“ชาญเชาวน์” เผย 7 องค์กรธุรกิจหนุน คสช. ออกกฎหมายพิสูจน์หลักฐานด้านการเงิน ย้ำต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ด้าน “บิ๊กต๊อก” สั่งกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 31 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นประธานการประชุม แนวทางการออกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับตัวแทน 7 องค์กรธุรกิจเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ภายหลังการประชุม นายชาญเชาวน์ เปิดเผยว่า ตัวแทน 7 องค์กรธุรกิจเอกชนทั้งหมดเห็นด้วยกับ คสช. ที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ เพราะถ้าทำสำเร็จจะเป็นเครื่องมือในการสืบสวนคดีอาญาแนวใหม่ ในการขจัดปัญหาคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี ในเชิงป้องกันและเฝ้าระวัง เหมาะสมกับคดีอาชญากรรมที่มีลักษณะซับซ้อน เป็นการนำเอาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในหลายๆ ด้าน มาร่วมกันสืบสวนหาตัวผู้ต้องสงสัย ถ้ากระบวนการดีจะแยกอาชญากรได้ชัดเจน มีกฎหมายรองรับ
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ขณะที่ภาคเอกชนขอให้มีความชัดเจนการใช้อำนาจ อย่าใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลลูกค้า การอนุมัติให้ใช้ข้อมูลต้องมีความชัดเจน และควรมุ่งเน้นการคุ้มครองทั้งตัวบุคคล และข้อมูลส่วนบุคคลให้มากด้วยเนื้อหากฎหมายควรว่าด้วยการบริหารจัดการข้อมูล บริหารจัดการคนให้ข้อมูล และบริหารจัดการคนขอข้อมูล ตรงนี้เขียนให้ชัด เพราะปัจจุบันกฎหมายที่ภาครัฐใช้อยู่ในแต่ละองค์กรธุรกิจมีอยู่หลายฉบับมีความขัดแย้งกันในการให้ความร่วมมือ บางฉบับบอกทำได้ บางฉบับบอกทำไม่ได้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะเอากฎหมายตรงนี้มาดูด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำให้องค์กรธุรกิจลำบากใจให้ความร่วมมือ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างขอ ซึ่งต้องนำมากฎหมายที่เกี่ยวข้องมาว่ากันใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีอยู่เยอะ ขณะที่ภาคเอกชนมีผู้เชี่ยวชาญรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะทำงานด้านนี้
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวขอบคุณ 7 องค์กรธุรกิจเอกชน ที่เห็นถึงความตั้งใจของ คสช. ที่จะทำให้บ้านเมืองในการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพจริงๆ เมื่อภาคเอกชนเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ คสช. จะได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป โดย พล.อ.ไพบูลย์ สั่งกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะทำงานจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว มีตัวแทนภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นคณะทำงาน จากนี้จะพิจารณาหารือภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป