xs
xsm
sm
md
lg

สนช.2557

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จำนวนไม่เกิน 220 คนสำคัญแค่ไหน ตอบว่าสำคัญอยู่พอประมาณเพราะนี่คือหนึ่งในองค์ประกอบของรูปแบบพิธีกรรมที่จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ตลอดถึงประเทศไทยโฉมหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะสวยหล่อขึ้นหรืออัปลักษณ์ลง?

สิ่งแรกที่จะได้เห็นก็คือ สนช.จะสะท้อนเครือข่ายพันธมิตรของคณะทหารออกมา และก็สะท้อนยุทธศาสตร์ของทหารด้วยถ้าสัดส่วนของนายทหารมากประมาณครึ่งคือราวๆ ร้อยคนแสดงว่าคสช.เน้นความมั่นคง แต่หากมีสัดส่วนจากภาคอื่นๆ มากแสดงว่าคสช.เน้นเรื่องการเมือง ภาพลักษณ์และบรรยากาศ

สนช. ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ หลักๆ คือออกกฎหมายและผ่านร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่ได้ไปตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอะไรมาก บรรยากาศของการทำหน้าที่คงจะย้อนไปสู่ยุคส.ว.แต่งตั้งก่อนพ.ศ.2540 ที่ส.ว.มาจากข้าราชการได้และจะมีระบบวิปที่เข้มข้นเพื่อประสานงานว่าจะยกมือไปในทิศทางใด การอภิปรายคงไม่ขนาดแบ่งพวกเพื่อหนุนหรือล้มเหมือนสภาปกติน่าจะแค่เติมความเห็นซะเป็นส่วนใหญ่

ระบบแบบนี้ง่ายต่อการควบคุมสั่งการซ้ายขวาหัน วิปจะเป็นกลไกสำคัญที่จะกำหนดทิศทางให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายแนวทางหรือไม่ ดูจากบัญชีรายชื่อกฎหมายเร่งด่วนที่เข้าคิวให้ยกมือผ่านอาทิ ร่างพรบ.งบประมาณ ร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่างพรบ. จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่างพรบ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ ...) ก็ยังโอเค เพราะกฎหมายเหล่านี้ค้างสภามาก่อน อย่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี่น่าจะทำให้ประชาชนยินดีปรีดาได้เยอะเพราะไม่ต้องมาทนเซลขายของวิสาสะโทรศัพท์เข้ามาขายของโดยได้เลยหมายโทรศัพท์ของเรามาจากการซื้อขายต่อกัน สมมติเราไปซื้อรถยนต์หนึ่งคันบริษัทรถก็จะขายรายชื่อและเลขโทรศัพท์เราให้กับบริษัทประกันภัยเป็นทอดๆ

ก็ในเมื่อมันเป็นสภาพิเศษไม่ใช่สภาตามสถานการณ์ปกติก็ไม่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญมาก ไม่หรอกครับ ยิ่งเป็นสภาพิเศษยิ่งควรจับตาดูให้มากขึ้น

ระบบราชการไทยมีความสามารถพิเศษในการปรับตัว...บรรยากาศเปิดแบบนี้เป็นบรรยากาศน้ำขึ้นรีบตัก ไม่แน่นะจะมีร่างกฎหมายมากมายที่กระทรวงทบวงกรมผลักดันให้บังคับใช้ ท่านว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อรับใช้ชนชั้นนั้น ระบบราชการเสนอกฎหมายเองก็คงหนีไม่พ้นเพื่อประโยชน์และความสะดวกของระบบราชการมากกว่าการบริการประชาชน ตรงนี้คสช.ตลอดถึงวิปและสนช.ใหม่เองต้องชัดเจนว่าช่วงเวลาสั้นๆ 1 ปีจากนี้ไปจะมีการออกกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน หรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบราชการและอำมาตยาธิปไตยกันแน่

ความคาดหวังของชาวไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่าทหารเข้ามานอกจากจะแก้ปัญหาความรุนแรงเผชิญหน้าแล้วจะยังนำประเทศสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่

หลายคนเพ่งมองไปที่สภาปฏิรูปที่จะมีการสรรหาจากตัวแทนจังหวัดและกลุ่มอาชีพหลากหลาย แท้จริงแล้วต้องจับตาที่ สนช. นี่แหละครับ เพราะที่สุดแล้วหากสภาปฏิรูปเสนอกฎหมายอะไรให้แก้ก็ต้องส่งมาที่สนช. ถ้าสนช.ไม่เอาด้วยโหวตคว่ำไปข้อเสนอปฏิรูปอะไรทั้งหลายก็ตกไป

ไม่ใช่แค่นั้น...แท้จริงแล้วการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ที่การแก้หรือออกกฎหมายใหม่ ในระหว่าง 1 ปีนับจากนี้หาก คสช./สนช./รัฐบาลใหม่ คิดจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศในบางเรื่องบางราวก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอสภาปฏิรูปเสนอ เช่นหากคิดจะเปลี่ยนอัตราภาษีก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก กดคนรวยลงมายกคนจนขึ้นไปลดช่องว่างชนชั้นสามารถทำได้เลย สนช.หรือรัฐบาลเสนอกฎหมายยกมือผ่านเป็นจบ

การจะดูว่าทหารคิดปฏิรูปที่แท้จริงและปฏิรูปในทิศทางใดต้องดูที่บทบาทสนช.กับกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญครับ ส่วนสภาปฏิรูปน่าจะเป็นข้อเสนอเชิงระบบและโครงสร้างระยะยาวอาจไม่ทันในรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น สนช.ก็เป็นจุดอ่อนทางการเมืองของทหารได้เช่นกันนะ ....

สนช.ในยุคที่ผ่านๆ มามีฐานะเทียบเท่าส.ส. มีการอนุโลมระเบียบและสิทธิประโยชน์ของส.ส.มาปรับใช้ ระดับเงินเดือนเท่าส.ส. แสนกว่าบาท สิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่ากันหมดทุกอย่าง แต่สนช.ส่วนใหญ่มาจากราชการประจำ ดังนั้นจึงมาปฏิบัติงานสนช.ไม่เต็มเวลาแถมตัวเองกินเงินเดือนสองก๊อก อันนี้ได้เปรียบเรื่องค่าตอบแทนไปเรื่องหนึ่งแล้ว ปัญหาที่สนช.รุ่นพี่ประสบมาก็คือพวกข้าราชการประจำมาลงชื่อแล้วโดดหายทำให้องค์ประชุมไม่ครบตอนลงมติผ่านกฎหมายเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินมาแล้วโดยให้กฎหมายเหล่านั้นตกไปเป็นเรื่องขายขี้หน้าของสนช.ยุคขิงแก่อย่างยิ่ง

สนช.ชุดใหม่หากมีข้าราชการมากๆ อย่าคิดว่าดีที่ได้ตอบแทนคนทำงาน เพราะอยู่ไปๆ สภาจะโล่งมนุษย์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาเวลามานั่งหรูในห้องประชุมของผู้ทรงเกียรติเพื่อเข้าคิวถกเถียงอภิปรายนานเป็นวันๆ ไม่ได้หรอกบทเรียนของ สนช.ยุคขิงแก่ก็มีให้เห็นมาแล้ว และยิ่งหากมีการใช้อัตราค่าตอบแทนเท่ากับส.ส.ชุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปเงินเดือนแสนกว่าบาทสิทธิประโยชน์เพียบแต่หายหัวโดดร่มไม่แพ้พวกส.ส.ล่ะก็งานนี้ได้ฉุดเรตติ้งของคสช.ลงเหวเลยนะ ..ขอเตือนไว้ก่อน.. อย่าล้อเล่นกับกระแสประชาชนยุคโซเชียลมีเดียไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น