คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย..ประเสริฐ เฟื่องฟู
การจัดระเบียบเมืองภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่มีชื่อเสียงด้านความสวยงามทางธรรมชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย อดีตได้ฉายาเรียกขานจากชาวโลกว่า “ไข่มุกอันดามัน” หรือ “Pearl of Andaman” ที่ชาวภูเก็ตเจ้าของบ้านเป็นปลื้มกันนักหนา โดยหารู้ไม่ว่า
ความสวย ความงามนั้น ในที่สุดเป็นมหาภัยแก่ตัวเอง!
ว่ากันถึงความสวยงามของธรรมชาติ ก็อดไม่ได้ที่จะเท้าความหลัง ด้วยความอาลัยอาวรณ์ เพราะไม่มีโอกาสที่จะหวนกลับคืนมาให้เห็นได้อีก แต่อยากให้คนรุ่นหลังได้มโน จินตนาการสร้างภาพดู หลังจากภูเก็ต “ดัง” ได้ไม่นาน... ไม่นานจริงๆ ธรรมชาติที่สวยงามเริ่มถูกทําลาย นับจากหาดทรายชายทะเล และขึ้นมาแนวหาดด้านบนในอดีต เต็มไปด้วยพืชคลุมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ผักบุ้งทะเล” ดอกสีม่วงบานสะพรั่งตลอดแนวหาด แทบทุกหาด
สุดสวย!
บางหาดอย่างเช่น หาดกะตะ กะรน หรือหาดไม้ขาว นอกจากผักบุ้งทะเลแสนงามแล้ว ยังมี “ผักลิ้นห่าน” ต้นคล้ายผักชีฝรั่งขึ้นแซม ให้ชาวบ้านเก็บขาย หรือนํามาปรุงอาหาร จะลวกจิ้มน้ําพริก จะผัดน้ํามัน แบบผักบุ้งไฟแดง หรือผัดแบบผักเหมียง จะให้อร่อย ก็ต้องต้มกะทิ กับกุ้งแห้ง กุ้งเสียบ หรือกุ้งสด เหมือนกับผักเหมียง หรือ “ผักกูด” (เฟิร์นชนิดหนึ่งขึ้นชุกชุมทางภาคใต้ที่มีน้ําชื้นแฉะ) อีกนั่นแหละ... อร่อยมาก
ปัจจุบันผัก “ลิ้นห่าน” น่าจะสูญพันธุ์ไปจากภูเก็ตแล้ว เช่นเดียวกับเต่าทะเล ตัวเกือบเท่ารถโฟล์คคลานต้วมเตี้ยมขึ้นมาวางไข่ยามเดือนหงายให้ชาวบ้านไปยืนดู แต่ละครั้งนับร้อยฟอง ขณะวางไข่น้ําตาก็ไหลอาบแก้ม หลังวางไข่ ปล่อยให้เขากลบทรายฝังเป็นการฟักตามธรรมชาติเสร็จ ขึ้นไปขี่คร่อมหลังให้เต่าพาลงทะเลได้อย่างสบาย
พ้นแนว “ผักบุ้งทะเล” ขึ้นมา เป็นดงต้น “เสือหมอบ” พอปลายเดือนสิบสองเริ่มสิ้นหนาว เข้าต้นแล้งเดือนอ้ายเดือนยี่ ย่างเดือนสาม ได้เวลาดอกเสือหมอบบานขาวสะพรั่ง บางแห่งมีกอเตยขึ้นแซม ถัดขึ้นไปเป็นทิวสน หลากหลายขนาด ทั้งเล็ก-ใหญ่ 2 คนโอบขึ้น อายุเป็นร้อยปีที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ปลูกไว้ให้ หรือเลยขึ้นไปอีก ก็เป็นดงมะพร้าว ที่บรรพชนชาวบ้านไปจับจองปลูกไว้สูงลิบลิ่ว ว่ากันว่าเอาไว้ให้ “ลูกชัง” อยู่เฝ้าสวนมะพร้าว เฝ้านา หาปลาในทะเลกินเอา ส่วน “ลูกรัก”เอาไปเลี้ยงประคบประหงมฟูมฟักให้ทํามาค้าขายในตัวเมือง
พอพ่อแม่สิ้นบุญสิ้นกรรม แต่ละคนก็ได้ที่ดินที่ตัวเองอยู่ทํามาหากินเป็นมรดกตกทอด
“ลูกชัง”ได้ที่ริมทะเล หรือใกล้ชายหาดซีวิว ยุคนี้กลับเป็นทําเลทอง กลายเป็นเศรษฐีทันตาเห็น ส่วน “ลูกรัก”
ได้ที่ในตัวเมืองก็ทํามาค้าขายไปตามประสาที่คุ้นเคย
เป็นตํานานที่เล่ากันมา จะจริงจะเท็จ เห็นจะเป็นบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น จะตอบได้
สุดท้าย ไม่ถึงศตวรรษธรรมชาติเหล่านั้น ค่อยๆ ถูกมหาภัยจากมือมนุษย์ที่เรียกกันว่า “นักลงทุน”
และนายทุนผู้มีอิทธิพลเข้ามาจับจอง เกลี้ยกล่อมชาวบ้านกว้านซื้อที่ดินด้วยเงินก้อนโต ฟาดหัวตาสีตาสา บรรดา “ลูกชัง”
ที่ใจแข็งก็เป็นเศรษฐีใหญ่ในพริบตา
ส่วน “ลูกชัง” ที่ใจเร็วด่วนได้ ก็ช่วยให้นายหน้านักค้าที่ดินร่ํารวยแทน
นักเซ็งลี้ที่ดิน หรือนายทุนก็เร่งให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรีบออกเอกสารสิทธิ ไม่เว้นแม้กระทั่งที่หลวง ที่สาธารณะ ที่ลาดชัน บนหินผา หุบเหว ริมทะเล รุกล้ําย่ำยีเข้าป่าขึ้นเขา ป่าไม้ อุทยานฯยังไม่เหลือ
รุกกันแบบไม่ยั้ง ทั้งมือเปล่า ใบเหยียบย่ำ แปลงเป็น น.ส.3 และ ส.ค.1 ที่ทั้งบวม และบินนําทาง
นี่แหละอันตรายจากความงาม ปัจจุบันซากยังแทบไม่เหลือให้เห็น แต่กลับมีแท่งคอนกรีตสูงต่ำลดหลั่นกันผุดขึ้นมาแทนที่ ตามชายทะเลหาดทรายสีทองกลับมีเตียงผ้าใบ ร่มหลากสี มีโลโก้แบงก์มหาเศรษฐีสีม่วง สีเขียว อวดความเป็นตัวการสนับสนุนการรุกหาดเต็มไปหมด
ครับ... เหมือนกับสังขาร หรือทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง มีเกิด มีโทรม แล้วก็ดับสูญ
ณ บัดนี้ นโยบายการจัดระเบียบ และปฏิรูปบ้านเมือง ปฏิรูปการปกครอง ด้วยคําสั่งเฉียบขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กองทัพภาคที่ 4 กองเรือภาคที่ 3 ตํารวจภูธรภาค 8 และปกครองจังหวัด ภายใต้การนําของ “ไมตรี อินทุสุต” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
จัดระเบียบเมืองภูเก็ต ขจัดผู้มีอิทธิพลทุกรูปแบบ ทั้งแท็กซี่ นักเลง เจ็ตสกี เตียงผ้าใบ ร่มชายหาด รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างรุกล้ําชายหาด ที่สาธารณะ และการบุกรุกผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เอากันแบบถอนรากถอนโคน ขจัดกันให้สิ้นซาก หมดไปจากแผ่นดินเกาะภูเก็ต
เห็นทันตา เห็นชัดเจน หาดทรายสีทองของเมืองภูเก็ต ทุกหาดสะอาดเกลี้ยงเกลา ประชาชนทั้งโลกได้ใช้ร่วมกัน
ไร้สิ่งกีดขวาง ประเด็นนี้ ต้องชมเชย
ส่วนด้านการปฏิรูปการเมือง การปกครอง ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ที่นักการเมืองฝันหา ก็ตั้งตาคอยกันต่อไป ผู้บริหารบ้านเมืองหลายคนหลายชุด ทั้งระดับท้องถิ่น จังหวัด หรือแม้กระทั่งผู้บริหารในรัฐบาล ยุคประชาธิปไตยหลายสมัยต่างใช้วิธีการหลากหลายวิธี ก็แก้กันไม่ได้ ลูบหน้าปะจมูกบ้าง ชนตอ เจอเส้นบ้าง ที่สุดก็คาราคาซัง ช่างแม่งมัน ครั้งแล้วครั้งเล่า ตามประสาประชาธิปไตยไทย
“หาดป่าตอง” เป็นกรณีศึกษา เป็นพื้นที่ทําเลทองแห่งแรกของภูเก็ต ที่นักลงทุนต่างกลุ้มรุมจับจองกว้านซื้อที่ แย่งเป็นเจ้าของจนที่ดินราคาพุ่งชนิดติดจรวด กลายเป็นทองคําในเวลาอันรวดเร็ว ต่างแข่งกันผุดอาคาร ทั้งโรงแรม รีสอร์ต อาคารพาณิชย์ ตึกแถวห้องเช่าโผล่เป็นดอกเห็ด
ผังเมือง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ทั้งจากภาครัฐ และท้องถิ่นมะงุมมะงาหรา หลงทิศหลงทางตามภาคเอกชนที่เฮโลเข้ามาเป็นน้ําป่าหลากไม่ทัน มันจึงกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวกระจุกอยู่ที่เดียว
ทั้งๆ ที่มีสัญญาณเตือน “ภูเก็ต” มาจากทุกภาคส่วนว่า อนาคตจะเป็นเหมือน “พัทยา” ที่ถูกทัพนักลงทุน ผู้ประกอบการ รวมทั้งเมียเช่าสารพัดรุ่นบุกเข้าถล่มย่ำยี จนธรรมชาติที่สวยงามยับเยิน ในช่วงที่หากินกับทหารอเมริกัน ทหารพันธมิตร ระหว่างสงครามเวียดนาม หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมา ที่ใช้เงินดอลล์แทนเงินบาท
สัญญาณเตือนครั้งนั้น ทั้งจากนักวิชาการ นักวิเคราะห์หลายสถาบันว่อนสื่อ แต่ภาครัฐเข้าหูซ้าย ออกหูขวา พูดกันแต่ปาก ไร้แรงกระตุ้น เช้าชามเย็นชาม ต้วมเตี้ยมยิ่งกว่าเต่า แต่กลับว่องไวปราดเปรียวเห็นดีเห็นงามกับเงินใต้โต๊ะ ที่นายทุนจัญไรยัดเยียดให้ ป่าตอง จึงเละตุ้มเป๊ะเป็นพัทยา 2
ด้วยภาคเอกชนแข่งกันกอบโกยทุกอย่างที่โกยได้ ทุนผู้มีอิทธิพล นักการเมืองจากภาคกลาง ปากน้ำ สมุทรปราการ ภาคตะวันออกจากบางแสน ชลบุรี ส่งคนส่งสัญญาณเข้ายึดภูเก็ต ด้วยธุรกิจหลายตัว อัดยัดทะนาน เต็มป่าตอง เต็มชายหาดทั้งร่มเตียง จนกระทั่งในที่สุดล้นทะลักบานปลายไปยังหาดอื่นๆ
กะตะ กะรน ไปบางเทา หาดในยาง ลามปามเข้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ พินาศยับเยินดังที่เห็นและเป็นมา จากการเริ่มต้นแตกหน่อแตกกอของทุนการเมืองภาคกลาง และตะวันออก
แล้วสุมหัวกันดึงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ว่าเป็นการดึงเงินตราต่างประเทศเข้า สร้างงานให้คนไทย ฟากฝ่ายคนท้องถิ่นกลับเห็นดีเห็นงามคล้อยตาม เป็นการเอาใจนักการเมือง และรัฐบาล แทนที่จะสงวนเอาไว้ลงขันลงทุนกันเอง ตามมีตามเกิดแบบพอเพียง เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรเอาไว้ชั่วลูกชั่วหลาน ให้ต่างชาติลงทุนแค่ครั้งเดียว แต่พวกมันกลับตักตวงกอบโกยออกไปไม่รู้จบ
โดยเฉพาะหาดป่าตอง ท้องถิ่น และจังหวัด จัดระเบียบไม่ได้แม้แต่ครั้งเดียว พยายามแล้วพยายามอีก จัดไม่เคยได้ ทําไม่เคยสําเร็จ จังหวัดให้ใช้มาตรการเด็ดขาด ท้องถิ่นกลับอนุโลมลักษณะมีเลศนัย โดยเฉพาะร่ม เตียงชายหาด เจ็ตสกี และลามขึ้นมาถึงที่จอดรถริมถนนสาธารณะที่ถูกยึดครองด้วยรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊กป้าย 30 และรถเช่าทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ทุกเส้นทางท่องเที่ยว
ล่าสุด “ย่อย” เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกที่ชนะการเลือกตั้งซ่อม ล้มช้างได้สําเร็จ โดยชูนโยบาย “5 จําทนต้องก้าวข้าม” เป็นจุดขาย เหมือนโชคช่วยถูกหวยรางวัลที่หนึ่งเลยแหละ ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขี่ม้าขาวเข้ามาเป็นกําลังจัดระเบียบให้ แทบไม่ต้องออกแรง
พริบตาเดียว ขวากหนามมหาปะลัยที่ต้องก้าวข้าม กลับปูลาดด้วยดอกกุหลาบ บุญหล่นทับ!
ย่อยเอ๋ย... โอกาสอย่างนี้หาไม่ได้อีกแล้วในชาตินี้
จากนี้ไปจะได้พิสูจน์ละว่า นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของป่าตองคนที่ชื่อ “ย่อย” เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ สายเลือดป่าตองแท้ๆ จะรักษาสภาพพื้นที่ป่าตองอย่างนี้ ให้อยู่ยั้งยืนยงได้อย่างไร?
ตัดภาพโฟกัสไปดูทางด้านท้องที่อื่น อย่างหาดสุรินทร์ กมลา กะตะ กะรน ต่อไปจนถึงหาดในยาง หาดในทอน ก็ได้อํานาจจาก คสช.ทวงคืนมาให้เกือบหมดแล้ว แม้จะยังไม่เต็ม 100 ก็ตาม
ต่อไป อยู่ที่เจ้าของพื้นที่ เทศบาล และ อบต.แต่ละแห่งจะต้องดูแลรักษาอย่างเข้มงวดเท่านั้น ทั้งประชาชนเองก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าสาธารณสมบัติของตนให้ดีด้วย อย่าให้ไอ้-อีหน้าไหนมายึดเอาไปอีก แต่เรื่องแท็กซี่ป้ายเขียว ป้ายดํา รวมทั้งรถจักรยานยนต์รับจ้าง เรียกค่าโดยสารแพงเกิน ยังคงมีแน่นอน รถแท็กซี่ป้ายเขียว หรือสองแถวราคาเช่าเหมาจาก บขส.ใหม่เข้าเมือง ข้าง กศน.ถนนดํารง หลังศาลากลาง 300 บาท แพงไหม? ถามกูรูผู้รู้หน่อยเหอะโดยเฉพาะ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าเฉพาะกิจฯ เรื่องนี้คํานวณหน่อย
ถ้าเหมาะสม ก็แล้วไป
การจัดระเบียบบ้านเมืองในพื้นที่ภูเก็ต ทั้งกวาดล้างผู้มีอิทธิพล การบุกรุกป่าอุทยานฯ บุกรุกหาด ที่หลวง ที่สาธารณะเป็นที่ประทับใจของประชาชนที่ได้พบเห็น และน่าจะได้เป็นโมเดลไปดําเนินการในพื้นที่อื่นต่อไป อีกหลายพื้นที่กําลังเพรียกหา ทั้งภาคตะวันออก บางแสน พัทยา และอีกหลายหาดแถวระยอง ตามเกาะแก่ง มาทางภาคใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี หัวหิน ประจวบฯ ชุมพร ยันสุราษฎร์ฯ สมุย และอื่นๆ ประชาชนต่างรอคอย “คสช.” ไปไถ่ถอนชายหาด และที่สาธารณะจากผู้มีอิทธิพลคืนทั้งนั้น
โดยเฉพาะโรงแรมห้าดาวติดหาด ล้วนยึดเป็นเจ้าของ
รีบๆ เข้าเถอะ บ้านเมืองจะได้เป็นระเบียบเรียบร้อย ปราศจากอิทธิพล นักเลงอันธพาล เหมือนยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ครองเมือง แล้วค่อยปล่อยให้เป็น “ประชาธิปไตย” กันใหม่ นอกจากการจัดระเบียบหาด ยังมีอีกหลายส่วนที่ไม่น่าหลงลืม
ลองชายตามองไปทางป่าชายเลนฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ตดูหน่อย ยังเหลือที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านทํามาหากิน
ให้กุ้งหอยปูปลาเข้ามาวางไข่ได้มากน้อยแค่ไหน?
“ระนอง” เริ่มนําทางทวงคืน
ที่ภูเก็ต มารีน่าทุนต่างชาติที่เอื้อโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฮุบไปมากน้อยแค่ไหน พื้นที่เลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ รวมทั้งหอยหวานตามธรรมชาติ ยังเหลืออยู่ หรือหมดไปแล้ว บางพื้นที่แถวป่าคลอก เคยถูกอิทธิพลยึดไปทําบ่อเลี้ยงกุ้งชนิดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ก็ทําได้แค่ไปยืนดู
สุดท้ายสังเวยด้วยชีวิตนักอนุรักษ์ปกป้องผืนป่าชายเลนบ้านป่าคลอก อ.ถลาง ภูเก็ต “จุรินทร์ ราชพล”
ถูกยิงตายเมื่อปี 2544 เป็นวีรบุรุษได้ไม่ทันข้ามขวบปี สังคมก็ลืมสนิท อนิจจา!
นอกจากนั้น ยังมี เรืออวนลาก อวนลุน อวนลอยตาถี่ เป็นเครื่องมือประมงที่ทําลายสัตว์น้ําหลากหลายชนิดมากที่สุด หอยก็หมด ปลาเล็กปลาน้อยไม่เหลือ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน อ่าวภูเก็ต พังงา กระบี่ ชาวประมงพื้นบ้าน หรือประมงจังหวัดนั้นคงไม่มีปัญญาไปไล่ล่า เพราะแต่ละลําใช้เครื่องความเร็วสูง ชนิดติดเทอร์โบ หนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่
ช่วงนี้หน้ามรสุม พวกเรืออวนอิทธิพลอาจจะหลบจําศีล
แต่ ณ วันนี้ กองทัพเรือน่าจะเป็นกําลังสําคัญที่จะต้องกําราบปราบปราม ฝั่งอันดามันกองเรือภาคที่ 3 โดยอํานาจ คสช.น่าจะมีศักยภาพ และสมรรถนะที่จะดําเนินการได้ นําร่องเป็นโมเดลให้ท้องที่อื่นหน่อยปะไร
ฝากถึง พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ ร.น. ผบช.กองเรือภาคที่ 3 ที่ยศ พล.ร.อ.ขึ้นพานรออยู่ เชื่อเถอะ ถ้าท่านสามารถเดินหน้าจัดระเบียบ ลากหัวผู้มีอิทธิพลระดับเจ้าพ่ออวนลากอวนรุน
หรืออวนลอยพวกนี้ได้สําเร็จ จะเป็นมหากุศลต่อท่านเอง
นักท่องเที่ยว นักดําน้ำจากทั่วโลก รวมทั้งชาวประมงพื้นบ้าน และลูกหลาน หรือแม้กระทั่งคนไทยทุกคนที่บริโภคสัตว์ทะเลเป็นอาหาร รวมทั้งธรรมชาติใต้ทะเลไทย จะต้องสรรเสริญท่านชั่วกัปชั่วกัลป์ ที่ได้อนุรักษ์อาหารทะเลไว้คู่คนไทย ก่อนที่จะสูญพันธุ์
จังหวัดชายทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และมีอาชีพทางการประมงที่ถูกกฎหมาย กําลังรอคอยครับ คอยทหารเรือไทยมากู้วิกฤตทะเลไทย ประมงไทย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒศัย ร.น.ผบ.ทร.หัวหน้าฝ่ายจิตวิทยา และสังคม คสช.ผู้ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม น่าจะอนุเคราะห์ได้