ศูนย์ข่าวศรีราชา- เมืองพัทยาเรียกประชุม 42 ชุมชนเข้ารับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่ หวังบูรณาการความคิดปรับแผนแม่บทระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมเมืองพัทยา หลังจ้างผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวกว่า 20 ปี เผยตั้งงบรองรับกว่า 1 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (1 พ.ค. 57) นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนชุมชนทั้ง 42 ชุมชนในเขตพื้นที่เมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ได้รับการว่าจ้างจากเมืองพัทยาให้เข้ามาทำการศึกษา สำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมเมืองพัทยา ที่จะสามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมขังได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลา 20 ปี
ปัจจุบันแผนดังกล่าวได้มีการดำเนินการจนแล้วเสร็จ ก่อนจะนำมาหารือร่วมกับชุมชนเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะก่อนนำไปปรับแก้ให้เกิดความสมบูรณ์สูงสุด ก่อนจัดสรรงบประมาณลงไปจัดทำตามแผนงาน ซึ่งถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 4
นายอิทธิพล เปิดเผยว่า เมืองพัทยาให้ความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันแบรรเทาปัญหาวิกฤตของน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ที่จะสามารถนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติด้านการป้อง กันน้ำท่วม การระบายน้ำ รวมทั้งการบูรณาการงานพัฒนาแหล่งน้ำ และน้ำเสียเข้าด้วยกัน
อีกทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเมืองพัทยา เสริมภาพลักษณ์ด้านการท่อง เที่ยว การคมนาคม ตลอดจนการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนเมืองพัทยา
สำหรับโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทระบบระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เมืองพัทยานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม ร่วมกับการทบทวนแผนงานหรือมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่บรรจุอยู่ในแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กลางและยาว
ในส่วนของเมืองพัทยา ปัจจุบันมีท่อระบายน้ำครอบคลุมอยู่ร้อยละ 75 ของพื้นที่ มีคลองระบายน้ำธรรมชาติ 6 แห่ง ได้แก่ คลองนาเกลือ หนองใหญ่ นกยาง เสื้อแผ้ว พัทยาใต้ และกระทิงลาย แต่พบว่าคลองเหล่านี้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้ ขณะที่ความสามารถในการระบายน้ำนั้นก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากปัญหาท่อขนาดเล็ก หรือการต่อเชื่อมที่ยังไม่เป็นระบบ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องของน้ำหลากที่มาจากฝั่งตะวันออกของเมืองพัทยาที่มีการพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาน้ำหลากได้
จึงสรุปได้ว่าเมืองพัทยามีปัญหาน้ำท่วมมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณฝนที่ตกเกินกว่าระบบระบายน้ำจะสามารถรับไว้ได้ ปัญหาปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่หนองปรือ เขาน้อย เขาตาโล และสุด ท้ายกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงในบางช่วงเวลาทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลเกิดปัญหา
ทั้งนี้ การออกแบบแนวทางเลือกขั้นต้นได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามสาเหตุของปัญหา โดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ ซึ่งสามารถสรุปแนวทางเลือกของระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เมืองพัทยาได้ 3 แนวทางเลือก คือ 1. การก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อระบายน้ำ พร้อมสถานีสูบ 2. การก่อสร้างระบบเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำเลียบทางรถไฟ และ 3. การก่อสร้างพื้นที่เก็บน้ำแก้มลิง
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่าจากการศึกษา สำรวจและออกแบบ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนของคณะศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปัจจุบันแผนแม่บทระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมเมืองพัทยาจึงใกล้แล้วเสร็จ โดยมีการเสนอโครงการและทางเลือกในการจัดสรรงบประมาณมาลงทุนในการพัฒนาระบบอย่างเป็นรูปธรรม
ประกอบด้วย 1. แผนโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อระบายน้ำในพื้นที่เมืองพัทยาซึ่งแบ่งออกเป็น 9 โซน พร้อมสถานีสูบน้ำ 4 แห่ง ในงบประมาณ 7,794 ล้านบาท 2. แผนโครงการก่อสร้างระบบเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำเลียบทางรถไฟ เพื่อลดภาระปัญหาน้ำหลากจากทิศตะวันออกไหลเข้าสู่เมืองพัทยา โดยการจัดทำบ่อพัก ท่อระบายน้ำ และสถานีสูบเพื่อส่งน้ำไปลงยังคลองธรรมชาติ ในงบประมาณ 400 ล้านบาท และ 3. โครงการก่อสร้างพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำภายในซอยวัดบุญสัมพันธ์จำนวน 165 ไร่ ในงบประมาณ 1,973 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการตามแผนดังกล่าวก็จะสามารถรองรับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลา 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่ต้องนำมาพัฒนาเป็นจำนวนมาก จึงมีการกระจายแผนตามความต้องการเร่งด่วนในแต่ละปี โดยในปี 2558 นี้เมืองพัทยามีแผนในการจัดสรรงบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ในการพัฒนาจุดระบายน้ำหลักที่ไหลออกสู่ทะเลให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การวางท่อระบายน้ำบนถนนพัทยาสายสอง และการได้รับงบอุดหนุนจากกรมโยธาธิการจำนวน 550 ล้านบาท ในการพัฒนาคลองปึกพลับ และโครงการบริเวณถนนเลียบทางรถไฟ