“พล.อ.ไพบูลย์” ผช.ผบ.ทบ. เดินทางมามอบนโยบายพร้อมกำชับกรมราชทัณฑ์ห้ามนักโทษข้องเกี่ยวกับยาเสพติด
ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี วันนี้ (12 มิ.ย.) เมื่อ เวลา 10.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหนัาฝ่ายกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางมามอบนโยบายการบริหารงานกรมราชทัณฑ์แก่ผู้บัญชาการเรือนจำและผู้บริหารของกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชม. โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้การต้อนรับ
พล.อ.ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์หลังการมอบนโยบายว่า วันนี้ได้มอบหมายนโยบายให้แก้ปัญหายาเสพติดในเรือนจำ เพราะเป็นสถานที่ไม่น่ามีปัญหา แต่กลับมีปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวมาตลอดนั้นเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นใจว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำมีน้อย และจำนวนนักโทษก็มีมากมาย อาคารสถานที่คุมขังแออัดและเก่าแก่ ซึ่งปัญหาความขาดแคลนจะต้องแก้ไข แต่ไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบมาแก้ปัญหา ดังนั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะปล่อยให้มีนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำยังคงสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในการสั่งซื้อหรือขายยาเสพติดจากในเรือนจำได้อีก
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการวัดแก้ปัญหายาเสพติดว่า สามารถจับต้องเป็นรูปธรรมได้ภายใน 30 วัน โดยหากมีข้อมูลปรากฏว่ามีการสั่งยาเสพติดจากเรือนจำก็ต้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน โดยปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งตนเองในฐานะที่มารับหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกฏหมายฯของ คสช. จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะในการปัญหายาเสพติดในเรือนจำนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า นักโทษในเรือนจำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องมีการจำกัดให้อยู่เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ปล่อยให้มาปะปนกับนักโทษคนอื่นเพื่อง่ายต่อการคัดแยก ซึ่งอาจจะนำตัวไปคุมขังที่ “คุกซุปเปอร์แม็กซ์” หรือเรือนจำความมั่นคงสูง เรือนจำเขาบิน จ.ราชบุรี ที่เป็นสถานที่มีระบบและอุปกรณ์ควบคุมที่ดี เพื่อกำจัดยับยั้งการกระทำของคนในกระบวนการยาเสพติด ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้บอกกับตนเองว่าจะดำเนินการคัดแยกนักโทษที่เกี่ยวข้องยาเสพติดไปยังคุกเรือนจำความมั่นคงสูงซึ่งรองรับนักโทษได้ประมาณ 440 คน และจะย้ายให้เสร็จได้ภายใน 7 วัน
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของ คสช. ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วานนี้ (11 ม.ย.) ที่ คสช.มีประกาศโยกย้ายบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ อัยการสูงสุด เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น โดยยืนยันว่าบุคคลที่ปรากฏชื่อโยกย้ายไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความผิดหรือถูกลงโทษ แต่คสช.ต้องการให้ออกจากจุดขัดแย้งก่อน แต่เมื่อมีการเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งในประเทศลงตัวเรียบร้อยแล้วจึงค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ย้ำว่าทุกคนที่ปรากฏชื่อตามประกาศ คสช. ยังคงตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ยังคงตำแหน่ง ผบ.ตร. เช่นเดียวกับ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ก็ยังคงดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเช่นเดิม
ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า มี 3 เรื่องเร่งด่วนที่สุดคือ 1. เรื่องขจัดยาเสพติดออกจากนักโทษและคัดแยกนักโทษที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งที่เป็นระดับผู้สั่งยาเสพติดจากในเรือนจำโดย วันนี้ (12 มิ.ย.) ตนจะสั่งการลงไปยังเรือนจำและที่คุมขังทุกแห่ง ให้รับทราบว่า ต้องมีการตรวจสอบและเอกซเรย์นักโทษทั้งหมด ภายใน 7 วัน เพื่อคัดแยกนักโทษที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับยาเสพติดและเป็นตัวการที่สั่งยาเสพติดจากภายในเรือนจำ ก่อนส่งรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ หลังจากนั้นจะคัดแยกนักโทษที่เป็นหัวโจก หรือเป็นขบวนการยาเสพติดรายใหญ่ไปคุมขังที่แดนความมั่นคงสูง หรือแดน 6 เรือนจำเขาบิน หรือที่เรียกว่า เรือนจำ “Super Max” ที่มีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
มีเครื่องตัดการสื่อสารและการควบคุมตัวนักโทษขั้นสูง สามารถรองรับนักโทษได้ 440 คน นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีการทำโครงการ “เรือนจำสีขาว” เมื่อปี 2556 ซึ่งมีเรือนจำปลอดยาเสพติดทั้งหมด 103 แห่ง 35 แดน และในปี57 มีจำนวน 48 แห่ง 18 แดน
2. มาตรการสำหรับเจ้าหน้าที่ ภายใน 7 วัน โดยนับจากนี้จะทำการตรวจสอบ และเอ็กซ์เรย์ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเรือนจำ เพื่อคัดกรองเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยจะทำเป็นโครงการ “เจ้าหน้าที่สีขาว” เพื่อคัดแยกเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องยาเสพติด มาดำเนินการทั้งทางวินัยคือ ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในเรือนจำ ย้ายออกนอกพื้นที่ และอาญาคือ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ส. และ ปปง. ดำเนินคดีต่อไป
และ 3. มาตรการผู้บังคับบัญชา กำหนดความรับผิดชอบผู้บังคับบัญชา หากลูกน้องใต้บังคับบัญชาทำผิด หรือบกพร่องต่อหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย โดยนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาโทษ