หลังจากประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. การเมืองไทยทำท่าจะเป็นรัฐประหารครึ่งใบอยู่สองสามวัน และแล้วผบ.ทบ.ก็ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองวันที่ 22 พ.ค.2557 ในที่สุด การรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหารก็เกิดขึ้นจนได้ นับเป็นการรัฐประหารที่ยึดอำนาจได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นี่แค่ที่ทำรัฐประหารสำเร็จนะครับส่วนถ้านับรวมความพยายามทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ ก็จะรวมได้ 17 ครั้ง
ขอบันทึกการรัฐประหารที่ผ่านมาย่อๆเรียงตามลำดับไว้ตรงนี้นะครับ
1.รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2.รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
3.รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
4.รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5.รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6.รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
7.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
8.รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9.รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
10.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี
11.รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
12.รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
คนที่ผ่านเหตุการณ์การรัฐประหารมาหลายครั้งคงจะคุ้นชินกับภาพเดิมๆนะครับ สถานีโทรทัศน์วิทยุก็จะถูกสั่งงดรายการปกติ ชาวประชาต้องทนดูหน้าจอแช่ภาพชื่อการยึดอำนาจ เพื่อลิงค์สัญญานถ่ายทอดประกาศแถลงการณ์สลับกับการเปิดเพลงมาร์ชปลุกใจ ฟังกันจนมึนไปเลยละครับ
คราวนี้สร้างความแต่งต่างเอาไว้มากพอสมควร โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่แพร่ไปกว้างขวางรวดเร็ว มีทั้งข่าวจริงข่าวเท็จข่าวปลอม อย่าได้หูเบาหลงเชื่อข่าวลวงข่าวหลอกเป็นอันขาดครับ เหตุการณ์คราวนี้คงทำให้ชาวเน็ตทั้งหลายได้ประสบการณ์ในการรับข้อมูลข่าวสารว่า เชื่อถือในทันทีไม่ได้ ต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้และตรวจสอบก่อนเสมอ
ย้อนกลับไปวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาวันนั้นตอนแรกพวกเราก็มีภารกิจที่ต้องไปยื่นหนังสือที่สโมสรกองทัพบกแต่เช้า แต่ก็ต้องเลื่อนมายื่นช่วงบ่าย จากทีแรกจะไปกันตั้งแต่ 10 โมง แต่เลื่อนมาเป็นช่วงบ่ายโมงแทน คงได้อ่านกันไปในข่าวแล้วนะครับไม่ต้องลงรายละเอียด
ที่หยิบเรื่องนี้มาพูด เพราะสองครั้งที่ผมได้มีส่วนในการไปยื่นหนังสือให้ทหาร ก็ดันเกิดการรัฐประหารขึ้นทั้งสองครั้ง ชีวิตเรามีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจริงๆ ตอนรัฐประหาร 19 กันยา ผมจำได้ว่าตอนนั้นก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าไปยื่นหนังสือให้พลเอกสนธิ แต่ไม่ได้พบพลเอกสนธิ เพราะทางทหารอ้างว่า พลเอกสนธิลงใต้ไปดูการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดน และสุดท้ายคืนนั้นก็เกิดการรัฐประหารจากรัฐบาลทักษิณ
โดยก่อนหน้านั้นก็มีแววเรื่องของการปะทะกันของมวลชนเหมือนกับการรัฐประหารในครั้งนี้ที่มีแนวโน้มด้านความรุนแรงว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ในความเหมือนมีความต่างรัฐประหารรอบนี้ก็มีอะไรใหม่ๆเยอะเหมือนกันในความคิดผม สิ่งแรกที่แตกต่างออกไปคือมีการใช้อัยการศึกก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยไกล่เกลี่ยกันเพื่อหาทางออกของประเทศ แม้สุดท้ายมันจะไม่ได้ผลก็ตาม และเราก็หนีการรัฐประหารไปไม่ได้
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการเอารถถังหรือรถติดอาวุธออกมาวิ่งบนถนน ไม่มีการเอารถถังไปประจำตามจุดสำคัญๆต่างๆ มีเพียงรถฮัมวี่หรือรถบรรทุกขนทหารเท่านั้นที่ไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็ดีเหมือนกันรเพราะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ดูไม่มีความรุนแรง
การออกแถลงการณ์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากคราวก่อนไปจากคราวก่อนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดหายไปของเสียงผู้อ่านประกาศอย่างพล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค มานั่งอ่านแถลงการณ์ประโยคฮิตติดปากตอนลงท้ายที่ว่า"โปรดฟังอีกครั้ง" ก็เป็นอะไรที่หายไป ผมทราบว่าว่าท่านพล.ต.ประพาศ อายุมากแล้วใกล้แปดสิบแล้ว ผมยอมรับเลยว่าสำหรับผมเสียงท่านเวลาอ่านแถลงการณ์นั้นยังคงดังอยู่ในหัวผมเรื่อยมา
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ยังได้ออกมาขอความรวมมือจากสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ให้สร้างความแตกแยก ห้ามประชาชนโพสต์ข้อความเข้าข่ายมีความผิด เพื่อความปลอดภัย ก็ต้องระมัดระวังการแชร์ข้อมูลต่างๆหรือถ้อยคำในการโพสต์กันนะครับ
การรัฐประหารคราวนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศของประชาชนได้สำเร็จหรือไม่ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง จะสามารถแก้วิกฤตของชาติได้หรือไม่ แก้ปัญหาการคอรัปชั่นของนักการเมืองได้หรือไม่ แก้ปัญหาระบอบเผด็จการรัฐสภาของพรรคการเมืองนายทุนสามานย์ได้หรือไม่ รื้อถอนระบอบทักษิณได้สำเร็จหรือไม่ ถ้าแก้ปัญหาทั้งหลายนี้ไม่ได้ จะซ้ำรอยเป็นรัฐประหารเสียของ อย่างรัฐประหารของพล.อ.สนธิ เมื่อปี 2549 ต้องติดตามดูกันต่อไปละครับ
ที่สำคัญผมว่าเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศคราวนี้ต้องชัดเจน การแก้ปัญหาคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการไทยต้องแก้ลงไปขุดถึงรากลึกทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เพราะมันกลายเป็นวัฒนธรรมการเมือง เป็นมะเร็งร้ายทำลายประเทศชาติ งานนี้ต้องใช้ยาแรงทั้งผ่าตัด คีโมฉายแสงช่วยชีวิต รวมทั้งต้องรักษาระยะยาวปลูกฝังศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระบบการศึกษาและเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่
การเมืองที่ท่องบทการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกนอก เนื้อแท้เป็นเผด็จการรัฐสภาของพรรคการเมืองนายทุนสามานย์ ต้องแก้ไขกฎกติกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญบางมาตรา และยังต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เป็นผลจากนโยบายประชานิยม ก่อหนี้สินแก่ประชาชนและประเทศชาติมหาศาล
เป้าหมายที่ชัดเจนและวิธีการขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศคราวนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ผมเชื่อว่าได้เสียสละลงเรี่ยวแรงในการเคลื่อนไหวต่อสู้กันมาอย่างอดทน ต้องจับตามอง ไม่ยอมให้เสียของ
รัฐประหารเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นได้จริงและสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ประชาชนครับ