xs
xsm
sm
md
lg

หยุดรอและฟื้นฟูประเทศ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

หลังจากที่เขียนคอลัมน์เมื่อคราวที่แล้ว ซึ่งเขียนเรื่อง “กฎอัยการศึกคือทางสายกลาง” และส่งขึ้นเว็บ ก็ปรากฏว่า มีประกาศควบคุมอำนาจการปกครองขึ้นมาในช่วงเย็นของวันนั้น (22 พฤษภาคม 2557) เรียกว่า บทความล้าสมัยไปทันทีไม่กี่ชั่วโมงหลังจากออนไลน์! และจนมาถึงวันนี้ ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์พอดี

ตอนนั้นหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลเดิมก็ดีหรือฝ่ายตรงข้ามหรือแม้แต่ประชาชนก็ตาม ต่างก็คิดว่า การใช้กฎอัยการศึกแล้วคุยกันในเวทีกลางที่มีฝ่ายกองทัพเป็นกรรมการ น่าจะเป็น “ทางสายกลาง” ที่พอจะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการที่ลำบากต่อการอธิบายชาวโลกด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร

หากก็เหมือนกับว่า ทางสายกลางก็คงหายาก ดังที่ปรากฏข่าวออกมา วินาทีสำคัญก่อนการควบคุมอำนาจการปกครองนั้น ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังยืนยันว่า อย่างไรก็ไม่ลาออกเพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราว นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคู่ขัดแย้งนั้นไม่สามารถขยับกันมายืนตรงกลางได้เลย

แต่กระนั้น ก็เปล่าประโยชน์ที่จะมานั่งชี้นั่งโทษกันในตอนนี้ เพราะถึงอย่างไร สถานการณ์ก็ล่วงเลยมาถึงจุดที่เราต้องยอมรับกันแล้วว่า ทางแก้ไขปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังมาเกือบทศวรรษของประเทศไทย คงต้องใช้วิธีการนี้อีกครั้ง ซึ่งเหมือนการผ่าตัดใหญ่ เพื่อฟื้นฟูแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างเด็ดขาดจริงจัง

หากจะเปรียบเทียบประเทศเป็นบริษัทหรือองค์กรธุรกิจ ก็เหมือนการเข้าสู่โปรแกรมฟื้นฟูกิจการชั่วคราว ก่อนที่จะไปไม่ไหว การฟื้นฟูกิจการของบริษัท ก็คือการ “หยุด” ระบบการดำเนินการปกติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ฟื้นตัวก่อน ค่อยประกอบธุรกิจแบบเดิม กระทำการเดิมๆ ต่อ

เช่นการฟื้นฟูกิจการที่ต้องมีการขอพักชำระหนี้เพื่อเจรจาเฉลี่ยหนี้กันไป จำกัดอำนาจบริหารของกรรมการชุดเดิม ตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูและผู้บริหารแผนชุดใหม่มาฟื้นฟูกิจการ ปรับลดคน ตัดแผนกขายกิจการที่ไม่ทำกำไรหรือก่อปัญหา

การฟื้นฟูประเทศเองก็อาจจะต้องใช้วิธีที่ไม่แตกต่างจากกันนักกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการนี้ก็ได้

เช่นกระบวนการสภาแบบเดิม การเลือกตั้งแบบเดิมๆ ใช้อำนาจแบบเดิมๆ ก็คงต้อง “พัก” ไว้ชั่วคราวก่อน และให้กรรมการ “ทำแผน” ฟื้นฟูประเทศ และหาคนมา “บริหารแผน” ฟื้นฟูประเทศได้เสียก่อน

ส่วนกลไกอำนาจใดที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารหรือแก้ไขปัญหาของประเทศ ก็ยังเป็นไปตามเดิม เช่น อำนาจตุลาการก็ยังมีศาลอยู่ มีองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อยู่ รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่มีเพื่อควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ก็ยังคงจะต้องปฏิบัติถือตามอย่างเคร่งครัดตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้อนุมัติจากรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง มาเป็นผู้ที่ คสช.กำหนดให้รับผิดชอบดูแล

และในด้านของการสลายสีเสื้อ สลายความขัดแย้งที่ฝังแน่นมาเกือบสิบปีก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เห็นได้จากการที่มีคำสั่งเรียกให้ทั้งฝ่ายคู่ขัดแย้งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีและผู้มีตำแหน่งในรัฐบาลเดิม กลุ่ม กปปส. คปท. กปท.ที่เป็นฝ่ายคู่ขัดแย้งในขณะนั้น ฝ่ายเสื้อแดง นปช.ที่เหมือนมวลชนสนับสนุนรัฐบาล หรือแม้แต่ฝ่ายพันธมิตรฯ เดิมเข้ารายงานตัวเพื่อสลายพฤติกรรมและปรับทัศนคติ ก่อนจะปล่อยออกมาทั้งสองฝ่าย เช่นเมื่อวานนี้ (28 พ.ค.) กลุ่มแกนนำ นปช.กลุ่มใหญ่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว

หรือแม้แต่ฝ่ายนักวิชาการที่เหมือนจะเป็นผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายก็ถูกเรียกเข้าไปพูดคุยเพื่อได้ทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงร่วมกันเช่นกัน แต่เท่าที่ทราบ คือนักวิชาการของฝ่าย “เสื้อแดง” หลายคนไม่มารายงานตัว หรือมีข่าวลือว่าหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อจะเห็นว่า การเรียกตัวเข้าไปพูดคุยนี้กระทำทุกฝ่ายจริงๆ ส่วนใครที่มีหมายจับหรือมีคดีในกระบวนยุติธรรม ก็ดำเนินคดีกันไปตามกฎหมายที่ควรจะเป็น

มีการประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็มีการปรับเลื่อนเวลาเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกขึ้น ซึ่งยังเพียงพอต่อการระวังภัยและควบคุมสถานการณ์จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ ปรากฏผลว่าการโจมตีด้วยอาวุธสงครามจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในกรุงเทพมหานครก็หายไป และมีการจับกุมอาวุธสงครามและกองกำลังที่หลบซ่อนอยู่ได้เป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งจับกุมตัวผู้กระทำความผิดในช่วงที่ กปปส.ชุมนุมกันอยู่ได้ด้วย เช่น มือปืนที่กราดยิงเวที กปปส.จังหวัดตราด

ตอนนี้ฝ่ายคู่ขัดแย้งทั้งหลายเหมือนจะยอมรับได้ มีการลบชื่อหมู่บ้านเสื้อแดงออกไป แกนนำทุกฝ่ายยินดียุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเหลืออยู่บ้าง ก็เช่นการประท้วงต่อต้านรัฐประหารโดยคนบางกลุ่มยิบย่อยขาประจำ ทั้งฝ่ายเสื้อแดงบางส่วนที่ไม่ยอมแพ้ และคนกลุ่มที่ยึดถือการเลือกตั้งเป็นสรณะ

คงต้องยอมรับว่า แม้แต่ว่าการรัฐประหารนั้นจะเป็นวิธีการที่โลกไม่ยอมรับ หรือเหมือนกับเป็นวิธีการนอกกติกา แต่ถ้าทำใจยอมรับได้ว่าเป็นช่วงหยุดพักเพื่อแก้ไขปัญหา ดีกว่าปล่อยดำเนินการไปตามระบบเก่าๆ จนทุกอย่างพังพินาศหมดทางแก้ไข เช่นไหนจะดีกว่ากัน

ก็ขอฝากถึงคนที่มาร้องแต่จะเอาเลือกตั้งๆๆๆ ราวกับว่าเป็นสูตรสำเร็จประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้งคือสิ่งสำคัญคู่ประเทศ ขอให้ได้คิดบ้างว่า การมาทำแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากความพยายาม “ทวงหนี้” จากบริษัทที่ใกล้จะเจ๊ง สมมติคุณทวงหนี้ (หรือให้มีเลือกตั้ง) ไปได้สำเร็จ แต่ประเทศชาติเสียหายย่อยยับเพราะความขัดแย้งและการทุจริต คุณอาจจะไม่ได้เลือกตั้งอีกเลยตลอดกาล หรือประเทศอาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ต้องคอยทำประชามติกันว่าจะไปอยู่ใต้ร่มประเทศไหน เช่นในยูเครน

หรือเราควรอดทน “พักรอ” สักหน่อย เพื่อการ “ใช้สิทธิ” ของพลเมืองอย่างยั่งยืน เป็นธรรม ในประเทศไทยเดิมๆ ของเราเอง

อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น