ปลัดยุติธรรมเผยร่าง พ.ร.บ.พิสูจน์พยานหลักฐานด้านการเงินฯ เป็นกฎหมายให้หน่วยงานต่างๆ ใช้อำนาจร่วมกันแบบรวมศูนย์ ในการหาคนผิดจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การทุจริตทั้งภาครัฐและเอกชน ชี้ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างใช้อำนาจของตัวเองตามกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ยันเอกชนได้ประโยชน์ช่วยจัดการอาชญากรทางเศรษฐกิจ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวคิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการดออกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช. ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. มอบหมายตนศึกษาแนวทางการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว หลังตนนำเสนอที่ประชุมฝ่ายกฎหมาย คสช. เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายการเงินที่มีอยู่ว่าด้วยกฎหมายการฟอกเงิน เป็นเพียงแค่รับทราบรายงานการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินทั้งหมดเท่านั้น แต่ในชั้นสืบสวนสอบสวน สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ
1. เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายใช้อำนาจตามกฎหมายต่างกัน แต่ต้องมาทำงานร่วมกัน 2. ข้อมูลซึ่งอยู่ในที่หลากหลายต่างกัน กฎหมายในการดูแลข้อมูลต่างกัน และ 3. หลักฐานที่ได้จากสืบสวนจะต้องนำสู่ศาล ต้องได้รับการยอมรับจากศาลด้วย เพราะฉะนั้นทั้ง 3 ส่วนนี้ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนว่าจะทำให้คนแต่ละหน่วยมาใช้อำนาจร่วมกันได้อย่างไร นำข้อมูลมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของกฎหมายฉบับดังกล่าว ผู้ปฏิบัติแต่ละหน่วยทราบข้อขัดข้องนี้ดี เพื่อให้ประสิทธิภาพเกิดสูงสุด จะต้องมีกฎหมายให้การทำงานง่ายขึ้น
นายชาญเชาวน์กล่าวว่า ที่สำคัญองค์กรภาคธุรกิจ เอกชน ที่มีฐานข้อมูลอยู่ จะเข้ามามีส่วนร่วมหาคนทำผิดด้วยกันเพราะตัวภาคเอกชนก็ถือเป็นผู้เสียหายด้วย จะเป็นประโยชน์ตรงนี้ด้วย ซึ่งข้อดีของกฎหมายดังกล่าวสำหรับเอกชนก็ต้องถือเป็นหนึ่งในผู้เสียหายทางอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย มีการโกง ทุจริตในองค์กร หรือมีอาชญกรรมข้ามชาติเข้ามา ตัวกฎหมายนี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้กับเอกชนเองด้วย และการหารือในสัปดาห์นี้จะเชิญภาคเอกชนมาสอบถามความเห็น เพราะหากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว การสืบสวนสอบสวนในบางเรื่องอาจจะต้องไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางธุรกิจ ข้อมูลส่วนบุคคล ประชาชน ดังนั้นตรงนี้ต้องมาคุยกันว่า ความจริงทำได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายจะสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินในต่างประเทศได้ด้วยหรือไม่ นายชาญเชาวน์กล่าวว่า เรื่องระหว่างประเทศคงต้องมาดูกันอีกครั้งทำได้แค่ไหนในระบบสากล ซึ่งตรงนี้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการเงินทั้งหมด จะต้องมาหารือกัน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการรป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีเอสไอ) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งหมด และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ภาคเอกชน และนักวิชาการ หากที่ประชุมและหัวหน้า คสช.เห็นชอบ ก็จะนำเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกไปเป็นกฎหมายต่อไป