xs
xsm
sm
md
lg

โชคดีที่รัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เหมือนหลายคนจะลืมไปว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่เพิ่งผ่านมา คือวันที่ 30 มีนาคม มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ทั่วประเทศ

กกต.สรุปตัวเลขคร่าวๆ ว่า มีผู้มาใช้สิทธิรวมทั้งสิ้น 42.52% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ถือว่าน้อย เทียบเท่าการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 กุมภา ทั้งๆ ที่ในการเลือกตั้ง ส.ว.ไม่มีความวุ่นวายใดๆ แต่ความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนก็ลดลง

คล้ายเป็นเพราะรู้สึกว่า ในเวลานี้มีความไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะมีผลจริงไหม หรือจะตั้งสภาฯ กันอย่างไร ในเมื่อ ส.ส.ก็ยังมองไม่เห็นท่าว่าจะสามารถเลือกมาเติมสภาฯ ให้ครบประกอบเป็น “รัฐสภา” ได้ เพราะทางรัฐบาลก็ยังอุบไต๋ว่า จะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งใหม่หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ละลงหรือเปล่า และทาง กปปส.จะว่าอย่างไร

และอาจจะเพราะผู้สมัคร ส.ว.เด่นๆ ก็เหมือนจะไม่มีมากนัก เพราะต่างคนอาจจะต่างรอประเมินสถานการณ์ เช่น ผู้สมัคร ส.ว. กทม. ที่เป็นที่รู้จัก ก็มีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่ได้เป็นว่าที่ ส.ว. โดยชนะขาดคนที่ได้ที่สองถึงเท่าตัว

คนอื่นๆ ที่พอจะคุ้นชื่อกันบ้าง ก็มี คุณศรีสุวรรณ จรรยา กับ ลีนา จัง ซึ่งเมื่อดูรายชื่อผู้สมัครครบๆ แล้ว ใครก็คิดว่าคุณหญิงจารุวรรณคงนอนมาแบบไม่ต้องลุ้นเท่าไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองกวาดตาไปดูว่าที่ ส.ว.จากทั่วประเทศ ก็เห็นได้ชัดว่า ในที่สุดแล้ว การเลือก ส.ว.ก็ไม่ต่างจาก “ส.ส. สภาฯ ที่สอง” เท่าไรนัก

ผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ว.ในหลายจังหวัด นามสกุลเดียวกันกับ ส.ส.อันนี้ไม่เฉพาะแต่สายเพื่อไทย หากทางประชาธิปัตย์ก็ยังมี

แม้รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะล็อกคุณสมบัติไว้ในมาตรา 115 (5) ว่า ส.ว.นั้น “จะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

แต่กระนั้น พอลงไปชั้น “เครือญาติ” ของนักการเมืองนั้นก็คงจะห้ามกันไม่ได้ เพราะก็ถือว่าแค่ไม่เป็นพ่อแม่ลูกเมียกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วก็นับได้ว่าห่างไกลกันพอประมาณแล้ว ถึงขนาดจะห้ามญาติด้วยนั้นก็เกินไป

หรือถึงแม้จะไม่ใช่ญาติพี่น้องของนักการเมืองโดยตรง แต่ ส.ว.ในหลายจังหวัด ก็พอจะเห็นชัดว่า ใครมาจากไหน เป็นคนของใคร ใครส่งเข้าประกวด

เช่น นางอาภรณ์ สาราคำ ว่าที่ ส.ว.อุดรธานีก็เป็นภรรยาของนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์เป็นที่รู้จักกันดี

ในขณะที่ “วุฒิสภา” นั้นถูกวางไว้เป็น “สภาสูง” ซึ่งเป็นสภาฯ กลั่นกรอง สภาฯ ตรวจสอบ และสภาฯ สรรหา แต่ “ตัวคน” ที่เข้าสู่วุฒิสภานั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร หรือ “สภาล่าง” เลย

ทำให้นึกย้อนไปถึงตอนที่พรรคเพื่อไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.นี้ ในปีที่แล้ว ด้วยวิธีรีบเร่งไม่ชอบธรรมและมีการหมกเม็ด เช่น การยัดเอาญัตติเถื่อนที่ไม่มีผู้รับรองเข้าประชุม การเสียบบัตรแทนกันอย่างย่ามใจ การแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเกินกว่าที่รับหลักการไว้ จนในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. เป็นโมฆะ

หากใครได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับเลือกตั้ง ส.ว.เต็มสภาฯ ดู คงจะขวัญผวา เมื่อมานึกเปรียบเทียบภาพของว่าที่ ส.ว.เลือกตั้งในภาพรวมทั่วประเทศ

นั่นคือ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แท้งไปนั้น มีการ “ปลดล็อก” เรื่องห้าม ส.ว.เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยตัดข้อ (5) ของมาตรา 115 ไปทั้งหมดเลย

เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่า หากปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ออกมา ก็จะเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง กลับไปใช้ระบบสภาผัวเมีย” เหมือนช่วงก่อนที่รัฐธรรมนูญ 40 จะล่มสลายเพราะสภาฯ ถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณ

เป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ 50 พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 40 ด้วยการกำหนดให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งครึ่งสภาฯ สรรหาแบบครึ่งสภาฯ และก็ล็อกคุณสมบัติของ ส.ว.ที่ว่าด้วย เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของสภาผัวเมีย

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งให้เลือกตั้ง ส.ว.เต็มสภาฯ ก็ดี หรือการถอดเอาล็อกเรื่องสภาผัวเมียมาก็ตาม จึงเป็นอย่างที่ศาลท่านว่า คือ “ถอยหลังเข้าคลอง” จริงๆ คือกลับไปใช้ข้อผิดพลาดเดิมๆ โดยไม่รู้จักสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผิดพลาดแล้วแก้ไข

อันเป็นสิ่งที่นักประชาธิปไตยแบบที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือที่สุดแล้วแห่งความชอบธรรมลืมคิดไป

ว่าการได้ครอบครองวุฒสภานั้นเป็นการ “ทำลายเขื่อน” ด่านสุดท้ายที่ปิดกั้นการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายรัฐบาลได้

เพราะอำนาจหน้าที่หลักของวุฒิสภา คือสภากลั่นกรอง ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งถ้าสามารถครองวุฒิสภาได้สมบูรณ์แบบ การผ่านกฎหมายก็จะง่ายดาย เรียกว่าสภาผู้แทนว่าไง วุฒิสภาว่างั้น ซึ่งถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่ใช่ระบบเลือกตั้งเต็มสภาฯ ก็ตาม แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า วุฒิสายที่เออออกับฝ่ายการเมือง ก็ทำงานแบบ “สั่งเช้า – ได้เย็น” จริงๆ ใครยังจำข่าวช่วงที่มีปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคงนึกออก ว่าพอนายกฯ สั่งถอย วุฒิบางกลุ่มก็รับถอยคว่ำร่างให้ทันที

และอำนาจหน้าที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประสงค์จะได้อำนาจเบ็ดเสร็จต้องยึดวุฒิสภาให้ได้อีกประการ คือ อำนาจในการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 270 ซึ่งถ้าวุฒิสภากับผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเป็น “พวก” กันแล้ว แม้จะมีมติจาก ป.ป.ช.สรุปรายงานมาว่าข้อกล่าวหาถอดถอนเรื่องทุจริตมีมูลแค่ไหน แต่ก็อาจจะ “จบ” ที่วุฒิสภาไม่ถอดถอนก็ได้ หากวุฒิสภาสามารถ “คุย” ได้

หรืออำนาจสำคัญอีกอย่าง คือการให้ความเห็นชอบการเข้าดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งถ้ายังจำได้ ในสมัยปลายยุคทักษิณก่อนถูกรัฐประหาร 19 กันยา มีการสรรหา กกต. หรือ ป.ป.ช.อย่างไร แต่สุดท้ายคนที่เป็น “ตัวเก็ง” อย่าง คุณกล้านรงค์ จันทิก หรือนาม ยิ้มแย้ม ก็มาตกในชั้นวุฒิสภานี้เหมือนกัน ด้วยเหตุขัดใจระบอบทักษิณ

เมื่อเห็นได้แล้วว่า วุฒิสภาสำคัญแค่ไหน ก็คงรู้สึกโชคดีว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา แม้จะได้ ส.ว.บางส่วนดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจมาอย่างไรบ้าง แต่ก็ดีกว่าต้องเลือกตั้งเต็มสภาฯ ในแบบไม่มีข้อห้ามเรื่องสภาผัวเมีย หากรัฐธรรมนูญฉบับเสียบบัตรยัดมติผ่านออกมาใช้บังคับได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น