เมื่อก่อนเวลานักการเมืองตั้งรัฐบาลจะจัดกระทรวงเกรดต่างๆ มหาดไทยจะเป็นกระทรวงอันดับหนึ่งระดับเลขาธิการพรรคมานั่ง แสดงถึงบทบาทบารมีของนักการเมืองคนนั้นว่าเป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง อำนาจบารมีล้นพ้น แต่พอมาปัจจุบันกระทรวงที่นักการเมืองใฝ่ฝันลำดับต้นกลับเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจลงทุนก่อสร้างเพราะร่ำรวยกว่า เช่น คมนาคม พลังงาน หรือพาณิชย์ทำจำนำข้าวรอบเดียวรวยขึ้นร้อยล้านสบายๆ
มหาดไทยปัจจุบันแม้ยังยิ่งใหญ่อยู่แต่ใหญ่น้อยลงกว่าเดิม
ปัจจัยแรกอำนาจทางเศรษฐกิจกลายเป็นอำนาจหลักเหนืออำนาจการเมืองไปแล้ว มีเงินซะอย่างสั่งใช้อำมาตย์ราชการเรียกผีโม่แป้งได้หมดไม่ต้องมีการยับยั้งชั่งใจเหนียมอายอยู่บ้างเหมือนสมัยก่อน
ปัจจัยที่สอง กระทรวงเล็กลงอำนาจปกครองของตัวมันเองก็ถูกแบ่งลงจากการปฏิรูประบบราชการใหม่สมัยทักษิณ
ปัจจัยที่สาม การขยายตัวเติบโตขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ 2540 (ต่อเนื่องมา 2550) กำหนด ในส่วนนี้มหาดไทยและอำนาจรัฐส่วนกลางพยายามจะยื้อแสดงใช้เล่ห์กลครอบงำ ซึ่งก็กำลังต่อสู้กันอยู่
ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงอะไรที่เคยใหญ่ก็หดเล็ก อะไรที่เคยเป็นเรื่องเป็นราวเป็นหลักมั่นคงก็อ่อนเหลวปวกเปียก..ใกล้เคียงกับเละเทะ เห็นภาพนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ มท.1 ยืนบนรถขยายเสียงนำม็อบกำนันผู้ใหญ่บ้านทวงคืนกระทรวงคืนจากผู้ชุมนุมแล้วคำว่า เหลวเป๋ว เละเทะ เลอะเทอะ ไม่เข้าท่า น่าสมเพช ยิ่งฉายชัดขึ้นมา
นับแต่ยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ปฏิรูประบบราชการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง อำนาจรัฐก็คืออำนาจปกครองและอำนาจป้องกัน แบ่งหน้าที่ระหว่างกลาโหมกับมหาดไทย
ในส่วนของมหาดไทยมีการแบ่งพื้นที่เป็นจังหวัด มณฑลมีการตั้งผู้ปกครองลงไปถึงระดับอำเภอ และมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นมือไม้แขนขาลึกลงไปถึงหมู่บ้าน บรรดากิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในแผ่นดินแทบจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมดนับแต่เกิดจนตาย
จนเปลี่ยนการปกครอง เมื่อมีการเลือกตั้งมหาดไทยก็เป็นกลไกสำคัญของอำนาจการเมือง นั่นเพราะมหาดไทยไปเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เกี่ยวกับการสั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านให้บอกลูกบ้านไปเลือกใคร
สำหรับนักการเมืองการมีอำนาจในมหาดไทยคืออำนาจที่สั่งการลงไปถึงระดับตำบลหมู่บ้าน จัดการที่ดิน ทรัพยากรในพื้นที่ แม้กระทั่งถนนหนทางผ่านกรมโยธาธิการ (ไม่ใช่คมนาคม) ชี้นิ้วว่าแหล่งน้ำควรจะตั้งตรงหมู่บ้านนั้น (แม้งบจะมาจากกระทรวงอื่น) ต้องการประชาชนมายกป้ายเชียร์ ยกป้ายค้าน แสดงพลังอะไรสามารถสั่งได้แค่กระดิกนิ้ว
แต่มหาดไทยยุคปัจจุบันไม่เหมือนเดิมเพราะการเติบโตขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับชาวบ้านโดยตรงมาแย่งพื้นที่ “ปกครอง” มหาดไทยจึงต้องให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ไปจนเกษียณเพราะได้แยกระบบกันไปเลยระหว่าง ราชการส่วนกลาง+ภูมิภาค กับ ราชการส่วนท้องถิ่น โดยกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ให้ขึ้นกับนายอำเภอเปรียบเหมือนมีกลไกในระดับหมู่บ้านไว้คอยใช้งาน
วันดีคืนดีก็ระดมพลมาม็อบหนุนราชการและฝ่ายการเมืองอย่างที่เห็นเพราะถือว่าเป็นคนในสังกัด
ไปเจอเอกสารนัดหมายชุมนุมของกำนันผู้ใหญ่บ้านทวงคืนกระทรวงในเฟซบุ้ค น่าสนใจเพราะมันเปิดเปลือยวิธีคิดของคนมหาดไทยซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด
เอกสารนัดแนะให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประกาศไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงและยุบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกไป
สิ่งที่ซ่อนอยู่ตรงบรรทัดนี้บ่งบอกว่า คนมหาดไทยหวั่นไหวกับกระแสปฏิรูปกระจายอำนาจอย่างชัดเจน
หลายปีมานี้กระทรวงมหาดไทยพยายามสร้างกลไกไม่ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นหลุดไปจากอำนาจตน มีข้ออ้างมากมายในการกำกับเช่นกลัวจะโกง (ซึ่งก็โกงจริงทุกระดับตั้งแต่ตำบลถึงทำเนียบ ผู้ว่าเองก็โกง) ไปจนถึงการไม่ถ่ายโอนอำนาจไปให้
ทำไมนักการเมืองและมหาดไทยยังสามารถสั่งการซ้ายขวา อบต. อบจ. เทศบาลฯ (โดยเฉพาะอบต.) ได้อยู่ ทั้งๆ ที่ผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับนายอำเภอผู้ว่าฯ เลยนี่หว่า?
นั่นก็เพราะว่า มหาดไทยยังหวงอำนาจการงบประมาณสำคัญที่เรียกว่างบอุดหนุนพิเศษที่แต่ละปีมียอดหลายแสนล้านบาทเอาไว้ เงินตัวนี้สำคัญมากต่อท้องถิ่นเพราะลำพังเงินรายได้มีใช้แทบไม่พอ จ่ายเงินเดือนและงานธุรการก็แทบไม่เหลือไปพัฒนาอะไร ดังนั้นจะต้องรอการอุดหนุน งบประมาณตัวนี้แหละที่นักการเมืองและมหาดไทยเอาไว้ใช้ “จูงจมูก” ถ้าไม่เป็นพวก ไม่ทำตามที่ร้องขอ ก็หาเรื่องไม่ให้งบซะอย่างงั้น
การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือ โอนเงินไปให้ท้องถิ่นโดยตรงไม่ต้องให้พวกมหาดไทยกรมส่งเสริมฯ และผู้ว่าฯ มาเกี่ยวข้อง ...
ท้องถิ่นก็จะเป็นอิสระ ดำเนินงานตามที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ โดยมีองค์กรตรวจสอบการใช้เงินอิสระอื่นๆ เช่นสตง. หรือ ปปช. ปปท. หรืออาจจะให้กรมส่งเสริมฯ ตั้งหน่วยตรวจสอบเพิ่มก็ได้
ยิ่งมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขึ้นมาเอง นักการเมืองกับมหาดไทยก็แทบไม่เหลืออะไรอีกแล้ว
กลายเป็นการกระจายอำนาจขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่แบบปลอมๆ วัดครึ่งกรรมการครึ่ง มหาดไทยไม่สามารถแอบควบคุมองค์กรท้องถิ่นแบบเนียนๆ ผ่านงบอุดหนุนชนิดต่างๆ ได้ต่อไป
อย่าลืมนะครับอำนาจมหาดไทยแต่ดั้งเดิมอยู่ที่อำนาจการปกครอง อยู่ที่พื้นที่จังหวัดอำเภอ และอยู่ที่กลไกเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง
อำนาจและประโยชน์ต่างๆ ของมหาดไทยอยู่ที่จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด หากกระจายอำนาจเต็มรูปจริง มหาดไทยก็ไม่เหลืออะไรแล้ว มท.1 หงอยเป็ดเลย เจ๊ต่างๆ ที่มีคนคอยเอาเงินประเคน 5 ล้าน 10 ล้านจากการแต่งตั้งผู้ว่ารองผู้ว่านั่งตบยุงกันล่ะทีนี้
ยุคนี้เป็นยุคที่มหาดไทยมีอำนาจบารมีลดลงๆๆ....หลายสิ่งหลายอย่างเลอะเทอะขึ้นๆ สวนทาง อย่างเช่นเจ้ากระทรวงที่เคยเป็นนักปกครองเป็นผู้ดี ก็เปลี่ยนมาเป็นพวกเอะทะมะเทิ่งวาจาก้าวร้าวกระโชกโฮกฮากเหมือนคนไม่มีสกุล.