 1 สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆจะได้มีมาตรการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น 78.22% อันดับ 2 สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว รู้สึกปลอดภัย และกล้าที่จะกลับมาเที่ยว 67.56% อันดับ 3 ทำให้ปิดคดีได้ รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ต่างชาติให้ความสนใจกับประเทศไทย 63.41% อันดับ 4 อาจเป็นการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยได้ในระดับหนึ่ง 62.72%

ส่วนกรณีคิดว่าควรทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก อันดับ 1 ในพื้นที่จุดเสี่ยงหรืออันตราย ควจัดระเบียบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น 74.67% อันดับ 2 มีกฎหมายที่เด็ดขาด บทลงโทษที่รุนแรง ควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด 73.78% อันดับ 3 ต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวมีความตระหนัก คำนึงถึงความปลอดภัย 72.04% อันดับ 4 ประชาชน ผู้อยู่อาศัยในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว ะต้องช่วยกันดูแลสอดส่อง 71.18%

และบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ คือ อันดับ 1 ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้กระทบต่อการท่องเที่ยว 82.37% อันดับ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเรื่องนี้ไปเป็นกรณีศึกษา พร้อมเร่งหาทางแก้ไขป้องกัน 81.73% อันดับ 3 วิธีการสืบสวน สืบคดี ต้องรัดกุมมีประสิทธิภาพ ทั้งการเก็บหลักฐาน การชันสูตร ตรวจสอบดีเอ็นเอ และการสืบพยาน 80.15% อันดับ 4 ต้องมีมาตรการ ควบคุมดูแล จัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย 76.89%.
กำลังโหลดความคิดเห็น