เอเจนซีส์ - สื่ออังกฤษแฉ แรงงานชาวพม่า 3 ใน 6 คน ที่เป็นเพื่อนกับสองผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คน ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งต้องโทษประหารชีวิต หากศาลตัดสินว่าพวกเขามีความผิดจริง ได้เปิดเผยวานนี้ (4 ต.ค.) ว่าพวกเขาถูกตำรวจจับไปทรมานเมื่อ 7 วันก่อน
ขณะที่วานนี้ (4) เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเตรียมทำแผนประกอบคำรับสารภาพในคดีฆาตกรรม ฮานนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี และเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปี ซึ่งฝ่ายหญิงถูกข่มขืนก่อนสังหาร ชุมชนแรงงานพม่าบบนเกาะเต่าได้ทำหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า เพื่อน 3 คนของผู้ต้องสงสัย เวพิว (วิน) และซอลิน (โซเรน) ถูกตำรวจซ้อมและใช้น้ำร้อนราด
ชุมชนแรงงานชาวพม่าบนเกาะแห่งนี้ ระบุว่า เมื่อคืนวันเสาร์ที่แล้ว (27 ก.ย.) ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุมชายชาวพม่า 9 คน ขณะที่พวกเขากำลังเล่นตะกร้อ และย้ำว่า เวพิว และ ซอลิน ซึ่งอาจถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดเป็นผู้บริสุทธิ์
คำให้การของทั้งสามตรงกับคำแถลงของ อองจอ ประธานสมาคมแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในไทย ซึ่งระบุว่า “เราไม่เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยเป็นคนทำ” และเขาได้เรียกร้องให้องค์กรอิสระได้เข้ามาสืบสวนคดีนี้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่
ก่อนหน้านั้น มีชาวพม่าผู้ไม่เปิดเผยนามได้ทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและพม่าประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่ง มาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และทางสถานทูตอังกฤษได้เห็นแล้ว ทั้งนี้ หนังสือพร้อมภาพถ่ายฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ให้รับรู้ในหมู่คนเพียงไม่กี่คน
แรงงานชาวพม่าบนเกาะเต่าหวาดกลัวกันอย่างมาก ว่า พวกเขาอาจถูกแก้แค้น ตำรวจยังไม่ได้ระบุชื่อเต็มของ 2 ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว แม้ว่าพวกเขาจะเปิดให้สื่อทั่วประเทศเผยแพร่ภาพของชายทั้งสองแล้วก็ตาม
คำแถลง ซึ่งแหล่งข่าวรายหนึ่งจากสถานเอกอัครราชทูตได้อ่านมีใจความดังนี้
“เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 27 กันยายน แรงงานชาวพม่าจากรัฐยะไข่ 9 คน ซึ่งอยู่อาศัยและทำงานบนเกาะเต่าเป็นประจำ (โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งสกัดจับขณะกำลังเล่นตะกร้อกันอย่างสงบ”
“แรงงาน 6 ใน 9 คนพยายามหนีแล้ว แต่ถูกตำรวจจับได้ ส่วนอีกสามคนสามารถหลบหนีการจับกุมไปได้”
“แรงงานข้ามชาติ 3 ใน 6 คนที่ถุกจับไป ถูกซ้อมและใช้น้ำร้อนราดเพื่อบีบคั้นให้พวกเขาเผยข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนอีก 3 คนที่หลบหนีไป จากนั้นทั้งหมดก็ถูกปล่อยตัว”
“เอ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสคนหนึ่งในชุมชนแรงงานพม่าจากรัฐยะไข่ ได้รับทราบเรื่องที่มีแรงงาน 3 คนได้รับบาดเจ็บจากการถูกซ้อมและใช้น้ำร้อนราด พร้อมทั้งได้ส่งภาพถ่ายสภาพร่างกายของพวกเขาไปยังสถานเอกอัครราชทูตพม่า”
“ทันทีที่เขาแจ้งเรื่องนี้ให้สถานเอกอัครราชทูตทราบ ทางสถานเอกอัครราชทูตก็ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสอบถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และตำรวจตอบว่า พวกเขาไม่ทราบว่าแรงงานพม่ากลุ่มใดถูกซ้อม และใครเป็นคนซ้อมพวกเขา และพวกเรารับปากว่าจะสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น”
“(เอ) ระบุว่า ตำรวจได้บอกชาวพม่า 3 คนที่ถูกทำร้ายร่างกายว่า เรื่องจะยิ่งบานปลาย หากสถานเอกอัครราชทูตพม่าเข้ามามีส่วนในคดีนี้ นอกจากนี้ พวกเขายังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอ จึงไม่ต้องการรายงานคดีนี้ให้สถานเอกอัครราชทูตทราบ”
“จากนั้น (เอ) ก็ได้พบกับแรงงานชาวยะไข่ทั้ง 3 ที่สามารถหลบหนีการจับกุมมาได้ในตอนแรก และเนื่องจากเห็นว่าพวกเขาไม่มีเอกสารที่แสดงว่า พวกเขาเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ทั้งยังไม่มีหนังสือเดินทาง และนายจ้าง จึงได้แนะนำให้พวกเขาหนีออกจากเกาะเต่าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับกำชับกับทั้งสามอีกว่า ตำรวจกำลังตามล่าตัวพวกเขา 1 ในแรงงาน 3 คนจึงรีบเดินทางออกจากเกาะเป็นการด่วนเนื่องจากพวกเขาไม่มีเอกสาร”
“จนเมื่อวันสองวันนี้ที่มีสื่อประโคมข่าวว่าพวกเขาถูกจับ คนทั้งชุมชนก็เริ่มโทรศัพท์มาบอกเราว่า มีชายชาวยะไข่ 3 คนถูกตำรวจจับ โดย 2 คนถูกจับได้ในป่า และอีกคนหนึ่งทีสุราษฎร์ธานี และทั้งสามถูกกล่าวหาว่า ฆ่าคนตาย ชุมชนแรงงานข้ามชาติผิดหวังมาก และพวกเขาเชื่อกันว่า มีการจัดฉากให้พวกเขากลายเป็นฆาตกร”
แรงงานชาวพม่าคนหนึ่งซึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระบุว่า “ชาวพม่าส่วนใหญ่ที่ยังไม่ยอมออกไปจากเกาะ แม้ว่าพวกเขาจะกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เพราะพวกเขารู้ดีว่าดีเอ็นเอของพวกเขาจะไม่ตรงกับ (ดีเอ็นเอที่พบในร่างผู้เสียชีวิต) แต่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาเราก็เริ่มหวาดกลัว เพราะเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังจับใครไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าพวกเขาดีใจที่จับตัวคนที่ฆ่าและข่มขืนนักท่องเที่ยวได้ และพวกเขามีดีเอ็นเอและภาพจากกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐาน รวมถึงโทรศัพท์มือถือของฮานนาห์ ที่พบว่า ถูกทุบทำลายอยู่ใกล้ที่พักของแรงงาน (ซึ่งต่อมาเพื่อนของฮานนาห์ที่เดินทางกลับประเทศไปแล้วเผยว่าเป็นคนมอบให้ตำรวจไทยเอง จากนั้นตำรวจออกมาแก้ข่าวว่าเป็นของเดวิด) นอกจากนี้ ตำรวจยังระบุว่า มีพยานซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงพยานผู้เห็นเหตุฆาตกรรม แต่อาจเป็นพยานในลักษณะใดก็ได้ นับตั้งแต่พยานที่บอกว่า พบเห็นพวกเขาเข้าเซเว่นอีเลฟเว่น และวิ่งไปมาบนท้องถนน
ทั้งนี้ แอนดรูว์ ดรัมมอนด์ ซึ่งเป็นผู้รายงานข่าวนี้ คือนักข่าวต่างประเทศจาก “ลอนดอน อีฟนิง สแตนดาร์ด” และนำเสนอรายข่าวคดีนี้ให้แก่ ไอทีนิวส์, บีบีซี รีเจียนนัลส์, ลอนดอน บรอดคาสติง, เดลี เอ็กซ์เพรส, ซัน เดลีเมล, มีร์เรอร์, กูดมอร์นิง สกอตแลนด์