xs
xsm
sm
md
lg

จัดการรัฐบาลผู้ไร้ความสามารถ คงต้องหวังพึ่งบารมีศาล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เป็นอีกครั้งแล้วที่ศาลมีคำพิพากษาไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลในระบอบทักษิณ นั่นคือคดีที่คุณถวิล เปลี่ยนศรี ไปฟ้องศาลปกครอง ในคดีที่โดนโยกย้ายตำแหน่งจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน

โดยศาลปกครองพิพากษาว่า กระบวนการโอนย้ายนายถวิลไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผล ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งโอนย้ายดังกล่าว และศาลยังสั่งให้นายกรัฐมนตรีคืนตำแหน่งเดิมให้คุณถวิลภายใน 45 วัน

แน่นอนว่ารัฐบาลก็ยังอุตส่าห์เล่นแง่ต่ออีกว่า การคืนตำแหน่งให้คุณถวิลนั้นอาจจะทำไม่ได้ใน 45 วัน ต้องศึกษาขั้นตอนดูก่อน แต่เวลาที่ศาลให้ไว้ 45 วันนี่คือเวลาเดือนครึ่ง กะอีแค่การพิจารณาให้คนกลับเข้ารับตำแหน่งเดิมเดือนครึ่งไม่พอ นี่ถ้าเป็นบริษัทเอกชน บริหารกันแบบนี้คงโดนไล่ออกกันยกกระบิ

นอกจากนี้ฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล ยังพยายามที่จะออกมาตั้งคำถามกับศาลว่า ทำอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะบริหารงานข้าราชการอย่างไร ถ้าย้ายไม่ได้ ปรับตำแหน่งไม่ได้ พยายามสร้างภาพว่า “ศาลเข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาล” โดยไม่สนใจว่า จริงๆ นับตั้งแต่การมีศาลปกครองขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนทักษิณเป็นนายกฯ ครั้งแรกด้วยซ้ำ ระบบการโยกย้ายข้าราชการนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมาย และต้องมีระบบคุณธรรม เพราะข้าราชการที่ไม่พอใจในการโยกย้ายสามารถฟ้องศาลปกครองได้ ซึ่งมีทุกระดับ แต่ละปีก็มีคำพิพากษาเพิกถอนการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมออกมา เพียงแต่เป็นเรื่องส่วนตัวของหน่วยงานกับคนโยกย้าย เลยไม่เป็นข่าว ส่วนกรณีคุณถวิลนี้ เป็นเรื่องของคนตำแหน่งใหญ่ ทั้งคนสั่งย้าย และคนถูกย้ายเลยเสียงดัง

เอาเป็นว่า เดี๋ยวนี้มันหมดยุค “ไม่พอใจ ส่งเข้ากรุไปตบยุง” แล้ว เพราะการจะโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการประจำ จะต้องมีกระบวนการ มีขั้นมีตอนตามกฎหมาย และมีเหตุผลที่ฟังได้ ตามหลักคุณธรรมด้วย

แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อไรที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ขัดใจ ก็เป็นธรรมดาที่คนในเครือข่ายจะต้องตีปี๊บ ดิสเครดิตศาล พยายามผลักศาลให้ไปอยู่กับคู่ขัดแย้งอีกขั้วหนึ่ง ส่วนถ้าศาลตัดสินแล้วพอใจ เช่น ไม่เพิกถอนหมายจับแกนนำ กปปส.ก็เงียบๆ ไว้ เพราะตัวได้ประโยชน์

หรือเร็วๆ นี้ ในวันพุธที่ 12 มีนาคม จะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา กฎหมายหนี้ข้ามชาติ เงินกู้สองล้านล้านบาทที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้ว เพราะกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินมาก่อนได้ แล้วค่อยหาโครงการมาเบิกเงินไป ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นข้อดีที่จะได้บริหารเงินทำโครงการใหญ่ได้สะดวก แต่ในอีกทางหนึ่ง เรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากการออกปึกเช็คเปล่าที่ลงนามแล้วพร้อมวงเงินสองล้านล้านบาท ยัดใส่ในมือรัฐบาลที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไร

จึงมีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกคำตัดสินมาว่า กฎหมายลักษณะเซ็นเช็คเปล่าเช่นนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อระบบการเงินการคลังของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

หากเป็นเช่นนั้น บรรดานักกฎหมายแนวร่วมของรัฐบาล ทั้งที่มีตำแหน่งและอยากมีตำแหน่ง เช่น นักวิชาการอิสระต่างๆ ก็คงออกมาด่าศาลเหมือนที่มีการนำร่องไปบ้างแล้ว ด้วยวาทกรรมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญเรียกหมูเป็นหมา ก็ต้องยอมรับ”

การที่ต้องออกมาอัดศาลไว้ก่อน แบบตีปลาหน้าไซ นั่นเพราะรัฐบาลรู้ดีว่า ผู้เดียวที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายการอยู่รอดของตัวเอง ก็คือ “ศาล”

เพราะทั้งนี้ แม้จะอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ย หรือเป็นรัฐบาลล้มเหลวเพียงไร หากศาลยังไม่มีคำสั่งประการใดออกมา ก็ถือว่ายังอ้างความชอบธรรมเป็นรัฐบาลรักษาการเกาะเก้าอี้เหนียวๆ ต่อไปได้

อุปมาก็เหมือนคนเสียสติ ไร้ความสามารถ ที่คนเห็นกันทั้งตลาดว่า หมอนี่บ้าแน่ แต่ถ้าศาลไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็ไม่มีใครไปจัดการอะไรให้ได้ เช่นนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลนี้ถึงจะหมดสภาพจนคนส่ายหน้าในทางความเป็นจริง แต่ถ้าไม่มีคำสั่งศาล ผู้มีหน้าที่ชี้ขาดสถานะทางกฎหมายแล้ว ก็ยังอ้างความชอบธรรม “ตามกฎหมาย” อยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็มีคดีไปรออยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญสองเรื่องแล้ว ที่ร้องผ่าน กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้ชี้ว่า การเลือกตั้ง 2 กุมภา ที่พยายามลากถูกังเลือกจนลงคะแนนกันไปได้ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิด เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลนั้นจะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะดำเนินการมาครบเดือนจนถึงตอนนี้แล้ว ก็ยังไม่สามารถประกาศ ส.ส.ได้แม้แต่คนเดียว และหลายเขตก็ยังไม่ได้ลงคะแนน หรือไม่มีแม้แต่ผู้สมัครสักคนเดียว โดย กกต.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะไม่ทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเพิ่มเติม

ซึ่งก็ส่งผลว่า หากการเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์ และเห็นได้ชัดว่าไม่อาจสมบูรณ์อย่างยุติธรรมได้ รัฐบาลจะรักษาการต่อไปได้หรือไม่

แม้เราทุกคนจะมีคำตอบในใจกันแน่นอนว่า รัฐบาลรักษาการก็ต้องหมดสภาพไป แม้การจัดการเลือกตั้งจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐบาลตามที่อ้างก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่แน่ๆ นั่นคือการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศเพื่อให้มีการเลือกตั้งให้ได้ เมื่อรัฐบาลไม่อาจดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยจนการเลือกตั้งไม่อาจดำเนินไปได้โดยสมบูรณ์ รัฐบาลจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของ กกต.ฝ่ายเดียว โดยรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบประการใดเลยได้หรือ?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อ กกต. และรวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช.รวมไปถึงศาลต่างๆ ด้วย

และอย่างที่ทุกคนได้เห็นว่าขณะนี้ รัฐบาลไม่อาจจะทำอะไรได้แล้วจริงๆ กรุงเทพมหานครเป็นเขตระเบิดตกไปทั่ว แม้กระทั่งในเขตศาลหรือโรงพยาบาลก็ไม่เว้น

รัฐบาลนี้อยู่ในสภาพผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถแล้ว เหลือเพียงต้องพึ่งบารมีศาลเท่านั้นที่จะมีคำสั่งชี้ขาดว่ารัฐบาลเช่นนี้ควรจะต้องสิ้นสภาพพ้นตำแหน่งไป

เพื่อจะได้หากลไกหรือวิธี หรือหา “ผู้ฟื้นฟู” ประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น