สัปดาห์ที่ผ่านมาผมอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง สะดุดตากับข่าวกรอบเล็กๆ ชิ้นหนึ่งพาดหัวว่า
“วอนสายเลือดใหม่กระบี่คืนถิ่น”
เรื่องของเรื่องก็คือ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ คุณธรรมศักดิ์ ภูพันธ์วิวัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่า พ่อค้านักธุรกิจจังหวัดกระบี่ส่วนใหญ่จะส่งเสริมให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนสูงๆ เช่น ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก ทำให้หลังจบการศึกษาแล้ว มักมีโอกาสได้งานทำที่กรุงเทพฯ ด้วยอัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง
หลายรายตัดสินใจทำงานที่กรุงเทพฯ แทนที่จะกลับมาสืบทอดธุรกิจของครอบครัว ซึ่งมีทั้งด้านการค้าและด้านการเกษตร ทำให้หลายรายไม่สามารถเกษียณตัวเองได้ เพราะไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ส่วนรายใดที่มีบุตรหลานมาสืบทอดกิจการก็ถือว่าโชคดี
คุณธรรมศักดิ์ กล่าวว่า อยากฝากความหวังไปยังสายเลือดใหม่ของชาวกระบี่ ให้กลับมาสืบสานธุรกิจของครอบครัว และมีส่วนร่วมในองค์กรต่างๆ ของจังหวัดกระบี่ ทั้งหอการค้า สมาคม ชมรมต่างๆ มากขึ้น
ผมอ่านข่าวนี้จบแล้วเมื่อคิดตามจะพบว่า ปัญหาแบบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กระบี่เพียงจังหวัดเดียว แต่ยังมีหลายจังหวัดที่มีสภาพแบบนี้ คือ ที่บ้านประกอบกิจการหรือค้าขาย วันดีคืนนี้บุตรหลายตนเองเรียนในระดับสูงๆ แล้วได้งานทำ แต่ไม่ได้กลับมาช่วยดูแลกิจการที่บ้าน สุดท้ายครอบครัวจึงตัดสินใจปิดกิจการ
ไม่ใช่เพราะเจ๊ง แต่เพราะทำต่อไม่ไหว...
พลันนึกถึงเพื่อนผมคนหนึ่ง นานมาแล้วเคยเปรยให้ฟังว่า “ขายรีสอร์ทให้หน่อยสิ” ผมก็ถามเค้าว่า “เอาจริงเหรอ พูดเป็นเล่น” เขาก็เล่าว่า พ่อทำบังกะโลริมทะเลอยู่ที่จังหวัดแห่งหนึ่ง เปิดมานานหลายสิบปี ที่นั่นปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาจำนวนมาก เคยมีนายทุนมาขอซื้อกิจการบังกะโลดังกล่าว แต่เมื่อจะตัดต้นไม้ออกทั้งหมด พ่อเขาจึงไม่ขาย
เขากล่าวว่า เมื่อเขาเรียนจบแล้วทำงานต่อ พ่อซึ่งเกษียณอายุงานไปแล้ว ก็ไปดูแลรีสอร์ทสลับกับแม่อยู่บ้าง กระทั่งรู้สึกว่าพ่อแม่ทำต่อไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจบอกว่าจะขายกิจการรีสอร์ท ตั้งราคาไว้ที่ 150 ล้านบาท เขาก็พูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าผมช่วยเขาขายรีสอร์ทได้นะ จะมีส่วนแบ่งให้เป็นล้าน จะได้ลาออกจากงานไปใช้เงินได้เป็นปีๆ
ผมก็ไม่ได้ตอบรับอะไร เพราะตอนนั้นผมคิดว่าเป็นนักข่าวธรรมดา จะไปรู้จักเศรษฐีที่ไหน
เลยไม่รู้ว่าจนถึงตอนนี้บังกะโลที่นั่นขายไปแล้วหรือยัง หรือที่สุดแล้วครอบครัวเขาเกิดเปลี่ยนใจไม่ขายแล้วก็ไม่รู้
แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นบางครอบครัวที่ยังสืบทอดกิจการที่บ้านหลังเรียนจบ อย่าง “เจ้ากอล์ฟ” เพื่อนผมที่อยู่พะเยา ที่บ้านพ่อเขาเปิดร้านขายยามานานแล้ว หลังเรียนจบมัธยมปลาย เขาสอบติด และศึกษาต่อที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเรียนจบแล้วจึงกลับไปช่วยพ่อดูแลร้าน ผมเคยขึ้นไปเยี่ยมครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว
เขากล่าวว่า ร้านขายยามันมีกฎตายตัวของมัน กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขบีบให้ทุกวันนี้เภสัชกรต้องประจำร้านขายยา เหตุผลอีกอย่างหนึ่งคือ เภสัชกรที่ยืนหน้าร้าน ต้องทำความรู้จักคุ้นเคยกับลูกค้าให้มากๆ ถึงจะขายได้ดี ถ้าเภสัชกรหน้าใหม่มาเปิดร้านขายยา ช่วงแรกๆ อาจจะลำบากหน่อย ต้องใช้เวลาสักพักถึงลงตัวเข้าที่ได้ เขาถึงกลับไปช่วยทำร้านขายยาต่อที่บ้าน
ด้วยเหตุนี้ เขาถึงไม่ค่อยมีเวลาได้ออกไปไหนมาไหน เพราะต้องอยู่เฝ้าร้าน เกรงว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรวจแล้วไม่เจอ ถ้าเขาไม่อยู่ร้านก็ต้องปิด พ่อไม่ยอมแน่ๆ
ผมถามว่า ระหว่างทำงานอยู่กรุงเทพฯ กับทำร้านยาที่บ้าน ที่ไหนมีความสุขมากกว่ากัน กอล์ฟตอบอย่างไม่ลังเลว่า ต้องที่บ้านแน่นอน เพราะรายจ่ายน้อย รายได้เยอะ มีเวลาอยู่กับครอบครัว เทียบกับอยู่กรุงเทพฯ รายจ่ายเยอะ แต่ก็คิดว่าในอนาคตที่ร้านคงไม่ขยับขยายอะไร แค่นี้น่าจะพอแล้ว ถึงจะเปิดใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะไปเปิดที่ไหน เดี๋ยวนี้ร้านยาเภสัชกรหน้าใหม่เปิดเต็มไปหมดตอนนี้ แข่งขันกันสุดๆ ทำให้โซนที่เป็นทำเลทองก็แทบไม่มีแล้ว
อีกคนหนึ่งที่นึกถึง คือ “เจ้าปิง” เพื่อนรุ่นน้องที่รู้จักกันในอินเตอร์เน็ต สนใจข่าวสารบ้านเมืองเหมือนกัน ที่บ้านพ่อทำอาชีพขายเครื่องชั่งน้ำหนักสำหรับรถบรรทุกในตัวเมืองขอนแก่น กระทั่งเขาสอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อก่อนเขายังเปรยว่า ถ้าเรียนจบมาไม่ได้ทำงานก็จะไปดูแลกิจการที่บ้าน เพราะเป็นลูกชายคนเดียว
ผมโทรศัพท์คุยกันล่าสุด หลังจากที่เขารับปริญญาไปเมื่อไม่นานมานี้ เขากลับมาขอนแก่นเพื่อรอจนกว่าบริษัทที่สมัครงานจะเรียกไปสัมภาษณ์ และได้งานทำ ซึ่งเขากล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คนเรียนจบใหม่อาจจะมีความรู้สึกไฟแรง อยากจะทำงานให้ตรงกับสายที่เรียนจบมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็จะกลับมาทบทวนว่าอยู่ที่ไหนดีกว่ากัน
เขามองว่ากรณีที่ลูกหลานพ่อค้านักธุรกิจเรียนจบแล้วไปทำงานที่กรุงเทพฯ กิจการที่กระทบน้อยที่สุดคือกิจการแบบซื้อมาขายไป เพราะแม้ร้านจะปิดตัวลงก็ยังมีร้านอื่นที่เป็นคู่แข่งทดแทนกันได้ แต่กิจการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจที่ต้องมีการดูแลบริการหลังการขาย หรือธุรกิจบริการ อย่างโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ที่หัวหน้าครอบครัวเป็นเจ้าของ
ผมลองวิเคราะห์แบบง่ายๆ ว่าทำไมคนที่เป็นสายเลือดท้องถิ่นจึงเกิดภาวะขาดผู้ที่จะสานต่อ ส่วนหนึ่งอย่างที่อดีตประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่กล่าวนั่นแหละ ก็คือ ส่งลูกไปเรียนสูงๆ จบออกมาก็ทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ได้กลับไปดูแลกิจการที่บ้านเกิด ซึ่งหากคิดกันให้ลึกๆ ก็คือ คนที่จบการศึกษาสายใด ก็มักจะเลือกทำงานสายนั้น
อย่างค่านิยมที่ว่าการเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจนั้น แม้ว่าเงินเดือนจะไม่หวือหวา แต่ก็ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในแต่ละปีเราจะเห็นเด็กมัธยมปลายสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร บุคคลทั่วไปสอบนายสิบตำรวจ หรือถ้าเป็นสนามสอบข้าราชการจะพบว่ามีเด็กจบปริญญาตรีมาใหม่ๆ ไปสมัครสอบจำนวนมาก
ส่วนสายที่เกี่ยวกับวิชาชีพ หรือความชำนาญเฉพาะทาง มีตำแหน่งงานเฉพาะพื้นที่ ก็อาจจะจำต้องทำงานในพื้นที่ที่เป็นแหล่งงานเฉพาะ อย่างของผมสายนิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน แหล่งงานส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรสื่อต่างๆ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเงินเดือนและสวัสดิการดีกว่า เทียบกับอยู่ต่างจังหวัดคงทำได้แค่เคเบิลทีวีหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
หากเป็นวิชาชีพเกี่ยวกับวิศวกรโยธา แหล่งงานมักจะเกี่ยวกับการก่อสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งงานเหล่านี้จะมีมากที่สุดในหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต ฯลฯ ส่วนวิชาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก็มักจะอยู่กับแหล่งอุตสาหกรรม เช่น จบวิศวกรรมเคมี ก็ไปทำงานด้านปิโตรเคมี ซึ่งมีมากในภาคตะวันออก เช่น ระยอง เป็นต้น
หรืออย่างบางอาชีพที่มีแหล่งงานเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างโปรแกรมเมอร์ จะเห็นว่าในต่างจังหวัดถ้าไม่ใช่แหล่งอุตสาหกรรมแทบจะไม่มีการจ้างงานเลย ซึ่งคิดกันแบบตลก หากเป็นในชนบท บางคนอาจคิดไปว่างานโปรแกรมเมอร์คงคล้ายกับงานซ่อมคอมพิวเตอร์ ลงโปรแกรมต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์คืออะไรด้วยซ้ำ
แต่ถึงกระนั้น การทำงานในแหล่งงานที่กระจุกตัว อย่างเช่นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ นอกจากมีรายได้ที่ดีกว่าแล้ว การใช้ชีวิตในสังคมเมืองยังดีกว่า เพลิดเพลินกว่า เปรียบเทียบง่ายๆ อย่างสังคมต่างจังหวัด ตกเย็นถึงกลางคืนปิดบ้านนอนกันหมดแล้ว ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ ตกเย็นมีห้างสรรพสินค้าให้เดิน ตกกลางคืนมีสถานบันเทิงให้ย่ำราตรีก่อนเข้านอน
ความเจริญที่พบเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่ชี้วัดได้ว่าคนที่อาศัยในสังคมเมืองคุณภาพชีวิตจะดีกว่าเสมอไป เห็นได้จากบรรดามนุษย์เงินเดือนที่ยังมีปัญหาค่าครองชีพที่สูงกว่าต่างจังหวัด อีกทั้งผลจากการบริโภคเพื่อแสวงหาความสุขมากกว่าสิ่งจำเป็น เมื่อใช้จ่ายเกินตัว เงินไม่พอใช้ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตต่างๆ
ช่วงเวลาหนึ่งก็อาจมีมนุษย์เงินเดือนหลายคนรู้สึกโหยหาความเป็นอิสระ นอกจากคิดถึงเรื่องอยากเป็นนายตัวเอง เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ แล้ว บางคนก็อยากใช้ชีวิตอย่างสงบ พอเพียง ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่เมื่อยุคปัจจุบันสังคมเกษตรไม่เหมือนสมัยก่อน ความลำบากมากกว่า จึงทำให้สิ่งที่คิดเป็นเพียงแค่ความฝัน
อันที่จริงผมมองว่าคนที่มีกิจการในท้องถิ่นอยู่แล้ว และส่งบุตรหลานเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ นี่ยังถือว่าโชคดีกว่าครอบครัวที่บ้านทำไร่ไถนา ในขณะที่พื้นที่นายังต้องเช่านายทุน หรือครอบครัวที่ทำงานโรงงานหาเช้ากินค่ำ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นสินทรัพย์ของครอบครัว เมื่อเทียบกับคนที่มีกิจการอยู่ที่บ้านซึ่งนับว่ายังดีที่มีทรัพย์สินอยู่ได้สบายๆ
แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดกลับเป็นสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากในปัจจุบันถูกเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมอุตสาหกรรมและสารสนเทศ วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ และเมื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรยังอยู่กันแบบปากกกัดตีนถีบ ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้แนวโน้มในอนาคต คนรุ่นใหม่สนใจที่จะกลับไปทำการเกษตรน้อยมาก
ลองคิดกันเล่นๆ สมมติในอนาคตหากคนรุ่นใหม่ไม่มีใครทำนา ไม่มีใครเห็นคุณค่าและความสำคัญของชาวนา เราอาจจะเห็นการที่เกษตรกรกลายสภาพเป็นลูกจ้างทำนาให้นายทุน ดีไม่ดีอาจต้องจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำนา หรือหากเลวร้ายที่สุดเราอาจจะต้องนำเข้าข้าวหอมมะลิจากต่างประเทศมาบริโภคแทนข้าวไทยก็เป็นได้
เมื่อธุรกิจที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นโดยส่วนมากเป็นกิจการครอบครัว ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจ้าของกิจการเกษียณตัวเองไม่ได้ เกิดจากการที่พ่อแม่ดูแลกิจการเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ให้ลูกหลานได้เข้ามามีส่วนร่วมเพราะไม่อยากให้ต้องมาลำบาก กลายเป็นว่าลูกหลานขาดความรู้สึกผูกพันในกิจการตรงนั้นไป
ในยามที่ลูกโตขึ้น เรียนจบออกมา หางานทำที่ชอบ พ่อแม่เรียกร้องให้ลูกกลับมาดูแล สืบทอดกิจการที่บ้าน แต่ก็ไม่สนใจ คิดว่าทำไปตามหน้าที่เท่านั้น ครั้นจะสอนงานก็เข้าตำราไม้แก่ดัดยาก ลูกหลานเจอความลำบากก็ไม่ชอบใจอีก จะให้คนนอกดูแลกิจการต่อก็ไม่ไว้วางใจ เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทองก็กลัวว่าจะมีเรื่องไม่ซื่อสัตย์ตามมา
ปัญหาแบบนี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่มักจะพูดกันบ่อยครั้งคือ แนวคิดการทำรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคิดไปว่าพื้นที่ตามรายทางถึงจุดหมายปลายทางจะถูกสร้างเป็นเมืองเศรษฐกิจเหมือนกับกรุงเทพฯ กระจายออกไป แล้วเชื่อมเมืองทั้งหมดนี้ด้วยกัน กับฐานการผลิตอีกหลายที่
กลายเป็นว่าพอเอาเข้าจริงบรรดานายทุนมักจะกว้านซื้อที่ดิน และพัฒนาความเจริญเบียดเบียนกับท้องถิ่น กลายเป็นว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก กิจการที่มีดั้งเดิมถ้าไม่ปรับตัวก็ไปไม่รอด เจ๊งกันไปหมด ไม่ต่างอะไรไปจากยุคที่มีห้างโมเดิร์นเทรดครองเมือง ทำเอาบรรดาร้านค้าในชุมชนกระทบ ปิดกิจการระนาว จนต้องออกกฎหมายค้าปลีกควบคุม
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นหนทางในการพัฒนาสายเลือดใหม่ในท้องถิ่น ให้คนรุ่นใหม่ คงต้องปรับทัศนคติคนรุ่นใหม่ให้รู้สึกว่า การได้เกิด อาศัยอยู่ เรียนหนังสือ หรือมีกิจการในท้องถิ่น คือความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่น เห็นได้จากการรวมตัวกันของคนอุดรธานีทำให้เศรษฐกิจเจริญได้โดยไม่ต้องง้อทางราชการหรือนักการเมือง
ที่สำคัญ คนในท้องถิ่นก็ควรที่จะสนับสนุนคนในท้องถิ่นด้วยกัน โดยให้โอกาสธุรกิจแต่ละประเภทของท้องถิ่นเติบโตไปด้วยกัน เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ไปพร้อมกับการพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย โดยไม่ละเลยถึงจุดแข็งหรือส่วนที่ดีแต่ดั้งเดิม เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสการแข่งขันที่คืบคลานเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้ การรวมตัวกันเป็นสังคมเฉพาะในท้องถิ่น ในรูปแบบสมาคม ชมรมต่างๆ หรือกิจกรรมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งความสามัคคีก็มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งในแต่ละท้องถิ่น บางครั้งเราจะเห็นว่าเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊กก็กลายเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่มกันของคนท้องถิ่นโดยมีสมาชิกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้อีกด้วย
ผมไม่รู้ว่า ในสังคมแบบต่างคนต่างอยู่หยั่งรากลึกขึ้นมาแบบนี้ เราจะยังสามารถมีสังคมที่ยังติดต่อสื่อสารกัน เอื้ออาทรต่อกัน และมีกิจกรรมร่วมกันเฉกเช่นสังคมไทยในอดีตได้หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยการปลุกจิตสำนึกให้เกิดความผูกพันและรักในท้องถิ่นนั้นๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งจูงใจให้สายเลือดใหม่ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในท้องถิ่นอีกครั้ง
ส่วนการสืบทอดกิจการต่อจากครอบครัวนั้น เป็นเรื่องทัศนคติเฉพาะตัว หากพ่อแม่ไม่เสียสละสลายกิจการที่สร้างกับมือมา เพื่อให้ลูกหลานได้ไปตามทางที่ต้องการ ก็คงต้องอธิบาย หรือสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาได้กลับมาอยู่ดูแลท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบายลำบาก คงต้องขึ้นอยู่กับลูกหลานว่า แล้วจะเลือกอะไรได้ไหม