xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ใช้ บก.ทบ.ศูนย์บริหาร ย้ำยึด กม. ตัดสื่อสารกลุ่มต้าน ไร้ข้อมูลปล่อย “ปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง และ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก(แฟ้มภาพ)
ทีมโฆษก คสช.ขอทุกภาคส่วนสบายใจได้ คสช.ยึด กม. หลังมีพระราชโองการฯ ผบ.ทบ.ขอความร่วมมือให้สงบยั่งยืน แบ่งบริหารราชการ 3 ส่วนอำนาจปลัด ก.ปกติ รมต.ต้องชงความเห็นต่อฝ่ายที่ตั้งขึ้น นายกฯ เสนอผ่าน หน.คสช. เร่งโครงการช่วย ปชช. ใช้ บก.ทบ.ศูนย์บริหาร ปัดเปลี่ยนเคอร์ฟิว ตัดช่องสื่อสารกลุ่มต้าน ชี้มีเคลื่อนเพื่อ ปชต.และแอบแฝง แจงทำตามเหตุ เบาไปหนัก กักตัวอยู่ที่พฤติกรรม ยังไม่มีข้อมูลปล่อย “ปู”

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่อาคารกำลังเอก สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. แถลงภายหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า หลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วจะทำทุกภาคส่วนได้สบายใจว่าสิ่งที่ คสช.ดำเนินการยึดโยงต่อกรอบกฎหมาย และประเพณีปฏิบัติของประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจน และขอความร่วมมือและกำลังใจจากประชาชนให้กับคนที่อาสาเข้ามาแก้ไขและนำพาประเทศเราไปสู่ความสงบอย่างยั่งยืน

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ได้ย้ำถึงระดับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. อำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับปลัดกระทรวง ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ 2. อำนาจหน้าที่ที่เป็นขอบเขตของรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ จะต้องเสนอเรื่องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายต่างๆ ที่ คสช.ตั้งขึ้น และ 3. อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะอยู่ในดุลพินิจของหัวหน้า คสช. นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน หากเป็นโครงการเร่งด่วน และเป็นโครงการพื้นฐานที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้เร่งดำเนินการ แต่หากโครงการใดจะต้องมีการแก้ไขหรือเป็นโครงการเริ่มใหม่จะต้องชะลอไว้ก่อน ส่วนโครงการที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศให้ดำเนินต่อไป ทั้งนี้จะใช้กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน เป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงว่า สำหรับกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนเวลาเคอร์ฟิวตั้งแต่ 22.00-05.00 น.นั้นยังขอให้ยึดถือที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีมาตรการใดเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีประกาศผ่อนปรนสำหรับธุรกิจบางประเภทไปบ้างแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง คสช.ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในส่วนของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารอย่างไร และมีความกังวลว่าจะขยายตัวหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนติดตามข่าวสารต่างๆนั้นได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งการกระทำผิดในลักษณะนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่ ยอมรับว่าในส่วนของข่าวลือต่างๆถือเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เบื้องต้นจะหามาตรการตัดช่องทางติดต่อสื่อสารก่อน เพราะมีความพยายามในการใช้ช่องทางสื่อสารในการยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ คสช.จะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ คสช.ยังไม่ได้ลดมาตรการใดๆลง ยังจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายความด้านมั่นคงสูงสุด และมีฐานความผิดต่างๆค่อนข้างจะรุนแรง จึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว

พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการตรวจพบความเคลื่อนของกลุ่มต่อต้านใน 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนเจตนาตามแนวทางประชาธิปไตย และอีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวอย่างมีนัยแอบแฝง เพื่อต้องการปลุกปั่นกลุกระดม โดยทั้งการกระทำของทั้ง 2 กลุ่มถือว่ามีความผิด แต่ลักษณะในการดำเนินการนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชากำลังพลที่รับผิดชอบจะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับมาตรการในการดำเนินการ เนื่องจากไม่อยากให้ต้องมีเหตุรุนแรง จะเริ่มจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่การเจรจา ตลอดจนไปถึงการห้ามปรามมิให้กระทำความผิด หากไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบสุขและดำเนินชีวิตร่วมกันตามปกติ

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านมีผลต่อการพิจารณาปรับลดมาตรการหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า น่าจะมีส่วนในการพิจารณา เพราะการออกมาตรการเคอร์ฟิวนั้นเพื่อต้องการรักษาความสงบ หากยังมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆอยู่ ก็เกรงว่าบรรยากาศจะเหมือนหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้กระบวนการบริหารประเทศเข้าสู่ภาวะปกติเป็นไปได้ยาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สามารถชี้แจงตัวเลขการควบคุมและการปล่อยผู้ที่เข้ารายงานตัวต่อ คสช.ได้หรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากมีการประกาศเพิ่มเป็นระยะ รวมทั้งมีการปล่อยตัวบุคคลบางรายไปบ้างแล้ว ซึ่งมาตรการควบคุมตัวนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ หากเข้ามารายงานตัวแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็อาจจะได้รับการปล่อยตัวทันที หรือหากมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งหรือมีทัศนคติที่ต่อต้านก็อาจจะต้องถูกควบคุมตัว ตามระยะเวลา 3-5 วันหรือมากที่สุด 7 วันตามกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีกระแสข่าวว่า ได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่มีข้อมูลดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น